วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

ปรับตัวกับโรงเรียนใหม่ หรือเพื่อนใหม่

ภาพจาก almightydad.com


เมื่อลูกต้องไปเรียนโรงรียนใหม่ ไม่ว่าจะจากบ้านไปสู่โรงเรียนอนุบาล หรือจากโรงเรียนอนุบาลสู่โรงเรียนประถม ความวิตกกังวลก็จะแล่นเข้ามาสู่ใจของคุณพ่อคุณแม่จะมากจะน้อยก็แปรไปตามความสามารถในการปรับตัวของลูก ถ้าเราเลี้ยงดูลูกมาให้รู้จักแก้ปัญหา พึ่งตัวเองได้ มีเชื่อมั่นในตัวเอง ปัญหาก็จะน้อยลงไปมากจนถึงไม่รู้สึกกังวลใจ ถ้าลูกปรับตัวได้ดีย่อมหมายความว่าลูกก็ไปโรงเรียนใหม่อย่างมีความสุข มีเรื่องสนุกๆ เรื่องตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจมาเล่าให้ฟังตั้งแต่วันแรก ในทางตรงข้ามเราอาจพบว่าลูกดูหงุดหงิด โยเยไม่อยากไปโรงเรียน อยากอยู่บ้าน อยากกลับไปอยู่โรงเรียนเก่า อาลัยอาวรณ์กับเพื่อนเก่า ครูคนเก่าที่รักและคุ้นเคย บางรายก็เงียบเหงา เศร้าซึม ใครอย่าได้มาเซ้าซี้ถามเรื่องโรงเรียน เป็นอันต้องน้ำตาร่วง น้ำตาซึมไปเสียทุกคราวไป ทุกข์ของลูกกลายเป็นความกังวลใจที่ทวีคูณในใจพ่อแม่

สำหรับลูกที่จะขึ้นชั้นประถม บางทีคุณพ่อคุณแม่ก็วางใจไปหน่อย เพราะเห็นว่าเคยเข้าโรงเรียนมาแล้ว และก็รู้สึกว่าโตแล้ว ทำให้ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจลูกเหมือนเมื่อคราวเข้าอนุบาล เอาเข้าจริง โรงเรียนประถมสำหรับลูกก็ดูใหญ่โตเมื่อเทียบกับโรงเรียนอนุบาลเดิม แถมลูกเราที่เคยเป็นพี่อนุบาลรุ่นโตสุด ก็กลายเป็นน้องประถมรุ่นจิ๋วสุดของโรงเรียน คิดแค่นี้ก็น่าหวาดหวั่นอยู่ไม่ใช่น้อยสำหรับลูกที่ขี้วิตก เตรียมลูกให้พร้อมดีกว่าปล่อยให้เสียความรู้สึก เสียความมั่นใจตั้งแต่วันแรกๆ

อย่าให้ภาพในใจใหญ่โตกว่าความเป็นจริง
อย่าปล่อยให้ลูกจินตนการภาพของโรงเรียนใหม่ไปเอง ลูกอาจจะหวาดหวั่น เพราะไม่รู้ว่าต้องพบเจออะไรบ้าง ก็เลยวาดภาพไปต่างๆนานา ควรพาลูกไปดูโรงเรียน ถ้าไปพบเจอกับคุณครูได้ยิ่งดี อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องที่เสียเวลา ผ่านโรงเรียนทีไรก็ชี้ชวนให้ลูกเกิดความรู้สึกที่ดีต่อโรงเรียนใหม่ ชวนลูกพูดคุยถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโรงเรียน ให้ลูกรู้สึกคุ้นเคยและมีความ รู้สึกที่ดีกับโรงเรียนเพื่อเป็นกำลังใจไปต่อสู้กับวิตกที่อาจก่อตัวขึ้นในใจเป็นวูบๆ และที่สำคัญอย่าใช้โรงเรียนหรือครูเป็นเรื่องไว้ขู่ลูก หรือกำกับลูก “ถ้าไม่......เดี๋ยวจะให้ครูตี เดี๋ยวจะให้ครูจัดการ” อย่างนี้เด็กๆ คงรู้สึกไม่ดีกับคุณครูก่อนจะเจอะเจอหน้ากันเสียอีก

เรื่องเล่า เรื่องเก่ามาเล่าใหม่ เล่าทีไรก็น่าสนใจและได้ผลดี

เรื่องราวการผจญภัยและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ของคุณพ่อคุณแม่ยามเป็นเด็กตัวเล็กเท่าพวกเขาเป็นเรื่องที่ลูกชอบฟังเสมอ ลองเล่าถึงประสบการณ์ที่คุณพ่อคุณแม่เข้าโรงเรียนให้ลูกฟังแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง แม้ว่าตอนต้นเรื่องจะเป็นความกล้าหาญ กลัวหน่อยๆ หรือกลัวจนกลายเป็นอาละวาดไม่ไปโรงเรียน แต่สุดท้ายของเรื่องก็จะจบลงด้วยความสนุกสนานกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเสมอ ลูกจะตลกมากตอนเล่าถึงอาการวิกตกของคุณพ่อคุณแม่ แล้วก็แอบเชียร์อยู่ในใจ พอตอนสุดท้ายที่แฮปปี้เอนดิ้ง ประเด็นสำคัญคือ ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไรในตอนเริ่มต้น แต่ที่สุดแล้วก็โรงเรียนก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอย่างที่คิด

นอกจากนี้การเล่าหรือทบทวนถึงประสบการณ์การก้าวข้ามความกลัว ความวิตกกังวลที่ผ่านมาของลูก เมื่อลูกเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ๆ จะช่วยสร้างเสริมความรู้สึกเข้มแข็งในใจลูก เหมือนลูกเคยก้าวขึ้นบันไดขั้นที่หนึ่งมาได้ ขั้นต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยาก หรือเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้

รู้จักแก้ปัญหา พึ่งตัวเองได้ ไปโรงเรียนใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ยามใดที่เรารู้สึกว่าเราช่วยตัวเองไม่ได้ หรือช่วยตัวเองได้น้อย ความกลัว ความวิตกกังวลจะถามหาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม ลองนึกดูว่าลูกควรช่วยตัวเองในเรื่องใดบ้าง ลูกอนุบาลก็คงเป็นเรื่องของการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งตัว กินอาหาร เข้าห้องน้ำ พี่ประถมก็จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ผูกเชือกรองเท้าพละได้ จัดกระเป๋า เตรียมเครื่องเขียน ดูแลของใช้ จดการบ้านรวมถึงเอาสมุดการบ้านกลับมาด้วย

เมื่อรู้ว่าลูกจะต้องดูแลตัวเองในเรื่องใดบ้าง ก็ต้องฝึกฝนให้ลูกได้ดูแลตัวเองจากเรื่องง่ายไปก่อน ให้ลูกได้ประสบความสำเร็จไปทีละขั้นตอน ค่อยๆ ถอยความช่วยเหลือจนลูกทำได้ด้วยตนเอง การฝึกฝนมีสูตรที่ได้ผลเสมอคือ การชื่นชมเมื่อลูกทำได้สำเร็จ การให้กำลังใจกับความพยายามของลูก และให้ลูกได้ช่วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ปล่อยให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเอง เท่ากับทำให้ร้ายลูก ให้ลูกพึ่งตัวเองไม่ได้ในสิ่งที่ควรทำได้ตามวัย ลูกจะหงุดหงิด จะอ่อนแอ ยามที่เขาต้องอยู่ในที่โรงเรียนซึ่งไม่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย การพึ่งตัวเองได้ดี การทำอะไรได้ด้วยตนเองนั้น ไม่ได้มีผลเพียงแค่เขาทำอะไรได้เอง หรือเป็นการลดภาระคุณพ่อคุณแม่ แต่หมายถึงเขาได้บ่มเพาะความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองวันละเล็กวันละน้อย ไปทุกวัน และสิ่งนี้จะนำไปสู่ความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ เป็นคนที่ไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรค และเป็นตัวของตัวเอง สิ่งนี้จะทำให้ลูกไปโรงเรียนได้อย่างมั่นใจ

ในชีวิตประจำวันของลูกนั้น ลูกต้องเผชิญกับปัญหา เป็นเสมือนโจทย์ให้เขาได้ซ้อมแก้ปัญหา เกิดความรู้สึกดีกับตัวเองที่ได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาจนสำเร็จได้ด้วยตัวเอง นอกจากจะได้ความเชื่อมั่นในตนเองแล้ว ยังเกิดทักษะในการคิด ทักษะในการลงมือปฏิบัติ ยิ่งทำยิ่งชำนาญ อย่าด่วนเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกในสิ่งที่ลูกสามารถจะทำได้ถ้าเขาได้ทดลองหรือใช้ความเพียรพยายามอีกสักระยะหนึ่ง ความปรารถนาดีของพ่อแม่อาจกลายเป็นการสกัดกั้นความงอกงามของลูกโดยไม่รู้ตัว ลูกที่รู้จักพึ่งตัวเอง รู้จักแก้ปัญหาได้ดีก็จะก้าวไปโรงเรียนใหม่ได้อย่างสบายอกสบายใจ

