โดย ธิดา พิทักษ์สินสุข
ภาพจาก thaicenema.com |
เราเรียนรู้กันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กว่า การเล่นกีฬาทำให้เราเรียนรู้ที่จะมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย แต่ดูเหมือนว่าการแข่งขันกีฬาของผู้ใหญ่ในสายตาของเด็กๆ กลับเป็นเรื่องของการมุ่งเอาชนะ ยิ่งมีการพนันขันต่อเข้าไปร่วมด้วยยิ่งทำให้การมุ่งเอาชนะ ทั้งเข้มข้นทั้งดุเดือดแบบเอาเป็นเอาตาย คนดูไม่พอใจการแข่งขันขว้างปาขวดน้ำเข้าไปในสนาม ผู้แข่งขันชกกรรมการเมื่อผลการตัดสินไม่เป็นที่พอใจ กีฬากลับนำมาซึ่งความก้าวร้าว รุนแรง รับไม่ได้กับความพ่ายแพ้ ทั้งเป็นผู้ลงสนามเอง ทั้งเป็นผู้ชม
การมีน้ำใจนักกีฬานั้น เป็นเรื่องของอุปนิสัยของการรู้แพ้ รู้ชนะ ซึ่งเกิดการอบรม บ่ม นิสัย มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ให้รู้จักที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ ขณะเดียวกันก็ไม่ลิงโลดหลงระเริงไปกับชัยชนะ การเรียนรู้ที่จะอยู่ได้กับความพ่ายแพ้ และใช้ความพ่ายแพ้เป็นบทเรียนของการเรียนรู้ หากแพ้เป็นก็จะได้ผลลัพธ์ คือ ความอดทน อดกลั้น กล้าหาญที่จะเผชิญกับความพ่ายแพ้ ลุกขึ้นมาเพียรพยายามใหม่ การแพ้เป็นจึงเป็นเหมือนวัคซีนที่ค่อยๆ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับจิตใจ
คงเห็นด้วยนะคะว่าในชีวิตนั้น การแข่งขัน การแพ้ – ชนะ ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในสนามกีฬาเท่านั้น แต่มีชีวิตของเรานอกสนามกีฬา ที่ต้องเผชิญกับการสมหวังและผิดหวังในเกมของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การงาน และแม้แต่ในเรื่องของความรัก เราจะช่วยให้ลูกของเราแข็งแกร่งได้อย่างไรเพื่อพร้อมกับการรับมือการแข่งขันที่เกิดขึ้นทั้งนอกและในสนามการแข่งขัน
เรามาหยอดวัคซีน “แพ้ให้เป็น” ให้ลูกของเราตั้งแต่ยังเล็กกันดีกว่า
เล่นเกมกับลูก ก็ไม่จำเป็นต้องให้ลูกชนะไปเสียทุกที
สังเกตดูนะคะว่าเวลาเห็นพ่อลูกเล่นกันทีไร พ่อเป็นแพ้ลูกไปเสียทุกครั้ง ไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้นะคะ หัดให้ลูกแพ้บ้าง ให้ลูกยอมรับความเป็นจริงว่าการแข่งขันกันนั้นก็มีแพ้มีชนะ การเห็นลูกหัวเราะชอบใจกับชัยชนะ ทำให้พ่อใจอ่อนทุกครั้งที่จะต้องยอมเป็นฝ่ายแพ้ อย่างนี้เรียกได้ว่าไม่ได้หยอดวัคซีน “แพ้ให้เป็น” ให้กับลูกแล้วนะคะ ลองให้แพ้ดูบ้าง ครั้งแรกจะพาลพาโล ยอมรับไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรค่ะ พอลูกอารมณ์ดีก็ชวนมาเล่นกันใหม่ให้แพ้บ้างชนะบ้าง
อย่างสร้างนิสัยขี้หมั่นไส้ แต่หัดให้ชื่นชมคนอื่น
