โดย ธิดา พิทักษ์สินสุข
สำหรับเด็กๆ วัยอนุบาลและวัยประถมดูเหมือนว่าคุณพ่อคุณแม่จะจัดหาทีวีไว้เป็นเครื่องสร้างความบันเทิงให้ลูกน้อย ให้เป็นทั้งเพื่อนแก้เหงา แก้เบื่อ ให้เป็นเพื่อนที่พาไปท่องโลกกว้าง ให้เป็นพี่เลี้ยงยามไม่มีใครมาเล่น มาพูดคุยด้วย สุดท้ายในหลายบ้านทีวีกลับกลายร่างเป็นเจ้าตัวปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่แก้ไม่ตก
ลูกปักหลักหน้าจอทีวี มีผลอย่างไร
ลองเปรียบเทียบดูระหว่างเด็กสองคน บางวันน้องภูมิออกไปถีบจักรยาน บางวันก็ออกไปเตะบอลอยู่ที่สนาม บางวันก็ไปช่วยคุณพ่อล้างรถ แล้วค่อยมานั่งพักดูทีวีนิดหน่อย แล้วไปอาบน้ำ ส่วนน้องเมย์เอาเวลาเดียวกันนั่งดูทีวีช่อง 3 จบเปลี่ยนไปดูช่อง 5 แล้วก็เปลี่ยนไปดูช่อง9 สลับไปสลับมาจนพลบค่ำ จะเกิดอะไรกับเด็กสองคนนี้
ผลต่อสุขภาพ คงได้คำตอบตรงกันว่าสุขภาพของเด็กสองคนข้างต้น ใครจะดีกว่ากัน ขณะที่วัยของลูกกำลังเจริญเติบโต ต้องการการออกกำลังกาย พฤติกรรมของลูกกลายเป็นการนอนเอกเขนก ตาจับจ้องอยู่หน้าจอทีวี แถมบางบ้านยังมีขนมนมเนย น้ำหวานพร้อมขนมกรุบกรอบ เอื้อให้ลูกปักหลักอยู่แต่หน้าจอทีวี เรากำลังทำอะไรกับสุขภาพของลูก หากเป็นเช่นนี้นานๆ ไม่รีบปรับวิถีชีวิตใหม่ โรคอ้วน โรคอืดอาด และความอ่อนแอก็จะถามหา ขณะเดียวกันความกระตือรือร้นที่อยากทำโน่นทำนี่ก็จะลดลง คิดออกอย่างเดียวว่าจะเปิดทีวีดู เพราะเป็นความสุขที่หาได้ง่ายเพียงแค่หยิบรีโมทเท่านั้น
ผลต่อการคิดและแก้ปัญหา แต่ละวันของน้องภูมิที่มีกิจกรรมที่หลากหลาย คือประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้คิด ได้ทดลอง เกิดการค้นพบและฝึกฝนที่จะแก้ปัญหา รวมถึงได้สร้างสรรค์วิธีการเล่นใหม่ๆ น้องภูมิเกิดการเรียนรู้มากมายจากการลงมือทำด้วยตนเอง ขณะที่น้องเมย์ที่เอาแต่ดูทีวี การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะเทียบกันไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้จากวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี ทีวีก็จะเป็นตัวสกัดกั้นพัฒนาการด้านสติปัญญาของลูกอย่างน่าเสียดายทั้งๆที่เป็นช่วงที่สมองของลูกจะกำลังเติบโตและพัฒนา
ผลต่อการเอาแต่ใจและทักษะทางสังคม เมื่อลูกอยู่กับทีวีตามลำพัง ลูกควบคุมทุกอย่างได้หมด ไม่ชอบใจช่องที่ดูอยู่ก็เปลี่ยนไปดูอีกช่อง เบื่อไม่อยากดูแล้วก็กดปุ่มเปลียนช่องไปอีก ทีวีก็ไม่เคยขัดใจ ลูกก็เคยชินกับการทำตามใจตัวเอง ลูกที่อยู่กับทีวีตามลำพังเสมอๆ วันใดที่คุณพ่อคุณแม่มานั่งดูทีวีด้วย คุณพ่อคุณแม่ก็จะรู้ว่าตัวเองนั้นได้เสียสิทธิที่จะได้เลือกช่องตามต้องการ เพราะเมื่อเปลี่ยนช่องคราใดก็จะตามด้วยเสียงโวยวายของลูกที่ไม่ยอมถูกขัดใจ การอยู่กับทีวีกับการอยู่กับผู้คนก็จะต่างกัน เพราะถ้าอยู่กับผู้คนเด็กๆ ก็จะเรียนรู้ที่จะต้องปรับตัว รู้จักการพูดจาต่อรอง การประนีประนอม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความต้องการระหว่างกัน นั่นคือ ลูกจะเกิดการพัฒนาทักษะทางสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