เลี้ยงลูกให้อยู่ง่าย กินง่าย ไม่เรื่องมาก
การเลี้ยงดูลูกด้วยความรักความเอาใจใส่เป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าเผลอเอาอกเอาใจลูกจนลูกกลายเป็นคนเรื่องมากไปทีละน้อย เมื่อใดก็ตามที่ลูกเกิดอาการ “ต้อง”ถี่ๆ ต้องหยุดคิดแล้วว่าลูกจะ “เรื่องมาก” เกินไปหรือเปล่า ต้องกินไข่ดาว ไม่เอาไข่เจียว ต้องเป็นไข่ดาวสุกพอดี กรอบไปหน่อยก็ไม่ยอมกิน ต้องเป็นไข่ดาวฝีมือคุณยายเท่านั้น ของคนอื่นไม่กิน ถ้าตามใจกันอย่างนี้ ลูกก็เอาแต่ใจ อยู่ไหนก็อยู่ยากอย่าว่าแต่อยู่โรงเรียนเลย ลูกจะขี้หงุดหงิด อะไรก็ไม่ค่อยจะพอใจง่ายๆ ไปโรงเรียนก็ดูจะมีแต่เรื่องไม่ถูกอกถูกใจ อาการอย่างนี้ลูกจะปรับตัวกับโรงเรียนได้ยากหรือปรับตัวได้ช้ากว่าเพื่อนๆ เพราะลูกเคยชินกันการได้รับความพอใจตามที่ตัวเองต้องการอยู่ตลอดเวลา ขาดโอกาสที่จะได้พัฒนาความสามารถในการปรับตัวกับสิ่งต่างๆ เพราะคุณพ่อคุณแม่ที่แสนดีของลูกพยายามจัด พยายามปรับสิ่งต่างๆ รอบตัวเพื่อให้ลูกสบายตัว สบายใจ

อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันเปิดเทอม เด็กแต่ละคนมีความสามารถในการปรับตัวที่ไม่เท่ากัน ขึ้นกับการฝึกฝน การอบรมเลี้ยงดู ขึ้นกับประสบการณ์ที่ผ่านมา การเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น การดุว่าข่มขู่ การแสดงออกถึงความวิตกกังวลจนเกินไปของพ่อแม่ กลับจะทำให้ลูกรู้สึกกดดัน รู้สึกเครียดมากขึ้น เด็กๆ ต้องการเวลา ต้องการกำลังใจ และต้องการคำชื่นชมกับความพยายามและก้าวเล็กๆ ที่ดีขึ้นในแต่ละวัน

เขียนบทความโดย อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข

ใจหายเมื่อรู้ว่าลูกไปหยิบของคนอื่น



ภาพจากdektube.com
                                                                                   
 วันหนึ่งเมื่อเปิดกล่องดินสอของลูกพบว่ามีดินสอกดที่แปลกตาถึง ๓ แท่ง สอบถามได้ความว่า “เพื่อนให้ครับ” สามวันต่อมายางลบ ๔ ก้อน อยู่ในกระเป๋าลูก “เพื่อนเค้าฝากไว้ครับ” ยังไม่ทันตั้งหลักดี คุณครูของลูกเขียนจดหมายน้อยมาบอกว่า ขอพบผู้ปกครองเรื่องลูกไปหยิบของของคนอื่น

ถ้าสถานการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นกับคุณพ่อคุณแม่คงหนักใจไม่น้อยทีเดียวนะคะ เป็นไปได้ค่ะที่วันหนึ่งลูกที่แสนดีของเราอาจไปหยิบของของคนอื่นมาเป็นสมบัติของตัวเอง พฤติกรรมอย่างนี้เฉียดคำว่า “ขโมย” ถ้าเกิดซ้ำๆ ก็ไม่อาจเลี่ยงคำว่า “ขโมย” ออกไปจากใจได้ นึกแล้วใจหายน่าดูนะคะ

มีบ้านหนึ่งคุณพ่อคุณแม่เคยไม่เคยสังเกตแล้วพบพฤติกรรมนี้มาก่อน อยู่มาวันหนึ่งคุณครูแจ้งว่าลูกไปหยิบของของคนอื่นบ่อยครั้ง คุณพ่อฉุนเฉียวมาก หาว่าคุณครูใส่ความลูก “ผมเลี้ยงลูกมาอย่างดี ไม่เคยสอนให้ไปขโมยของคนอื่น อยากได้อะไรก็ให้ ไม่มีความจำเป็นต้องขโมย

เมื่อสอบถามแบบสอบสวนลูก ลูกปฏิเสธว่าไม่ได้เอาของเพื่อนมา เพราะรู้ดีว่าถ้าบอกความจริงไป คราวนี้เจ็บตัวแน่ ก็แก้ตัวพอให้พ้นตัวดีกว่า คราวนี้ไม่ได้ทำผิดแค่หยิบของคนอื่นเสียแล้วค่ะ ยังตามมาด้วยการพูดเท็จ

เรามาดูกันดีกว่านะคะว่า เหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมหยิบของของคนอื่นในเด็กนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร

เหตุที่ ๑ ขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิของการเป็นเจ้าของ

เหตุนี้มักเกิดขึ้นได้ในเด็กวัยอนุบาล วัยนี้เรายังไม่เรียกว่าเขาเป็นเด็กขี้ขโมย เพราะวัยนี้เด็กยังพัฒนาเรื่องของความคิดและจริยธรรมไม่เต็มที่ หลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องของความเป็นเจ้าของ อยากได้อะไรมาเป็นของตนก็หยิบมาเล่น มาเก็บไว้ ยิ่งถ้าลูกเป็นลูกคนเดียว ของเล่นทุกอย่างในบ้านเป็นของตน ดังนั้น ของเล่นที่คุณครูจัดไว้ให้ที่โรงเรียนก็อาจเข้าใจว่าเขาสามารถเป็นเจ้าของได้เช่นเดียวกัน ชอบใจอะไรก็หยิบกลับบ้านไป เรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยมากกับนักเรียนใหม่ในระยะเปิดเทอม

สำหรับลูกที่อายุเจ็ดขวบขึ้นไปเขาจะเข้าใจได้ดีขึ้นในเรื่องสิทธิการเป็นเจ้าของ แต่หากเกิดปัญหาขึ้น อาจเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ได้จริงจัง หรือทำให้ลูกเรียนรู้อย่างชัดเจนในเรื่องสิทธิของตนเองและสิทธิของผู้อื่น ลูกไม่มีสิทธิที่จะไปหยิบของของคนอื่นมาเป็นของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต และคนอื่นก็ไม่มีสิทธิมาหยิบของของลูกเช่นกัน ฝึกอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอ ลูกก็จะรู้จักสิทธิของตนและของคนอื่น และมีความหักห้ามใจแม้อยากได้สิ่งของนั้นก็ตามเพราะเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เป็นสิ่งที่ผิด

การที่ลูกขาดความเข้าใจในเรื่องสิทธิของการเป็นเจ้าของ อาจเกิดขึ้นได้จากอีกเหตุหนึ่ง คือ ความไม่เป็นระเบียบในครอบครัว ใครจะหยิบของใครมาใช้ก็ไม่ต้องบอกกล่าวหรือขออนุญาตกัน เช่น รองเท้าใครอยู่ใกล้ ก็หยิบมาใส่ ไม่มีตำแหน่งที่ชัดเจนบนโต๊ะอาหารว่าเป็นที่นั่งของใคร อยากนั่งตรงไหน ที่ของใครก็ได้ ไม่ว่ากัน ทำให้เด็กเกิดความย่อหย่อนในเรื่องของการเคารพสิทธิของผู้อื่น แม้ว่าเราจะพูดคุยกับลูกแล้ว ก็อาจจะมีบ้างที่เด็กเกิดความอยากได้ของของคนอื่นเหลือเกิน จึงหยิบของนั้นมาเป็นของตน พ่อแม่ต้องแนะนำให้ลูกเอาไปคืน และดูแลให้ลูกได้คืนจริงๆ ให้ลูกเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าของเล่นนั้นพ่อแม่ของเด็กอื่นอาจจะบอกว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องเอามาคืน ก็อย่าถือว่าเป็นเรื่อง “ไม่เป็นไร” เพราะจะทำให้ลูกไม่ให้ความสำคัญของการหยิบของของคนอื่นมาเป็นของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือยกให้ด้วยความเต็มใจ