ลักษณะหนึ่งที่เป็นตัวช่วยที่ดีของความมีน้ำใจนักกีฬา คือ การสอนให้ลูกรู้จักชื่นชมผู้อื่นเพราะการชื่นชมคนอื่นนั้น มีฐานมาจากการยอมรับความสามารถหรือผลงานของผู้อื่น ที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนสู่สิ่งที่ดียิ่งขึ้นจากการมองเห็นความดีของผู้อื่น การชื่นชมจึงเป็นส่วนผสมที่สำคัญอย่างหนึ่งของความมีน้ำใจนักกีฬา สิ่งที่ทำแล้วได้ผลดีที่สุด คือ การเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่นั่นเองค่ะ นอกจากชื่นชมคนอื่นแล้ว ต้องลดอาการขี้หมั่นไส้คนลง เพราะนั่นคือ บ่อเกิดการไม่ยอมรับความสามารถและการแสดงออกของบุคคลอื่น คนขี้หมั่นไส้จะหาความสุขในชีวิตได้ยาก ส่วนคนที่ชื่นชมใครไม่เป็น ก็จะหามิตรได้ยากด้วยเช่นกัน
พ่อแม่ทุกคนนั้นย่อมจะมีความสุขเมื่อเห็นความสำเร็จของลูก แต่ต้องตั้งสติให้ดีนะคะ เพราะหากลูกเป็นเด็กที่มีความสามารถและได้ชัยชนะในสนามแข่ง ไม่ว่าจะแข่งเรียงความ หรือแข่งกีฬาก็ตาม พอได้ซักสองสามรางวัล คราวนี้คุณพ่อคุณแม่อาจพลัดหลงไปเป็นพ่อแม่นักล่ารางวัลโดยไม่รู้ตัว เพราะรางวัลที่ลูกได้รับ คือ ภาพสะท้อนว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่แสนประเสริฐของลูก ที่สนับสนุนทุ่มเทให้ลูกได้ประสบความสำเร็จ คราวนี้แหละค่ะ อาการแพ้ไม่เป็นก็จะเกิดกับคุณพ่อคุณแม่เอง อยากให้ลูกได้รางวัล ไม่อยากให้ลูกแพ้หรือผิดหวัง ความคาดหวังสูงต่อชัยชนะของคุณพ่อคุณแม่ไม่อาจรอดจากสายตาและความรู้สึกของลูกไปได้หรอกค่ะ แม้ปากจะบอกลูกว่า แพ้ก็ไม่เป็นไร ความคาดหวังนำไปสู่ความมุ่งมั่น แต่หากเกินพอดี จะกลายเป็นความรู้สึกกดดัน กลัวแพ้ยังไม่เท่าไหร่ กลัวพ่อแม่ผิดหวังรุนแรงกว่า
สิ่งที่เป็นอันตรายอีกอย่างหนึ่งของพ่อแม่นักล่ารางวัล (โดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง) คือ การพยายามทำอย่างเพื่อให้ลูกได้ชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นการตกรางวัลให้ครูผู้ฝึกซ้อมเพื่อให้ลูกได้รับโอกาสเป็นคนพิเศษในการรับคัดเลือก การช่วยลูกสร้างผลงานเพื่อให้ลูกได้ผลงานที่ดีกว่าเด็กอื่นในการส่งเข้าประกวด และวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ลูกเรียนรู้ว่า การได้มาซึ่งชัยชนะอาจทำได้วิธีที่ไม่ใสสะอาด
อย่าประชดประชัน หรือเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา
การประชดประชันหรือเปรียบเทียบลูกกับเด็กอื่นอยู่บ่อยๆ ด้วยความหวังอยากให้ลูกดีขึ้นกว่าเดิมโดยใช้คนอื่นเปรียบเทียบ ลูกอาจดีขึ้นก็ได้ แต่ความสำเร็จแบบนี้ก็จะได้สิ่งที่น่ากลัวแฝงควบคู่มาด้วย คือ ความรู้สึกที่ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่เสมอ จะแพ้คนอื่นไม่ได้ อย่างนี้ชีวิตหาความสุขยาก แต่หากเราให้ลูกแข่งขันกับตัวเอง พยายามทำให้ดีกว่าเดิม แล้วพ่อแม่คอยชื่นชม อย่างนี้ลูกจะมีความสุขไปพร้อมกับการพัฒนาตนเอง
“แพ้เป็น” สร้างไม่ได้ หากตามใจกันไปทุกเรื่อง