ผลต่อการเรียนในชั้นเรียน เมื่อลูกอยู่หน้าจอทีวีภาพในจอทีวีมีการเคลื่อนที่ที่เร็วมาก มีการตัดต่อภาพหลายภาพให้ปรากฏในแต่ละนาที ลูกก็จะเคยชินกับความเร็ว เหมือนกับที่เราคุ้นเคยกับการทำงานกับคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง เมื่อต้องทำงานกับรุ่นที่มีความเร็วต่ำกว่าที่เคยใช้ เราจะรู้สึกหงุดหงิดทันที ลูกของเราก็เช่นกันเมื่อเคยชินกับความเร็ว ก็ไม่ค่อยจะอดทนที่นั่งทำกิจกรรมที่ต้องใช้เวลา เช่น การอ่านหนังสือ การทำงานที่ต้องใช้ความประนีต ไม่ค่อยจะอดทนรอ ไม่ค่อยมีสมาธิจดจ่อกับการเรียน
นอกจากนี้เด็กที่ติดทีวี มักจะทำให้มีผลต่อสิ่งที่คุณครูมอบหมายให้กลับมาทำที่บ้าน เช่น การทบทวนหรือค้นคว้า เรื่องที่เรียน หรือการทำการบ้าน เมื่อคุณแม่เตือนให้ทำก็จะผลัดไปเรื่อยๆ จนเริ่มค่ำก็ยังไม่ได้ทำการบ้าน เกิดศึกระหว่างแม่กับลูก เด็กที่ติดทีวีก็จะนอนดึกและเมื่อถูกปลุกไปโรงเรียนตอนเช้าก็จะเริ่มวันด้วยความหงุดหงิด งัวเงียไม่ยอมรับประทานอาหารเช้า พอมาโรงเรียนเรียนไปไม่นานก็จะทั้งหิว ทั้งง่วง ปนหงุดหงิด ไม่เป็นผลดีต่อการเรียนรู้ของลูกอย่างมาก
อาการของลูกที่ส่อแววว่าทีวีจะมีภัย
หากลูกของเรานั่งอยู่หน้าจอตอนเย็นนานกว่าการทำกิจกรรมอื่นๆ รวมกัน ลูกดูทีวีดึกทำให้นอนไม่พอมีอาการหงุดหงิดตอนตื่นนอนเช้า ลูกขาดความกระตือรือร้น อ้วนและไม่ชอบออกกำลังกาย ครอบครองทีวีเป็นของส่วนตนไม่ใช่ของส่วนรวม ไม่มีสมาธิในการเรียน อย่างนี้ต้องเริ่มจัดการกับการดูทีวีของลูกโดยด่วนแต่อย่างค่อยเป็นค่อยไป
ทำอย่างไรให้ทีวีไม่มีภัยแต่ให้คุณค่า
เลือกรายการที่ดี และอยู่ดูกับลูก รายการทีวีบางรายการให้ความรู้สู่โลกกว้างกับลูก บางรายการก็นำความบันเทิงใจมาสู่ลูก ชวนลูกวิเคราะห์ดูว่าเรื่องที่ดีนั้นให้ข้อคิดอะไรกับลูกบ้าง อะไรที่ควรทำตามอย่าง อะไรที่ไม่ควรทำ ให้รายการทีวีเป็นเรื่องที่นำมาให้ลูกได้เกิดการเรียนรู้ การปล่อยให้ลูกอยู่กับทีวีลำพังกับบางรายการ ย่อมเป็นผลเสียเพราะลูกยังแยกแยะไม่ออกว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ยังต้องการการชี้แนะจากผู้ใหญ่
กำหนดเวลาในการดูทีวี กำหนดเวลาในการดูทีวีให้แน่นอน พยายามลดเวลาในการดูทีวี ด้วยการชวนลูกทำกิจกรรมอื่นแทน เช่นการเล่นของเล่น การเล่นออกกำลังกาย การช่วยงานคุณพ่อคุณแม่