เหตุที่ ๒ คุ้นเคยกับการทำตามใจตนเอง ทำให้ไม่นึกถึงใจคนอื่น

เหตุนี้เกิดขึ้นจากเด็กที่ถูกตามใจจนเคยตัว อยากได้อะไรต้องได้ และต้องได้ทันที ทำให้ของเล่นหรืออะไรก็ตามที่อยากได้ก็จะคว้ามาเป็นของตน หรือไม่ก็รอคอยไม่เป็น เด็กเหล่านี้จึงหยิบฉวยของของคนอื่นโดยไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ไม่สนใจว่าใครเป็นเจ้าของ แย่งขิงที่จะเล่นของเล่นโดยไม่สนใจว่าใครเล่นอยู่หรือใครคอยอยู่ก่อน เด็กที่ถูกตามใจจะทำให้เขาเอาตัวเองเป็นใหญ่ พ่อแม่หลายคนส่งเสริมลูกให้เอาแต่ใจตัวเองโดยไม่รู้ตัว เช่น เมื่อเด็กอื่นเล่นอยู่ก่อน ลูกร้องอยากเล่นก็หาวิธีเรียกร้องแทนลูก เช่น “น้องอยากเล่นหนูโตกว่าให้น้องเล่นก่อนนะ” หรือ ทำไม่รู้ไม่ชี้พาลูกแทรกเข้าไปเล่นโดยไม่สนใจคิวที่รออยู่ สิ่งที่พ่อแม่ทำกำลังบอกลูกว่า ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องเอาให้ได้ตามอยาก โดยไม่ต้องสนใจความรู้สึกใคร ไม่ต้องสนใจความถูกต้อง อย่างนี้มีแนวโน้มสูงที่ลูกจะหยิบฉวยของคนอื่นมา ด้วยเหตุผลที่ตอบเต็มปากเต็มคำอย่างไม่ค่อยจะรู้สึกผิดว่า“ก็หนูอยากได้นี่” “ก็ตุ๊กตาแบบนี้หนูยังไม่มีนี่นา” เพราะหนูเคยชินกับการยึดตัวเองเป็นใหญ่

การแก้ปัญหาจากเหตุนี้ก็คือ การสอนให้ลูกรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ให้เหตุผลประกอบอย่างสั้นๆ ตรงไปตรงมาว่าทำไมจึงทำได้ และทำไม่ได้ เช่น ลูกหยิบของของเพื่อนมาไม่ได้ เพราะไม่ใช่ของของลูก เอาของเพื่อนมา เพื่อนจะเสียใจ และไม่ใช่ว่าเราผู้ใหญ่จะต้องเป็นคนบอกเหตุผลทุกคราวไป ควรฝึกให้ลูกใช้ความคิดที่จะตอบคำถามได้ด้วยตนเองว่าเขาทำได้หรือไม่ได้ ด้วยเหตุผลไป การให้เหตุผลของลูกนั้นต้องเป็นเหตุผลในเชิงจริยธรรมด้วย คือเป็นเหตุผลที่คำถึงถึงประโยชน์และโทษต่อส่วนรวม หรือต่อผู้อื่นด้วย จะเป็นเหตุผลที่เป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องคิดถึงใจเขาใจเราด้วย การฝึกให้ลูกได้คิดได้ไตร่ตรอง จะช่วยให้ลูกได้เครื่องมือในการคิดที่ดีและคิดอย่างถูกต้องตามธรรมนองครองธรรมติดตัวลูกไว้ใช้ในการคัดสินใจและแก้ปัญหา

เหตุที่ ๓ ต้องการแสดงอำนาจเหนือคนอื่น

การหยิบของของผู้อื่น บางครั้งก็ไม่ได้ทำเพื่ออยากได้ของนั้นอย่างจริงจังก็มีค่ะ แต่สิ่งที่แสดงออกนั้นอาจเพื่อต้องการแสดงว่าตนมีอำนาจเหนือผู้อื่น ต้องการข่มคนอื่น การเอาของของผู้อื่นมาเป็นของตนอย่างนี้จึงไม่ได้ได้มาด้วยวิธีการขโมยแต่ได้มาด้วยการข่มขู่ บางครั้งแค่ทำให้น้องที่เล็กกว่าหรือเพื่อนที่อ่อนแอกว่าร้องไห้ ก็พอใจแล้ว ไม่ได้สนใจกับของที่ไปยึดมาสักเท่าใด ทิ้งขว้างไปก็มี หรือไม่ก็เอาของนั้นมาเยาะเย้ยว่าฉันเอาของที่นายรักมาได้ พฤติกรรมแบบนี้ต้องรีบแก้ไขกันแต่เนิ่นๆ นะคะ ไม่อย่างนั้นจะค่อยๆ สะสมกลายเป็นนิสัยที่เป็นอันธพาล คอยกลั่นแกล้งผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่ก็เป็นคนที่ช่วงชิงของรักของคนอื่น จากสิ่งของต่อไปอาจจะเป็นการช่วงชิงคนรักของคนอื่นก็อาจเป็นได้ในอนาคต

แนวทางการแก้ปัญหานี้ต้องกลับไปที่สาเหตุว่าทำไมลูกจึงต้องการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ เป็นไปได้หรือไม่ที่ลูกต้องการการยอมรับ เขารู้หรือไม่ว่าตนเองมีความสามารถอะไร ทำอะไรที่ดีได้บ้าง พ่อแม่ครูอาจารย์เห็นความดีของเขาหรือไม่ ถ้าเขามีความมั่นใจในตนเองเขาจะไม่เลือกวิธีที่หาปมเด่น หรือต้องการการยอมรับจากเพื่อนด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง การแก้ปัญหานี้จะต้องเริ่มที่เราต้องหาความดีเขาให้พบและชื่นชมเขาอยู่เสมอ และตามด้วยการให้ลูกได้วิเคราะห์สิ่งที่ตัวเองทำ และคิดว่าเขาควรปรับปรุงตนเองอย่างไร ให้กำลังใจลูกขณะที่เขาพยายามปรับปรุงตัวเอง และอย่าลืมชื่นชมเมื่อเขาทำได้สำเร็จ

อย่าลืมนะคะว่าสิ่งที่สำคัญ ต้องเชื่อว่า ลูกต้องการเป็นคนดีเสมอ และลูกพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น เขาทำได้หากได้รับการเอาใจใส่จากพ่อแม่ ดังนั้น เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ต้องใจเย็นที่จะพูดคุยกับลูก เข้าให้ถึงปัญหา และพยายามรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกให้เหนียวแน่น เพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกกล้าที่รับผิดและเปลี่ยนแปลงตัวเอง หากคุณใช้วิธีรุนแรงที่เกิดจากความโกรธผสมกับความผิดหวังในตัวลูก จะก่อปัญหาให้ใหญ่ขึ้น เพราะลูกจะหลบเลี่ยงที่จะพูดความจริง



เขียนบทความโดย อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

เด็กขี้ฟ้อง


ภาพจาก ministry-to-children.com
 โดย อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข

 คุณอยากจะเป็นที่รักของใครๆ
เป็นคนคิดบวก  เป็นคนมองโลกในแง่ดีไหมคะ
ต้องหยุดบ่นค่ะ

ไม่มีใครชอบคนขี้บ่นหรอกค่ะ คนขี้บ่นจะหาข้อตำหนิ ข้อติเตียน ข้อร้องเรียน ได้ในทุกๆ เรื่อง ทุกๆ เวลา เวลาเราเจอคนประเภทนี้เราก็คงจะพยายามหลบ พยายามหลีก และเลี่ยงไปให้เร็วที่สุด นิสัยขี้บ่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนนะคะ มันมีพัฒนาการและใช้เวลา จริงๆแล้วมันก็เติบโตมาพร้อมกับตัวของคนเรานั่นเอง ตอนเด็กๆ ก็จะออกอาการของคนขี้ฟ้องมากหน่อย โตๆ มาจากคนขี้ฟ้องก็จะพัฒนามาเป็นคนขี้บ่น ไม่พอใจไปซะทุกเรื่อง เรามาช่วยกันหยุดพัฒนาการส่วนนี้กันดีกว่านะคะ

พ่อ แม่ รังแกฉัน
          หลายคนคงคุ้นๆกับประโยคสั้นๆนี้นะคะ “พ่อ แม่ รังแกฉัน” สั้นๆ ง่ายๆ แต่ถ้าเกิดขึ้นกับเราไม่ว่าจะในฐานะ ประธานหรือกรรม ของประโยค ก็ดูจะเป็นเรื่องน่าเศร้าทั้งสิ้น เพราะสิ่งนี้มักเกิดจากความปรารถนาดี แต่อาจจะไม่ถูกทางหรือเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในเรื่องของการอบรมเลี้ยงดู แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ถูกบ่มเพาะ ถูกปลูกฝัง มาในช่วงระยะเวลาหนึ่งของชีวิตจนกลายเป็นลักษณะเฉพาะหรือกลายมาเป็นนิสัย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวนะคะ เพราะบางครั้งวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นการบ่มเพาะ ปลูกฝัง มุมมองในแง่ลบและสร้างทัศนคติผิดๆในเรื่องการร้องเรียน ตำหนิ และกล่าวโทษ ให้แก่ลูกโดยไม่ตั้งใจ
            พ่อแม่ทุกคนคงอยากให้ลูกๆ กล้าเล่า กล้าบอก กล้าแบ่งปัน ในทุกๆ เรื่อง ซึ่งถ้าครอบครัวไหนสามารถสร้างบรรยากาศเช่นนี้ในครอบครัวได้ ก็จะเป็นครอบครัวที่มีความสุขแน่นอน แต่หลายๆ ครั้งที่พบว่าพ่อแม่พยายามที่จะทำให้ลูกเล่า จนไม่ได้แยกแยะว่าสิ่งที่ลูกพูด ลูกบอก เป็นการเล่า เป็นการฟ้อง หรือเป็นการบ่น แค่ให้ลูกยอมเล่า ยอมบอกก็พอใจแล้ว เลยกลายเป็นการสนับสนุนให้ลูกเป็นคนขี้ฟ้องขี้บ่นไปโดยไม่รู้ตัว การที่เราจะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจที่จะเล่า จะบอก และยอมรับฟังคำแนะนำของเรานั้น พ่อแม่จะต้องให้เวลากับลูกอย่างสม่ำเสมอ เป็นผู้รับฟังที่ดี ให้เกียรติกับการคิดและการตัดสินใจของลูก หากลูกพูดแกมบ่นถึงปัญหาที่พบ ให้รับฟังก่อน แล้วจึงชวนให้ลูกคิดว่าสิ่งที่ลูกพูดถึงใช่ปัญหาจริงๆหรือไม่ และจะมีวิธีการแก้ปัญหานั้นอย่างไร พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่บ่น เพราะลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมนี้มาจากพ่อแม่ และ ดังนั้นถ้าลูกเป็นคนขี้ฟ้อง ขี้บ่น เราต้องรีบหันกลับมามองตัวเองก่อนเลยนะคะ ว่าเลียนแบบมาจากเราหรือไม่