การตามใจลูกไปเสียทุกเรื่องนั้น เป็นอันตรายต่อการใช้ชีวิตของลูกอย่างยิ่งค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมอารมณ์ วินัย การแสดงออก ความก้าวร้าว รวมไปถึงเรื่องของการสอนลูกให้แพ้เป็นด้วย เพราะเด็กที่ได้รับการตามใจนั้นจะเคยชินกับความสมหวัง พอผิดหวัง หรือแพ้ ก็จะรู้สึกยอมรับความพ่ายแพ้ได้ยาก ถ้าเป็นเด็กๆ ก็จะแสดงออกด้วยการโวยวาย ต่อต้าน ร้องห่มร้องไห้ ถ้าไม่ฝึกฝนให้รู้จักแพ้เป็น ลูกก็จะโตเป็นคนที่ยอมรับความพ่ายแพ้ไม่ได้ ไม่เอาชนะในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ก็ซึมเศร้าเสียใจจนเกินกว่าเหตุ
ให้ลูกรู้ว่า “ความพ่ายแพ้ สอนให้เราเรียนรู้”
เมื่อลูกเผชิญกับความพ่ายแพ้ อารมณ์ความรู้สึกยามนั้น คือ การเผชิญกับความผิดหวัง สิ่งที่พ่อแม่ควรเป็นอันดับแรก ทำคือ การพูดคุย ปลอบโยนลูก ให้รู้ว่าลูกมีพ่อแม่เคียงข้างลูกเสมอไม่ว่าลูกจะชนะหรือแพ้ เมื่อลูกอารมณ์ดีและทำใจยอมรับความพ่ายแพ้แล้ว ให้เอาเรื่องนี้มาคุยกับลูกว่า ในครั้งนี้ ทำไมเราจึงพลาดไป เราควรปรับปรุงตรงไหนบ้าง แล้วให้ลูกพยายามใหม่ เราคงเคยเห็นภาพของพ่อแม่ที่ตำหนิดุด่าว่ากล่าวลูก หลังจากผลการตัดสินว่าลูกตกรอบ หรือไม่ได้ที่หนึ่งตามความมุ่งหวังของพ่อแม่ “เห็นไหมล่ะ บอกให้ซ้อมๆ ก็เอาแต่เล่น....” เสียใจแล้วยังโดนซ้ำเติมอีก น่าส่งสารจริงๆ
ในการแข่งขันทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมต่างๆ ของลูก หรือแม้แต่การแข่งขันที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเด็กๆ เช่น แข่งกันมาถึงโรงเรียนเป็นคนแรกของห้อง ต้องชวนลูกพูดคุยให้เห็นถึงมุมมองที่สำคัญ คือ การเห็นคุณค่าของความพยายาม ที่สำคัญกว่าชัยชนะ เพราะชัยชนะนั้นไม่ได้ขึ้นกับตัวลูกแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องของคู่แข่งขัน กติกา สภาพร่างกายและจิตใจของลูกในขณะนั้น ประสบการณ์ และอื่นๆ อีกมาก แต่ในทุกการแข่งขัน ทุกกิจกรรมที่ลูกทำด้วยความตั้งใจ คือ หนทางสู่ความสำเร็จในชีวิตลูกในอนาคต เพราะลูกได้ประสบการณ์ ได้เรียนรู้ ได้ฝึกความอดทน เพียรพยายาม ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญมากเป็นรางวัลของชีวิตที่ลูกได้รับอยู่แล้วในทุกการแข่งขัน ถ้าคราวนี้แพ้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องแพ้ตลอดไป
อย่างไรก็ตาม ลูกจะยอมรับความ “พ่ายแพ้” ได้หรือไม่นั้น สำคัญอยู่ที่วิธีคิด และท่าทีของพ่อแม่ ที่จะเป็นคนที่ให้กำลังใจให้ลูกหรือทำให้ลูกเสียกำลังใจ หรือกดดันให้เกิดความเครียด นั่นคือ สิ่งที่สะท้อนว่าพ่อแม่นั้นยอมรับความ “พ่ายแพ้” ได้หรือไม่ ถ้าพ่อแม่เห็นว่าการแพ้เป็นธรรมดาของชีวิต การแพ้ทำให้เราเพิ่มความพยายามเข้าไปอีก ความแพ้ทำให้เราเข้มแข็ง ลูกก็จะมีพ่อแม่เป็นแบบอย่าง เป็นบรรทัดฐานของชีวิตที่พร้อมจะเผชิญกับชีวิตในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น