ดูทีวีให้ถูกที่ ถูกเวลา ไม่ควรให้ลูกทำการบ้าน ค้นคว้าหรือทบทวนเรื่องเรียน หน้าจอทีวี ไม่อย่างนั้นทำไม่เสร็จซักที จะพบว่าในรายที่คุณแม่ให้ลูกทำการบ้านให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเปิดทีวี จะประสบความสำเร็จดีกว่าให้ดูทีวีก่อนทำการบ้าน เพราะเหมือนกับว่าเมื่อลูกรับผิดชอบหน้าที่เรียบร้อย ก็จะได้ดูทีวีเป็นการให้รางวัล ควรจัดที่ทำการบ้านอ่านหนังสือที่ปราศจากทีวีรบกวนสมาธิ ไม่ควรให้ลูกดูทีวีไปทำการบ้านไป หรือดูทีวีไปรับประทานอาหารไป เพราะจะใช้เวลานานมากกว่าจะเสร็จ คุณแม่บางคนสร้างปัญหาให้กับตัวเองด้วยการเปิดทีวี เปิดวิดีโอให้ลูกดูการ์ตูนตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน คราวนี้ก็ต้องออกรบกันทุกวันที่จะให้ลูกยอมปิดทีวีแล้วไปโรงเรียน
เอสโอเอส ทำอย่างไรลูกติดทีวีไปแล้ว
ก่อนอื่นเลยต้องถามตัวเองก่อนว่าคุณพ่อคุณแม่มีความตั้งใจจริงหรือไม่ที่จะปรับพฤติกรรมการดูทีวีของลูก เพราะระยะเวลาของการปรับความเคยชินนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องกำกับดูแลด้วยความเอาใจใส่ ให้กำลังใจและชื่นชมลูกทันทีที่ลูกมีพฤติกรรมเป็นไปตามความคาดหวัง และต้องแสดงท่าทีชัดเจนเพื่อยืนยันให้ลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่มีความตั้งใจให้ลูกเกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องติดตามอย่างต่อเนื่องจนกว่าลูกจะเปลี่ยนจากกิจวัตรเดิมที่อยู่หน้าจอที่ดีให้ได้ ถ้ามั่นใจว่ามีความตั้งใจจริง ลูกก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้
· ให้ลูกมีส่วนร่วมกำหนดเวลาของการดูทีวี พูดคุยกับลูกถึงผลของการติดทีวีที่ให้ผลเสียกับลูก แล้วช่วยกันสร้างข้อตกลงว่าจะค่อยๆ ลดเวลาการดูทีวีอย่างไร เอาทีละขั้นให้ลูกพอจะทำได้ มีความเป็นไปได้ แล้วประสบความสำเร็จไปทีละขั้นตอน อย่าลืมชื่นชมเมื่อลูกทำได้ จะได้เป็นกำลังใจให้ทำดีต่อไปอย่างต่อเนื่อง
· ตกลงให้ลูกรู้ว่าทีวีนั้นเป็นของส่วนกลาง ไม่ใช่ของที่ลูกจะจับจองอยู่คนเดียวเพราะฉะนั้น บางเวลาก็เป็นรายการโปรดของคุณพ่อ บางรายการก็เป็นรายการโปรดของคุณแม่
· ควรพูดคุยกับลูกเพื่อที่นำทีวีออกไปจากห้องนอนของลูก ให้มาอยู่ที่ส่วนกลางของบ้าน หรือหาวิธีที่จะเอาทีวีไปซ่อม แล้วไม่ควรเอากลับเข้าห้องนอนลูกอีก
· ผู้ใหญ่ทุกคนในบ้านควรเห็นพ้องต้องกันและปฏิบัติกับลูกไปในทิศทางเดียวกัน
ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ประสบความสำเร็จในการปรับพฤติกรรมของลูกในเรื่องการดูทีวี และหากจัดการเรื่องทีวีได้ การฝึกวันัยเรื่องอื่นใดก็ไม่ใช่เรื่องยาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น