แพะ หรือ เหยื่อ 
          
การเป็นคนขี้บ่น ขี้ฟ้อง เป็นอาการที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของคนที่มีทัศนคติทางด้านลบ คนพวกนี้จะเคยชินกับการจับจ้องหาความผิด หาที่ติ ถูกใจอะไรยาก และที่สำคัญมักจะกล่าวโทษผู้อื่นมากกว่าโทษตนเอง หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

ก็จะมีคำอธิบาย มีข้อแก้ตัวอยู่เสมอๆ

ถ้าพ่อแม่เริ่มรู้สึกว่าลูกมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องพฤติกรรมหรือเรื่องการเรียนรู้ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือรู้สึกผิดและโทษตัวเอง ความกลัวและความกังวลในเรื่องของลูกจะนำไปสู่การแสดงออกทางด้านลบ และหนึ่งในนั้นก็คือ การหาแพะ จะพบได้บ่อยๆนะคะหากเด็กมีปัญหาเรื่องพฤติกรรม พ่อแม่ก็จะโทษคุณครูก่อนเลย ในขณะที่ครูเองก็จะโทษการเลี้ยงดูของพ่อแม่ และในที่สุดเด็กเองก็จะโทษว่าที่เขาเป็นอย่างนี้ก็เพราะพ่อแม่ และครูนั่นแหละ

ปัญหาหลักของคนที่ชอบหาคำอธิบายและหาข้อแก้ตัว คือเขาจะไม่มีโอกาสได้แก้ปัญหา เพราะไม่ได้เห็นและไม่ยอมรับปัญหาที่แท้จริง การหาข้อแก้ตัวหรือกล่าวโทษไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เขาเชื่อว่าความผิดพลาดต่างๆ หรือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นเกิดเพราะเขาถูกกระทำ หรือเป็นเหยื่อของความผิดพลาดนั้นๆ เช่นลูกอาจจะมีอาการของสมาธิสั้นเล็กน้อย ดังนั้นหากลูกทำอะไรที่ไม่สมควรก็เป็นเพราะอาการของสมาธิสั้น ไม่ใช่ตัวลูก เมื่อเชื่อว่าลูกเป็นเหยื่อ ความผิดก็ไม่ใช่ของลูก แถมกฎระเบียบบางอย่างยังต้องขอยกเว้น แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมนะคะว่าอย่างไรเสียลูกก็ต้องอยู่ในสังคม กฎระเบียบและสิ่งต่างๆเหล่านี้สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่นๆก็ตาม

ความอดทน และการรู้คุณค่า

ลูกจะไม่เป็นคนขี้ฟ้องหรือคนขี้บ่น จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญสองอย่าง คือความอดทน และการรู้คุณค่า สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องสอนและบ่มเพาะให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด สอนโดยการปฏิบัติเป็นแบบอย่างในทุกๆวันของการดำเนินชีวิต จนเป็นวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของครอบครัว สองสิ่งนี้ไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ แต่จะเกิดจากการซึมซับและเรียนรู้

ความอดทนอาจจะไม่ใช่คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับเด็กเล็กๆ แต่ความอดทนจะเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวไปและเป็นปัจจัยของความสำเร็จเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความเข้าใจ การตัดสินใจ และการยอมรับเป็นคุณสมบัติร่วมที่มักจะมีผลต่อความอดทนอย่างที่ไม่สามารถจะแยกขาดจากกันได้ ลูกควรได้รับโอกาสที่จะฝึกความอดทนโดยเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ก่อน เช่น ตอนไปซุปเปอร์มาเก็ต คุณพ่อคุณแม่อาจจะตกลงกันก่อนว่าวันนี้จะอนุญาตให้ลูกเลือกซื้อของเองได้กี่อย่าง อยู่ในประเภทไหน แล้วให้ลูกตัดสินใจเอง หลังจากนั้นลูกจะต้องรู้จักเข้าแถวรอชำระเงินก่อนที่จะได้รับประทานขนมอร่อยๆ ที่หนูเลือกเอง ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ ลูกก็จะเป็นคนที่มีความอดทน มีเหตุมีผล และรู้จักเคารพกฏกติกา

การรู้คุณค่า หมายถึงการเห็นและรู้จักสิ่งนั้นๆ จริงๆ เห็นความพิเศษ ความมีเอกลักษณ์ หรือความมหัศจรรย์ของสิ่งนั้น ลูกสามารถเรียนรู้เรื่องการรู้คุณค่าโดยเริ่มต้นง่ายๆจากการพาเขาไปชื่นชมความงดงามของธรรมชาติรอบๆตัว พาไปดูดอกไม้ พูดถึงสีสรรที่สวยงาม กลิ่นที่หอม และชื่นชมดอกไม้เหล่านั้นโดยไม่ต้องเด็ดออกมาจากต้น หรืออาจจะชวนกันปลูกต้นไม้กระถางเล็กๆ ช่วยกันดูแล รดน้ำ และคอยชื่นชมกับดอกผลที่ออกมา การที่ลูกได้รู้จัก ได้ชื่นชม ได้แสดงความเอาใจใส่ ได้รู้สึกขอบคุณกับสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นและสิ่งงดงามที่ได้พบเจอ เป็นการปลูกฝังการรู้จักคุณค่าของสิ่งต่างๆอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด การแสดงความรักโดยการกอด หอมแก้ม การพูดชมเชย ก็เป็นการแสดงให้ลูกรู้ว่าเขามีคุณค่าต่อคุณพ่อคุณแม่มากเพียงไร


อย่าลืมนะคะ ไม่มีวิธีการสอนใดๆที่จะมีอิทธิพลได้เท่ากับการสอนโดยการกระทำเป็นแบบอย่าง

คอมพิวเตอร์เกม...ภัยคุกคามในบ้าน

 โดย อ.ธิดาพิทักษ์สินสุข
            
           แม้ว่าจะมีบทสนทนาจำนวนมาก  และบทความที่พูดกันถึงเรื่องอันตรายยุคใหม่ของเด็กๆ คือ โรคติดเกมคอมพิวเตอร์ แต่ก็ดูเหมือนว่าหลายต่อหลายบ้านก็ยังคงปล่อยให้โรคนี้ก่อตัวขึ้นในบ้าน  และในที่สุดก็จะลุกลามจนยากจะแก้ไขได้

                ทำไมเรื่องนี้ยังคงคุกคามเด็กๆ อยู่ในบ้าน  เพราะหลายๆ บ้านยังไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาในอนาคต  หลายบ้านเห็นว่าลูกยังเล็กอยากให้เป็นเวลาแห่งความสุข  หลายบ้านเห็นว่าเป็นแนวทางให้ลูกคุ้นเคยกับเทคโนโลยี  และส่วนหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะเป็นส่วนใหญ่ที่ใช้เกมคอมพิวเตอร์เป็นเพื่อนเล่นของลูกยามที่พ่อแม่ต้องการพักผ่อนหรือจัดการกับงานในบ้าน 

ก็คงจะไม่เป็นไรหรอกนะคะ  ถ้าคุณพ่อคุณแม่จัดการเรื่องเหล่านี้ได้

  • ลูกปิดคอมพิวเตอร์ เลิกเล่นเกมได้  เมื่อถึงเวลาที่ตกลงกันไว้
  • ลูกรับผิดชอบการทำการบ้าน หรืองานที่ได้รับมอบหมายจากคุณครูเสร็จเรียบร้อยเสมอ
  • ลูกมีความสุขที่นั่งโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมกับครอบครัว ชอบทำกิจกรรมกับสมาชิกในครอบครัวมากกว่าการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์
  • ลูกหาความสุขกับกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ใช้เวลากับการอ่านหนังสือ เล่นของเล่น ทำงานประดิษฐ์ ขี่จักรยาน ฯลฯ
รู้ตัวอีกทีก็ลูกก็ติดเกมงอมแงม

                เมื่อซื้อเกมหรือโหลดเกมมาให้ลูกเล่น  พ่อแม่ก็อดสุขใจไม่ได้ที่เห็นลูกมีความสุข สนุกกับของเล่นชิ้นใหม่ที่พ่อแม่หยิบยื่นให้  ไปห้างทีไรก็ต้องมีเกมใหม่ๆ มาให้ลูกเล่น  รู้ตัวอีกทีก็พบว่า เวลาของลูกหลังเลิกเรียนหมดไปกับกับการเล่นเกม  จะเอาตัวลูกออกมาจากหน้าจอก็ยากขึ้นทุกที  การออกไปเดินเล่นด้วยกัน  ชวนกันเล่านิทานก็ห่างหายไป จนแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะกิจกรรมอื่นก็ไม่เร้าใจเท่ากับเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการเล่นที่ท้าทาย  มีการแข่งขันและ  ทำแต้มให้สูงขึ้นเรื่อยๆ  ทำให้ลูกจดจ่อที่จะเอาชนะ จะทำแต้มให้มากยิ่งขึ้น ในที่สุดลูกก็จะแสดงอาการติดเกมมาให้เห็น ดังนี้ค่ะ

  • ลูกใช้เวลาในการเล่นเกมมากกว่า  1 ชั่วโมงในวันปกติ และมากกว่า 3 ชั่วโมงในวันหยุด
  • ลูกจดจ่อ คอยแต่จะเล่นเกม  โมโหหงุดหงิดเมื่อถูกยุติการเล่นเกม
  • ลูกก้าวร้าวขึ้น  และมีคำเตือนมาจากคุณครูเรื่องทำร้ายเพื่อนและใช้คำรุนแรง
  • ลูกชอบเอาชนะ  แพ้ไม่เป็น หงุดหงิดง่าย
  • ลูกมีการบ้านคั่งค้าง  การเรียนตกต่ำ ขาดสมาธิในการทำงาน เหม่อลอย         
  • ลูกหลีกเลี่ยงที่จะกิจกรรมกับครอบครัว  แต่จะหมกมุ่นอยู่กับเกมคอมพิวเตอร์   มีความสุขอยู่ได้คนเดียวนานๆ กับเกม  โดยขาดการใส่ใจกับผู้อื่น
ลองสังเกตลูกดูนะคะ ลูกออกอาการติดเกมบ้างหรือยัง 

ปัญหาการติดเกมของลูกที่ลุกลามนั้น มักเกิดจากการที่เราผู้ใหญ่
ไม่ได้จริงจังกับการฝึกวินัยในเรื่องเวลากับลูก 

                 มีครอบครัวหนึ่งเป็นครอบครัวที่พ่อแม่เลิกกัน  ลูกอยู่กับแม่  งานของแม่ทำให้ต้องกลับบ้านค่ำ  ประกอบกับวันหยุดแม่ต้องเรียนปริญญาโทภาคพิเศษ  ทำให้มีเวลากับลูกน้อย  จึงใช้เกมเป็นเครื่องมือสร้างความสุข  ทดแทนความเหงาให้กับลูก  ปล่อยให้ลูกเล่นเกมโดยไม่กำหนดเวลาในการเล่นให้ชัดเจน  ลูกก็เล่นเกมอย่างต่อเนื่องถึงเวลากินก็ไม่ค่อยยอมจะกิน  ถึงเวลานอนก็ไม่ค่อยจะยอมนอน   แม่ก็ปล่อยไปเรื่อย  จนในที่สุดเวลาของการเล่นเกมก็ขยายออกไปเรื่อยจนกินเวลาของกิจวัตรประจำวันที่ลูกควรทำ                  คราวนี้การจัดการก็ยากเพราะลูกจะโวยวายทุกครั้งที่ถูกห้ามเล่นเกม  ความหงุดหงิดและอารมณ์โกรธเกิดขึ้นทั้งกับแม่และลูก และทุกครั้งก็จบด้วยแม่ระอาที่จะบ่นว่าแล้วลูกก็เล่นเกมต่อ ผลจากการเล่นเกมส่งผลถึงการเรียน สุขภาพกาย และสุขภาพจิต  เพราะลูกมีอาการเหม่อลอย  คิดถึงแต่เรื่องเกม  ในที่สุดลูกของบ้านนี้ต้องพบจิตแพทย์ช่วยเยียวยา
                แม้ปัญหาของลูกเราอาจไม่รุนแรงเท่ากับครอบครัวที่ยกเป็นตัวอย่าง  แต่เราก็ไม่ควรให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นกับลูกเรา  เพียงเพราะเราไม่ได้เอาใจใส่กับการป้องกันปัญหาอย่างจริงจัง 
ผลที่เกิดกับลูก

            ผลร้ายข้อที่หนึ่ง คือ การเล่นเกมรบกวนเวลาคุณภาพ  แทนที่ลูกจะได้ทำการบ้าน ทำงานที่ครูมอบหมาย  ได้อ่านหนังสือ พูดคุยกับพ่อแม่  ได้ช่วยเหลืองานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เวลาที่จะได้ออกไปวิ่งเล่น ให้ร่างกายแข็งแรง สดชื่น  ก็จับจ้องอยู่กับแสงสีหน้าจอคอมพิวเตอร์   เด็กที่ติดเกมจะนอนดึกกันมาก  วันๆ จดจ่อคิดแต่จะเล่นเกม   เกมจึงกระทบต่อความรับผิดชอบทั้งการเรียน  และการงานในบ้าน  กระทบต่อสุขภาพซึ่งเป็นวัยที่ลูกกำลังเติบโต และสร้างสุขนิสัยที่ดีที่จะติดตัวไปจนโต                
   
               ผลร้ายข้อที่สอง  คือ ลูกจะมีโลกส่วนตัว  เรียกว่าเวลาทั้งหมดมีแต่ฉันกับเกม  พูดด้วยยังไม่ค่อยอยากจะพูดด้วย  ถามคำตอบคำ ไม่ค่อยยอมทำกิจกรรมกับครอบครัว  เพราะเสียเวลาเล่นเกม   เกมจึงกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว  เกมทำให้ลูกขาดทักษะทางสังคม ขาดความพยายามที่จะเข้าใจผู้อื่น  ไม่สนใจต่อความรู้สึกของผู้คนรอบข้าง   ซึ่งทั้งหมดนี้กระทบต่ออีคิวของลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิตและการประสบความสำเร็จในอนาคตของลูก   

          ผลร้ายข้อที่สาม คือ ลูกติดนิสัยต้องการเอาชนะ  ก้าวร้าว  ต้องการควบคุมคนอื่น เพราะเป้าหมายของทุกเกม คือ ชัยชนะ หลายๆ ชั่วโมงที่อยู่หน้าจอ ก็มุ่งที่จะเอาชนะเกมแต่ละขั้น ไต่เต้าไปเพื่อทำแต้มให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ  ยิ่งเล่นเกมยิ่งต้องการการท้าทายมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น อย่างที่ทราบกันดีว่า เกมหลายๆ เกม สร้างนิสัยก้าวร้าว สร้างนิสัยไม่ดีให้กับลูก  เผลอหน่อยเดียว ลูกเล่นเกมวางแผนโจรกรรม  สังหารตำรวจ  ยิ่งขโมยได้มากเท่าไหร่ก็ได้แต้มมากเท่านั้น  จิตของลูกถูกฝึกให้มีแต่ความรุนแรง ก้าวร้าว  เห็นการฆ่าการตาย จนคุ้นชินจากในจอ ความอ่อนโยนในจิตใจค่อยๆ หายไป อย่างนี้เป็นภัยคุกคามในใจลูกที่สะสมไว้ และยากที่จะมองเห็น อย่างนี้น่ากลัวนะคะ

แนวทางแก้ปัญหา


read4thai.org
               
         ก่อนอื่นเลย  พ่อแม่ต้องเห็นว่าการเล่นเกมอาจก่อให้เกิดปัญหาได้   จะได้ตั้งรับได้ถูก  และเมื่อเห็นว่าเป็นปัญหาต้องจริงจังกับการแก้ปัญหา   ถ้าทำสามข้อที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ได้ ปัญหาก็จะหมดไป


  • สร้างข้อตกลงร่วมกัน  และยืนยันให้เป็นไปตามข้อตกลง
เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ  เพราะที่ทำกันไม่สำเร็จ  ก็เพราะเรา..ผู้ใหญ่ต่างหากที่ไม่เอาจริง  เมื่อพบว่าลูกต่อต้าน แสดงความหงุดหงิด หรือต่อรอง  เรามักจะตัดปัญหา หรือโอนอ่อนผ่อนตามใจลูก อย่าลืมว่าลูกทดสอบเราอยู่ตลอดเวลาว่าเราเอาจริงแค่ไหน  ถ้าเขาพบว่า ทุกครั้งเรายืนยันตามข้อตกลง  ลูกก็จะเรียนรู้ว่า พ่อแม่นั้นพูดคำไหนคำนั้น  การกำกับวินัยก็จะทำได้สำเร็จ

  • ทำให้คอมพิวเตอร์เป็นของพ่อแม่ หรือเป็นของกลางที่ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของลูก
เมื่อคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ของลูก ดังนั้น การใช้คอมพิวเตอร์จึงเป็นลักษณะของการให้ยืมใช้และการแบ่งกันใช้  เป็นสิทธิของพ่อแม่ที่จะกำหนดเวลาให้กับลูก  และมีสิทธิที่จะงดใช้ เช่น ในช่วงที่ลูกใกล้สอบ  หรือในช่วงที่แม่มีงานยุ่งต้องใช้คอมพิวเตอร์ ลูกก็ต้องฝึกความอดทนอดกลั้น ที่จะไม่ตามใจตัวเอง

§    มีเวลาและกิจกรรมดีๆ ทำร่วมกับลูก

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากค่ะ เพราะถ้าเราไม่ให้ลูกเล่นเกม เราต้องตอบคำถามตัวเองสองข้อให้ได้ว่า แล้วลูกจะมีกิจกรรมอะไรทำ  และเราจัดสรรเวลาของเรากับลูกอย่างไร  ถ้าบ้านที่ไม่มีแม่บ้านช่วยต้องทำงานบ้านกันเอง  การชวนลูกมาช่วยทำงานบ้านก็เป็นอีกวิธีหนึ่งของการใช้เวลาที่ดีด้วยกัน ช่วยงานกันไปคุยกันไป ได้ความสัมพันธ์ที่ดี เสร็จงานแล้วออกไปเดินเล่นกับลูก
               

ของเล่นสำหรับลูกวัย ๖-๙ ขวบ

โดย อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข

ตอนเลือกของเล่นให้ลูกเล็กๆ จนเข้าสู่วัยอนุบาลดูจะไม่ยุ่งยากนัก   เพราะดูเหมือนว่าจะมีคำแนะนำมากมายที่หาอ่านได้ง่าย  หรือพอจะดูได้จากของเล่นที่คุณครูอนุบาลจัดหาให้ในห้องเรียน  อีกทั้งบนชั้นของเล่นก็เต็มไปด้วยของเล่นของหนูอนุบาล   แต่พอลูกเข้าสู่วัยประถมต้น  เอ..ชักนึกไม่ออกแล้วว่าจะเลือกซื้ออะไรดีเอาไปฝากลูก  หรืออย่างน้อยก็น่าจะได้ช่วยแนะนำลูกได้  แทนที่จะปล่อยให้ลูกเลือกแต่ห่นยนต์ มีดดาบ ปืนนานาชนิด ที่เป็นของเล่นยอดฮิตของลูก  ลูกวัยประถมต้นเองก็เพิ่งจะจากอนุบาลมาไม่ยังนาน   การเชื่อมต่อของการพัฒนาลูกผ่านการเล่นก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากสำหรับลูกวัยนี้   
                 ของเล่นรวมถึงอุปกรณ์หลากหลายจึงยังเป็นสิ่งที่พ่อแม่ยังคงต้องให้ความสำคัญที่จะช่วยให้ลูกวัยนี้ได้พัฒนาการเรียนรู้  มีการคิดที่ซับซ้อนชึ้น  ได้ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่นำสู่การกล้าแสดงออก  และนำเสนอผลงานในรูปแบบต่างๆ  รวมไปจนถึงการปรับตัวกับกลุ่มเพื่อน การเรียนรู้ที่จะยอมรับกฎกติการ่วมกัน  ทั้งหมดนี้เกิดได้จากการเล่นที่สนุกสนาน  เด็กๆ จึงเติบโตอย่างมีความสุขพร้อมไปกับการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยพลังของด้วยความกระตือรือร้น

เอาละค่ะ เรามาลองสำรวจและพิจารณาของเล่นของลูก  ใน ๔ ประเภทนี้ดูนะคะ

ของเล่นและอุปกรณ์ที่ได้สนุกกับจินตนาการและเล่นสมมุติ
                 


ตุ๊กตา   ประเภทที่อาบน้ำได้ จับแต่งตัวได้  รวมถึงน้องหมี น้องหมา  น้องกระต่ายประเภทที่หอบหิ้วไปไหนต่อไหนด้วย ช่วยให้ลูกได้เล่นสมมุติที่ได้ดูแลน้องตุ๊กตา สร้างความมั่นใจว่าตัวเองมีสามารถ เพราะจัดการอะไรต่ออะไรให้น้องตุ๊กตาได้ ให้น้องทำโน่นทำนี่  ขณะเดียวกันก็ลดความคับข้องใจจากชีวิตจริงมักจะถูกผู้ใหญ่สั่งอยู่ตลอดเวลา  ตุ๊กตาทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น  ได้พูดคุยเล่าเรื่องต่างๆให้น้องตุ๊กตาฟัง  ได้ระบายความเศร้าความเหงาให้คลายใจไปพร้อมกับการโอบกอดน้องน้อยในมือ ส่วนตุ๊กตาอีกประเภทเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ ที่ทำให้ได้สนุกกับจินตนาการเรื่องราวไปพร้อมกับของเล่นอื่น เช่น บล็อก บ้านตุ๊กตา รถลาก  รวมไปถึง หุ่นมือ หุ่นนิ้ว พร้อมฉาก  ที่อาจทำขึ้นมาเอง
อุปกรณ์ที่นำมาเล่นเลียนแบบกิจกรรมในชีวิตจริง  เช่น ธนบัตร เหรียญเงินปลอม เอามาเล่นซื้อขาย   เครื่องเล่นประเภทชุดเครื่องครัว   เครื่องมือช่าง  ชุดทำสวน ที่คล้ายของจริงกว่าช่วงอนุบาล หรืออาจจะเป็นของจริงขนาดเล็กถนัดมือ แตกหักได้ยากหน่อย เช่น ถ้วย จาน ชาม เชียง มีดที่มีฟันเล็กๆ ยิ่งมีเมล็ดพืช  เมล็ดผักก็ยิ่งเพิ่มความสนุกเข้าไปอีก   เด็กทุกคนอยากเป็นอย่างผู้ใหญ่  จึงมีความสุขที่ได้เล่นได้ ได้ลงมือทำคล้ายจริงในสิ่งที่ผู้ใหญ่เขาทำกัน  
ชุดเครื่องแต่งกาย  และอุปกรณ์แต่งแฟนซีต่างๆ เช่น หนวด  หมวกทรงต่างๆ แว่นตาที่ทำให้หน้าตาตลกๆ ไม้คทานางฟ้า จมูกแม่มด ชุดพยาบาล หมวกตำรวจ ชุดอัศวิน ชุดตัวละครในการ์ตูนยอดฮิต  รวมไปถึงเศษผ้า ใส่กระบุงทิ้งไว้ให้ลูกเอามาผูกเอามาพันตัวสร้างสรรค์ตามใจชอบ
ตัวสัตว์หรือของอื่นที่จำลองคล้ายจริง  เช่น ไดโนเสาร์ ค้างคาว รถเล็กๆ ประเภทต่างๆ  เด็ก ๆ จะสนใจมากเพราะเขาเคยเห็น เคยได้ยินมาจากในหนังสือ จากสารานุกรม จากบทสนทนาในชั้นเรียน ลูกจะเอามาเล่นแล้วเล่นอีก และนำไปสู่การสะสมสิ่งที่เขาสนใจ
บล็อกหลากชนิด  เลโก้และตัวต่อประเภทต่างๆ เพื่อลูกจะได้สร้างสรรค์ไปตามจินตนาการ เดี๋ยวนี้เลโก้และตัวต่อต่างๆ พัฒนาไปมาก  บางชนิดต่อกันด้วยแม่เหล็ก  บางชนิดมีอิเลคโทรนิคอยู่ด้วยทำให้ต่อแล้วสามารถขยับเคลื่อนไหวได้ก็มี

ของเล่นและอุปกรณ์ที่ได้สนุกกับการสังเกต ทดลอง ได้ค้นพบและทำให้รอบรู้

                ของเล่นที่ได้สร้างและประกอบขึ้นเองจากตัวแบบที่มีชิ้นส่วนต่างๆ ให้  พร้อมกับขั้นตอนการประกอบให้เด็กได้ทดลองทำเองอย่างง่ายๆ เช่น เครื่องบิน ตัวสัตว์
                ภาพตัดต่อ ไม่ว่าจะเป็นภาพตัดต่อสามมิติ หรือสองมิติ(จำนวนได้ตั้งแต่ ๕๐ ไปจนถึง ๑๐๐ ชิ้น)
                ของเล่นที่ได้นำมาเย็บปักถักร้อย เช่น แผ่นโมเสค  ลูกปัด เครื่องทอผ้าสำหรับเด็กๆ แผ่นตาตารางสำหรับปัก  ให้ลูกได้สนุกกับการคิดและออกแบบด้วยตนเอง
                เกมบรรจุกล่องทั้งหลาย  ที่ได้ฝึกฝนทักษะเฉพาะด้าน เช่น เกมเกี่ยวกับการคิดและแก้ปัญหา    เกมที่ต้องใช้การคิดคำนวณ  เกมฝึกความจำ  เกมฝึกการสังเกต โดมิโน  เกมที่เล่นกับคำหรือตัวอักษร เกมหมากกระดานที่กติกาไม่ซับซ้อนนัก เช่น หมากข้าม หมากฮอส
                ของเล่นที่ช่วยให้เกิดความรอบรู้เฉพาะเป็นเรื่องๆ เช่น กล้องส่องทางไกล  แว่นขยาย  กล้องจุลทรรศน์สำหรับเด็ก  ตาชั่ง ถ้วยตวง   ตลับเทป สายวัด ปริซึม แม่เหล็ก ลูกจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้ไปทดลอง ไปแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง อาจให้ลูกได้ใช้คอมพิวเตอร์ที่คุณพ่อคุณแม่จัดหาโปรแกรมหรือกิจกรรมด้านการศึกษาค้นคว้า เกมที่ฝึกการคิด  การเรียนรู้ต่างๆ  โตขึ้นมาหน่อยก็ให้ได้ฝึกฝนการใช้โปรแกรมที่ต้องพิมพ์งาน และการออกแบบต่างๆ  ต้องดูแลเรื่องโปรแกรม และควบคุมการใช้เวลากับคอมพิวเตอร์ให้ดี  ที่สำคัญต้องให้ลูกมีวินัยในการใช้คอมพิวเตอร์
หนังสือประเภทต่างๆ ที่เหมาะกับวัยของลูก ให้มีหลากหลาย ทั้งนิทาน สารานุกรม   เรื่องราวนักประดิษฐ์คิดค้น บุคคลสำคัญ วรรณกรรมเยาวชน  หนังสือประเภทผจญภัย สอบสวนสืบสวน  หนังสือประเภทความรัก เอื้ออาทรและการดูแลกัน  ในครอบครัว  บทกลอนบทกวี  หนังสือตลกขบชัน หนังสือเกี่ยวกับศิลปะ เรื่องราวในอดีต หนังสือเกี่ยวกับการทดลอง ฯลฯ ให้เพิ่มเติมหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ลูกสนใจให้มากเป็นพิเศษ

ของเล่นและอุปกรณ์ที่ได้สนุกกับงานศิลปะ  ร้องเล่นเต้นรำและเล่นเครื่องดนตรี

                อุปกรณ์ศิลปะและการประดิษฐ์  เช่น สีประเภทต่างๆ  ดินสอสี  แปรงและพู่กันหลายชนาด กระดาษวาดภาพ ระบายสี กรรไกร กาว อุปกรณ์แกะสลัก  ลูกปัดนานาชนิด อุปกรณ์ประดิษฐ์เกี่ยวกับงานไม้  งานปั้น  รวมถึงหนังสือไม่ว่าจะเป็นศิลปะประดิษฐ์ หรือภาพของศิลปินที่มีชื่อเสียง  ที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และอยากประดิษฐ์ผลงาน   
                เครื่องดนตรี  เช่น  เครื่องดนตรีที่ลูกจะได้ฝึกฝน หลังจากเรียนที่โรงเรียน หรือโรงเรียนดนตรี  จัดเตรียมเพลงสำหรับร้อง สำหรับเล่นเต้นรำ เพื่อสร้างความเบิกบานใจกันไปทั้งบ้าน
               
ของเล่นและอุปกรณ์ที่ได้สนุกกับการออกแรงและสร้างความแข็งแรงคล่องแคล่ว     

                อุปกรณ์กีฬา  เช่น ลูกบอลทั้งสำหรับโยน และสำหรับเตะ  แป้นบาสเกตบอล โกลว์หนู  (ขึ้นกับพื้นที่)  เชือกกระโดด ฮูลาฮูป  รวมถึงอุปกรณ์กีฬาอื่นๆ ที่ลูกเริ่มสนใจที่จะเล่น เช่น แบดมินตัน เทนนีส ว่ายน้ำ  ปิงปอง 
                จักรยาน  รถถีบ
                เครื่องเล่นสนาม เช่น ที่ปีนป่าย  ชิงช้า ไม้ลื่น  เชือกไต่ บาร์โหน ถ้าในสะดวกที่จะจัดหาให้ในบริเวณบ้าน หรือบ้านไม่มีพื้นที่สนาม ก็ควรให้ลูกได้มีโอกาสไปเล่นที่สนามเด็กเล่น  ร่วมกับเด็กอื่น

                สิ่งสำคัญที่ลูกวัยนี้ยังต้องการคือ ความใส่ใจและสนใจในความสำเร็จ การค้นพบหรือความสามารถของเขาที่เขาประสบความสำเร็จจากการเล่น  รวมไปถึงสนับสนุนและให้โอกาสลูกที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในขึ้นที่สูงขึ้นไปอีก การสังเกตและเอาใจใส่ของพ่อแม่ต่อการเล่นของลูก ทำให้เด็กหลายคนนำความสนใจ และการเล่นของเล่นบางอย่างอย่างเอาจริงเอาจังในยามเยาว์วัย  เป็นแรงส่งไปสู่ความสำเร็จเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

อิจฉาน้อง "น้องมาอิจฉาเกิด"

โดย อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข

    ดูเหมือนว่าถ้าบ้านใดมีน้องเกิดขึ้น   ความอิจฉาก็ตามมาไล่ๆ กัน  เดี๋ยวพี่ก็อิจฉาน้องเดี๋ยวน้องก็อิจฉาพี่  เพราะเกิดจากลูกแต่ละคนคิดว่าตนต้องได้รับสิ่งที่เท่าเทียมกัน เช่น น้องเล็กได้รับความเอาใจใส่จากแม่ คนพี่ก็อิจฉา  พี่ได้เสื้อตัวใหม่ น้องต้องใส่ตัวเก่าของพี่ที่แม่ยกมาให้ทีละตั้ง  อย่างนี้เห็นทีเสื้อตัวใหม่กว่าจะได้คงอีกนาน  ความขุ่นใจที่เกิดจากความอิจฉาก่อตัวขึ้นในใจ  สะสมไปสะสมไป ขณะที่พ่อกับแม่ก็จะกรอกหูไปว่า ลูกเป็นพี่น้องกันต้องรักกันนะ แต่อุปสรรคของความสามัคคี ก็เป็นเจ้าความอิจฉานี่ล่ะค่ะ  หากเลี้ยงดูและจัดการได้ไม่ดี  ก็จะทำให้เจ้าตัวอิจฉา ได้รับการบ่มเพาะไว้ตั้งแต่เล็กแต่น้อยและโตวันโตคืนอยู่ในใจลูก อารมณ์อิจฉาก็จะแรงขึ้นไปตามวัย   และแสดง ออกด้วย  ความโกรธ น้อยเนื้อต่ำใจ  เรียกร้องความสนใจ  และอยากเอาชนะ

การก่อตัวของความอิจฉา
            ตัวอิจฉา  เกิดมาจากความรู้สึกเปรียบเทียบแล้วคิดลบ  เปรียบเทียบแล้วรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า  ได้รับสิ่งต่างๆ น้อยกว่า ลูกที่เป็นเด็กคนเดียวในบ้าน  ความอิจฉาจึงยังไม่เกิด จนกระทั่งวันหนึ่งที่แม่คลอดน้องออกมา  ความรักความเอาใจใส่ที่เคยได้รับกลับถูกแบ่งออกไป  ความรู้สึกคือ เสีย ส่วนน้อง ได้  ความคิดติดลบกับน้องก็ตามมา  บางบ้านยังไม่ทันจะมีน้อง  ผู้ใหญ่ก็ทำให้คนพี่สะสมความรู้สึกไม่ชอบใจกับน้องที่ยังไม่เกิด  ดื้ออย่างนี้  วันหนึ่งแม่เค้ามีน้อง  ระวังจะโดนทิ้ง  อย่างนี้จะให้นึกรักน้องได้อย่างไรกัน  น่าเห็นใจลูกผู้พี่เสียจริงๆ

               
เริ่มต้นให้ดี  อย่าให้ความอิจฉาก่อตัว
           
          แหย่กันเล่น...ไม่เห็นใจคนพี่
เมื่อแม่ตั้งท้อง  คือ สิ่งที่น่าตื่นเต้นในครอบครัว ลูกก็รู้สึกเช่นเดียวกัน  เขาจะเริ่ม
ด้วยความรู้สึกที่ดีกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น  รู้จากพ่อแม่ว่าเขาจะมีน้อง  มีน้องแปลว่าต้องมีเพื่อนเล่น  ความรู้สึกดีๆ กำลังก่อตัวขึ้น  แต่แหม !  กำลังคิดดีๆ อยู่เชียว  เดี๋ยวก็เป็นหมาหัวเน่าหรอก เดี๋ยวแม่เค้าไปรักน้องแล้ว  ดื้อนัก   รักน้องดีกว่า โอ้โฮ ! อย่างนี้จะนึกรักน้องอย่างไรได้  โดนเป่าหูมาอย่างนี้ตลอดเก้าเดือน  อยากเห็นหน้าเจ้าตัวการที่ทำให้ฉันเป็นหมาหัวเน่านัก
          ทุกครั้งที่ลูกโดนแหย่  คุณต้องยื่นมือเข้าไปทุกครั้งนะคะ  อย่ามัวแต่เกรงใจคนอื่น  แล้วปล่อยให้เขาคว้าเอาความอิจฉามาเกาะกุมใจ  ขอพูดให้นุ่มนวลต่อหน้าลูก  ไม่หรอกลูก  คุณตาเค้าแหย่เล่นนะจ้ะ

            ปูพื้นฐานไว้ เตรียมใจที่อ่อนโยน
            ต้องมีการเตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ ให้ลูกรู้ว่า  คนที่โตกว่านั้น  แข็งแรงกว่า  เมื่อเห็นเด็กที่เล็กกว่าต้องระวัง  อย่าชน  เพราะเด็กที่เล็กกว่าจะล้มได้ง่าย  ให้ลูกรู้ว่าคนที่โตกว่าจะทำอะไรได้มากกว่า  พ่อแม่จะต้องส่งเสริมให้ลูกควรช่วยเหลือเด็กที่เล็กกว่า   สอนให้ลูกให้อภัยต่อน้อง เมื่อเข้ามาแย่งของเล่น  เพราะความไม่รู้ประสา  เมื่อลูกดีต่อเด็กที่เล็กกว่าต้องไม่ลืมที่จะชมเชย  ควรชมทันที   ถ้าไม่สะดวกด้วยการเอ่ยคำชม  อาจกระซิบข้างหู ส่งสายตาชื่นชม  เอาลูกมากอด  ยกนิ้วโป้งให้   ลูกก็จะหน้าบาน และพยายามจะทำความดีต่อไป 
                เมื่อลูกถูกปูพื้นฐานไว้ดีแล้ว  ยามที่ได้รับตำแหน่งเป็น พี่ ก็จะเข้าใจถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติต่อคนที่ตัวเล็กกว่า  อ่อนแอกว่า  ด้วยความเต็มใจ  

              อิจฉาน้อง  กับของขวัญกองโต
            ใครๆ ที่มาเยี่ยมน้องตอนแรกเกิด  ล้วนมีของขวัญกันมากล่องใหญ่  เกิดมาก็น่าอิจฉาแล้ว   สิ่งที่ทำให้ความอิจฉาไม่เกิด  ก็ด้วยการชวนลูกไปเตรียมหาของขวัญให้น้องเสียเลย  ให้เลือกหลายๆ ชิ้นก็ได้ค่ะ ต้องห่อเป็นของขวัญด้วยนะคะ  แล้วให้เขาอวดใครต่อใครว่าเขาเป็นคนเลือกให้น้องเอง

                กีดกันพี่ให้ห่างน้อง  ความหมองใจจะเกิด
                ช่วงที่มีน้องเล็กในบ้าน แน่นอนค่ะว่า ความสนใจของบ้านพุ่งไปที่เจ้าตัวเล็ก  ผู้พี่เองก็อยากเข้าใกล้น้องและเข้าใกล้แม่  ต้องให้ความสำคัญกับเขาด้วย  สอนให้เขาจับต้องน้องอย่างถูกวิธี  ให้โอกาสเขาบ้างในการช่วยดูแลน้องดูแลแม่ 

            ความสำคัญตกไป  พ่อช่วยได้
            ภาวะแบบนี้  พ่อต้องขี่ม้าขาวเป็นอัศวิน ช่วยผู้พี่หน่อยนะคะ  เพราะความสนใจของแม่จะมุ่งไปที่ลูกคนเล็ก  เพื่อไม่ให้ลูกคนโตมีความเหงาหรือถูกลดความสนใจไปเดี๋ยวไปหงุดหงิดอิจฉาน้อง  คุณพ่อต้องให้เวลากับลูกคนโตให้มาก 

ยิ่งเปรียบเทียบลูกมากเท่าไหร่  ความอิจฉาเกิดได้มากเท่านั้น
            เพราะอาหารของความอิจฉา  คือ  ความรู้สึกด้อยกว่า  ความด้อยกว่าเกิดจากการถูกเปรียบเทียบ  เพราะฉะนั้น ต้องระลึกเสมอค่ะว่า  ลูกแต่ละคนก็มีความถนัด ความสนใจ ความสามารถที่แตกต่างกันไป  ต้องหาความเก่งความสามารถของลูกแต่ละคนให้พบ  แล้วให้เขารู้ว่าเขาเป็นที่ภาคภูมิใจพ่อแม่ในเรื่องใด  ส่วนเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของเขาเราก็เสริมกันไป  เพราะโดยธรรมชาติแล้ว  ถ้าเราชมคนหนึ่งเก่ง  อีกคนก็อยากเก่งอย่างนั้นบ้างอยู่แล้ว  อย่า ...อย่าเลยนะคะที่คิดจะกดดันลูกให้เหมือนเก่งเหมือนน้องหรือพี่  เราเองยังไม่อยากถูกเปรียบเทียบกับคนอื่นเลย  การเปรียบเทียบของพ่อแม่อาจทำให้คนหนึ่งอาจถูกอิจฉา หรือหมั่นไส้ได้โดยง่าย

สร้างความเป็นพี่เป็นน้องให้ชัดเจน
            ถ้าไม่ต้องการให้ลูกๆ อิจฉากัน  ต้องสร้างความชัดเจนให้มากเข้าไว้ในเรื่องของความเป็นพี่เป็นน้อง  คนเป็นพี่ คือ ลูกที่โตกว่า  แข็งแรงกว่า  จะต้องถูกสอนให้มีความรับผิดชอบต่อน้อง (ในระดับที่พอควรแก่วัย) ไม่ทำร้ายน้อง  ต้องให้ความช่วยเหลือแก่น้อง  ก็จะได้รับสิทธิของความเป็นพี่   คนเป็นน้อง คือ คนที่ตัวเล็กกว่า  เกิดมาทีหลัง   จะต้องถูกสอนให้รู้จักเคารพพี่ ไม่ก้าวร้าวใส่พี่  น้องก็จะได้รับสิทธิของความเป็นน้อง   การเคารพกัน เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับครอบครัว  ถ้าพี่น้องเท่าเทียมกันหมด  ก็จะไม่มีใครฟังใคร  ลูกต้องเคารพพ่อแม่  น้องต้องเคารพพี่  จะทำให้การเอาชนะกัน  การส่งเสียงทะเลาะกัน  ลดลงไปได้มาก  และถ้าทำสำเร็จ ในเรื่องการเคารพกัน พี่จะรักและรับผิดชอบต่อน้อง น้องจะรักและเคารพพี่ไปจนโต   
อย่าพยายามทำให้พี่น้องกลายเป็น สำเนา ของกันและกัน 
ด้วยความที่อยากให้ลูกๆ ดูน่ารักน่าเอ็นดู  เวลาไปไหนมาไหนพี่กับน้องก็จับใส่เสื้อเหมือนกัน  เล่นดนตรีก็ต้องเปียโนเหมือนกัน  ื้อของเล่นก็ต้องซื้ออย่างเดียวกันแถมยังซื้อจำนวนเท่ากัน  จะขาดจะเกินไม่ได้  เพราะเราคิดว่าเรารักลูกเท่ากัน และควรให้ความเท่าเทียมกันแก่ลูก  สิ่งที่เราทำสิ่งที่เราพูด  ก็คือ   แม่รักลูกเท่ากัน  แม่จึงให้ของที่เหมือนกันแก่ลูก ย่อมตีความได้ว่า  ยามใดที่แม่ให้ของไม่เหมือนกัน  แสดงว่าแม่รักลูกไม่เท่ากัน  ลูกจะเรียกร้องหาความเท่าเทียมอยู่ตลอดเวลา  ยามใดที่ไม่สามารถจัดสรรให้อย่างเท่าเทียมกัน  ก็จะนำมาซึ่งความอิจฉา ออกอาการไม่พอใจ  น้อยใจ  การแก้สมการนี้ต้องให้แต่ละคนเป็นตัวของตัวเอง ให้ลูกได้ค้นพบความสามารถ ความชอบของตัวเอง  จะจัดสรรอะไรให้กับลูกก็ให้เหมาะกับลูกแต่ละคน  พร้อมกับให้เหตุผลให้เจ้าตัว และลูกคนอื่นเข้าใจ  ทำอย่างนี้บ่อยๆ ลูกจะมั่นใจว่าสิ่งที่พ่อแม่ทำนั้นจะมีเหตุผลที่ดีเสมอ  ทำให้บางครั้งที่พ่อแม่ไม่ได้อธิบายลูกก็มั่นใจว่าพ่อแม่ทำไปอย่างเหมาะสมแล้ว

 หากจัดการกับเจ้าตัวอิจฉาไม่ให้เกิดกับลูกๆ ของเราได้
ความรัก ความสามัคคีของลูกๆ จะทำให้เรามีความสุข และตายตาหลับ
เพราะพี่น้องเขาจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน