วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ลดพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กเล็ก

ลดพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กเล็ก เพื่อไม่ให้ลุกลามไปจนโต

ภาพจากsmh.com.au

โดย ธิดา พิทักษ์สินสุข
                เรื่องของความรุนแรงในเด็กนั้น ดูเหมือนจะสร้างความวิตกกังวลให้กับพ่อแม่ที่พบว่าลูกตัวน้อยมีเค้าความรุนแรงปรากฏให้เห็น  ไม่ว่าจะเป็นการอาละวาดทุบตีพ่อแม่  ชกต่อยกับเพื่อน  ใครขัดใจไม่ได้เป็นต้องลงไม้ลงมือ  ยิ่งโตความก้าวร้าวก็ยิ่งเพิ่มขึ้น รุนแรงขึ้น  ห้ามปรามได้ยาก ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าแล้วโตขึ้นแล้วเจ้าความรุนแรงของลูกจะนำผลร้ายมาสู่ลูก  อย่างเบาะๆ ก็จะเป็นเหตุให้เพื่อนไม่คบ  ถ้ามากกว่านั้นอาจถึงขั้นทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายกัน  
                เมื่อเด็กๆ มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง  เด็กจะตกเป็นจำเลยว่าเขาเป็นเด็กนิสัยไม่ดี อยากให้เชื่อก่อนค่ะว่าเด็กทุกคนอยากเป็นเด็กดีทั้งนั้น  แล้วพิจารณาดูว่าการเลี้ยงดูของเราเป็นอุปสรรคต่อการเป็นคนดีของลูกหรือไม่  ถ้าคิดว่าเป็นเพราะการเลี้ยงดู เราก็จะปรับวิธีการเลี้ยงดูลูก  แต่หากพ่อแม่คิดแต่เพียงว่าเป็นเพราะนิสัยไม่ดีของลูก  การแก้ปัญหามักจะเป็นการกำหราบ ดุว่า หรือคาดโทษ และลูกมักจะถูกจัดการด้วยความรุนแรง  คือการตีให้เจ็บให้จำ  แต่ความก้าวร้าวรุนแรงในเด็กนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะจะทำให้เด็กได้รับความกดดัน  :ซึ่งอาจแสดงออกเป็นสองทาง  ทางหนึ่งนั้นจะแสดงออกมาตรงๆ คือ ต่อต้าน ทำให้พฤติกรรมความรุนแรงเพิ่มขึ้น อีกทางหนึ่งความกดดันจะเปลี่ยนรูปไปเป็นพฤติกรรมไม่ดีอื่น เช่น เรียนไม่ดี ขาดความอดทน   หงุดหงิด แยกตัว เป็นต้น
ดังนั้น หากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกของ  เราจะพบว่าลูกจะกลายเป็นเด็กที่น่ารักขึ้น พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจะค่อยๆ จางหายไป  อยากชวนพ่อแม่พิจารณาสิ่งที่เราปฏิบัติต่อกันในครอบครัวและการเลี้ยงดูลูกว่ามีสิ่งใดที่เป็นตัวกระตุ้นความรุนแรงให้เกิดขึ้นกับลูก

1.      การแสดงออกของพ่อแม่เมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง 
ในทุกบ้านย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้  การที่พ่อแม่ทะเลาะกันแล้วมักจะตะโกนใส่กัน   เมื่อทะเลาะกันรุนแรงขึ้นก็จะขว้างปาสิ่งของเกลื่อนกระจาย  และอาจถึงขึ้นผลักกัน จับตัวเขย่าอย่างแรง  พฤติกรรมเหล่านี้แหละค่ะที่เป็นความรุนแรง  ทุกครั้งที่ลูกเห็นลูกก็จะซึบซับความก้าวร้าวเข้าไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พ่อแม่จำนวนหนึ่งก็ไม่รู้ตัวว่า ตัวเองนั้นเป็นผู้ฝังความรุนแรงลงไปในตัวลูก
2.      การตีลูกด้วยความโกรธ คือแบบอย่างของการใช้ความรุนแรง
ในบ้านที่พ่อแม่ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์โกรธได้   ไม่ว่าจะเกิดจากลูกขัดคำสั่ง ไม่เชื่อฟัง หรือทำเข้าของเสียหาย  พ่อแม่เหล่านี้มักจะตวาด (แสดงความก้าวร้าวด้วยวาจา)  ควบคู่ไปกับการตีลูกด้วยอารมณ์  ส่วนใหญ่ของผู้ที่ตีลูก  ก็มักจะมีข้ออ้างให้ตัวเองว่า ตีเพราะอยากให้ลูกเข็ดไม่ทำอีก  บ้างก็จะออกตัวว่าที่ดีมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะเคยถูกตีมาก่อน  บ้างก็จะบอกว่า ตีเป็นการสั่งสอนไม่ได้ตีด้วยอารมณ์  เอาเข้าจริงมักจะพบว่าในสิบครั้ง  เป็นการตีแบบมีอารมณ์สักเก้าครั้งครึ่ง   เพราะการตีหรือตวาดลูกมักจะหยุดหรือชะงักพฤติกรรมนั้นได้อย่างรวดเร็วทันใจ  ทำให้พ่อแม่ติดใจ และเอาเป็นอาวุธไว้จัดการกับลูก  และนับวันพ่อแม่ก็จะมือไวขึ้นทุกที  การตีทำให้ลูกเรียนรู้ว่า เมื่อใครทำให้เราไม่พอใจ  เราก็ทำให้คนคนนั้นเจ็บตัวได้  การตวาด บอกว่าเมื่อเราโกรธใคร  ให้ตะโกนใส่ ไม่จำเป็นต้องพยายามที่จะพูดกันดีๆ 
เมื่อลูกทำให้ไม่พอใจ  สิ่งที่ควรทำ คือ พ่อแม่จะต้องเป็นแบบอย่างในการควบคุมอารมณ์ อดทนอดกลั้น และแก้ปัญหาด้วยความสงบ ใช้การพูดคุยด้วยเหตุผล และใช้การประนีประนอม

3.      ตามใจไปเสียทุกเรื่อง และปล่อยให้ลูกตวาดหรือตีพ่อแม่ เมื่อเขาไม่ได้ดั่งใจ
ดูเหมือนว่าพวกเราจะได้ยินเสียงบ่นจนหนาหูว่า เด็กสมัยนี้เอาแต่ใจกันเสียจริงๆ  ก็คงมา
จากหลายสาเหตุด้วยกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมัยนี้มีลูกกันน้อย พ่อแม่จึงเอาอกเอาใจกันเต็มที่  บางส่วนก็เป็นเพราะพ่อแม่ให้เวลากับการทำงานมาก  เวลาน้อยนิดที่อยู่ด้วยกันจึงไม่อยากขัดใจลูก หรือไม่ก็เหนื่อยจนไม่อยากปวดหัวกับเรื่องของลูก  จึงตัดบทด้วยการยอมตามที่ลูกต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควรก็ตาม การทำเช่นนี้จะทำให้ลูกเคยชินกับการอยากได้อะไรก็ต้องได้ดั่งใจ  ไม่รู้จักรอคอย  
การตามใจลูกจึงเป็นเหตุให้ลูกเป็นเด็กก้าวร้าวรุนแรง  ไม่รับฟังเหตุผล    และติดพฤติกรรมอาละวาด โวยวาย ทำร้ายคนอื่น พ่อแม่ที่ตามใจลูกมักยอมให้ลูกทุบตีอาละวาด  ปากบ่นว่าแต่ก็ไม่เอาจริงที่จะหยุดพฤติกรรมลูก  พ่อแม่ไม่ควรละเลยที่จะปรับพฤติกรรมเหล่านี้เสียตั้งแต่เล็ก เมื่อลูกจะตีเราให้จับมือลูกให้มั่น มองตาลูกแล้วพูดอย่างหนักแน่นว่า ลูกไม่มีสิทธิตีใครทั้งนั้น  ถ้าลูกมีท่าทีสงบฟังและทำตามก็ปล่อยมือลูก หากปล่อยมือแล้วยังจะตีต่ออีก ก็จับมืออีก ทำอย่างนี้บ่อยๆ ลูกก็จะเรียนรู้ว่าพ่อกับแม่จะไม่ยอมให้ลูกทำร้ายใครอีกต่อไป  และอย่าลืมนะคะ เมื่อลูกหยุดตีแล้วให้ชมลูกว่า ดีแล้วนะลูก ต่อไปนี้ลูกไม่ตีใครแล้วนะ จากนั้นค่อยให้เหตุผลว่าทำไมเรื่องนี้พ่อแม่จึงตามใจลูกไม่ได้

4.      การเลี้ยงลูกให้เกิดความเครียด กดดัน
สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้ลูกแสดงออกถึงความก้าวร้าวนั้น เหตุมักจะเกิดจากอารมณ์
โกรธที่อยู่ภายในรุนแรง  และไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ได้  แล้วไม่สามารถควบคุมการแสดงออกที่เหมาะสมได้  จึงมีพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาให้เราเห็น 
                เด็กที่เผชิญกับการเลี้ยงดูที่สร้างความเครียดความกดดันอยู่เสมอๆ จะสะสมอารมณ์ขุ่นมัวไว้ในใจ  ทำให้ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย  เมื่อสิ่งที่ไม่พอใจมากระทบ แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เด็กทำร้ายเพื่อนอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ 
                สาเหตุที่สร้างความเครียดและความกดดันให้กับเด็กนั้น  ส่วนหนึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการแข่งขันและเข้มงวดจนเกินไป  ทั้งในเรื่องการเรียนและการเล่นกีฬา ลูกจะแพ้ใครไม่ได้   ความคาดหวังของพ่อแม่กลับกลายเป็นเรื่องสร้างความกดดันให้กับลูก  พ่อแม่เหล่านี้มักเผลอที่จะเอาลูกไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น หรือพี่น้องที่เรียนเก่งอยู่เป็นประจำ  ไม่ก็ดุว่าหรือพูดประชดประชันเมื่อเห็นลูกทำคะแนนไม่ได้ดั่งใจ  แทนที่จะให้กำลังใจ หรือหาแนวทางแก้ปัญหาการเรียนให้กับลูก  สิ่งที่พ่อแม่กดดันลูกนั้นนอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกเครียดและหงุดหงิดแล้ว ยังสร้างนิสัย แพ้ไม่เป็น ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความก้าวร้าวให้อยู่ในใจลูก ทำให้โตขึ้นเป็นคนที่หาความสุขได้ยาก
                อีกสาเหตุหนึ่งของความเครียดและกดดันของลูกเกิดจากความรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ ที่พ่อแม่ให้ความเอาใจใส่ไม่เท่าเทียมกัน รู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม หรือเกิดจากความเหงา ที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ กลับบ้านดึกเป็นประจำ   เวลาดีๆ ที่จะพูดคุยกัน สนุกด้วยกันน้อยมาก
                ฉะนั้น การมีเวลาที่จะพูดคุยกัน การแสดงความรู้สึกกันอย่างตรงไปตรงมา การมีเวลาได้ใกล้ชิดกันจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อลูกมาก การแสดงออกถึงความรักความเอาใจใส่เป็นทางออกที่ดีสำหรับหลายๆ ปัญหา

5.      การสนับสนุนลูกด้วยของเล่น และเกมต่อสู้
สำหรับลูกผู้ชายนั้น พ่อแม่อดไม่ได้ที่จะซื้อของเล่นประเภทดาบ ปืน อาวุธที่แปลง
ร่างได้หลายรูปแบบ รวมไปถึงเกมที่มุ่งไปที่การต่อสู้ให้กับลูก  การซื้อให้บ้างไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหา แต่หากสำรวจของเล่นของลูกแล้วพบว่าเป็นประเภทที่มีมากที่สุดและลูกใช้เวลากับของเล่นประเภทนี้แทบจะตลอดเวลา  น่าจะหยุดคิดหน่อยนะคะว่าลูกจะฝึกซ้อมการเล่นกับความรุนแรงมากไปหรือไม่  เพราะจะมีผลทำให้เมื่อไม่พอใจลูกจะแสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมา ราวกับเป็นไปโดยอัตโนมัติ  จะดีกว่าไหมคะถ้าจะจัดหาของเล่นให้ลูกได้เล่นอย่างหลากหลาย  แรกๆ ลูกอาจไม่คุ้นเคยและไม่นึกสนุกที่จะเล่น แต่หากพ่อแม่ชวนมาเล่นด้วยกัน จนลูกค้นพบความสนุกกับการเล่นของเล่นชนิดอื่น 
6.      ปล่อยให้ดูหนังดูละครที่แสดงออกถึงการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังและละครจำนวนมากมีความรุนแรงทั้งคำพูดและการลงไม้ลงมือ
พ่อแม่ควรที่จะให้ลูกได้อยู่กับหนังกับละครประเภทนี้ให้น้อยที่สุด กรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องหาโอกาสพูดคุย ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นต่อพฤติกรรมรุนแรงที่ลูกได้รับรู้อยู่เสมอๆ
                หากเราปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูลูก   ให้ลูกห่างไกลจากสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง  รับฟังลูก และหมั่นพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับความขัดแย้งอย่างสันติวิธี รวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีที่จะไม่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง   สิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นภูมิคุ้มภัยให้ลูกเป็นเด็กที่ปลอดจากพฤติกรรมรุนแรงได้อย่างแน่นอน

สอนลูกเรื่องการประหยัด

ภาพจากfamilybudgetideas.com

โอกาสดีที่จะสอนเรื่องการประหยัด
ธิดา พิทักษ์สินสุข
              
ถ้าใครได้ใกล้ชิดคุณตาคุณยายก็มักจะได้ยินท่านเล่าเรื่องยุคข้าวยากหมากแพงในช่วงสมัยสงครามที่ท่านได้เผชิญกันมา  ท่านก็จะเล่าค่ะว่าในยุคนั้นข้าวของหายาก  บางครั้งมีเงินทองก็ไม่สามารถซื้อหาได้เพราะเป็นยุคของความขาดแคลน  ขาดแม้กระทั่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น พวกสบู่ ยาสีฟัน ผ้าอนามัย ยารักษาโรค ทำให้ผู้คนในยุคนั้นต้องใช้ของต่างๆ อย่างประหยัด  รู้จักคิดดัดแปลง และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่มาทดแทนของที่หาไม่ได้  แต่สิ่งหนึ่งที่คุณตาคุณยายที่ผ่านสถานการณ์ความลำบากในยุคนั้นเรียนรู้และได้สมบัติที่ดีติดตัวมากันทุกคน คือ การประหยัด อดออมและใช้ของอย่างรู้คุณค่า และหมั่นพร่ำสอนพวกเราให้กินข้าวกินปลาให้หมด   ขวดเล็กขวดน้อยก็อย่างทิ้งขว้างล้างเก็บไว้เผื่อเอากลับมาใส่โน่นใส่นี่  จะทิ้งอะไรทีก็คิดก่อนทิ้งอยู่เสมอ  สถานการณ์ทำให้ท่านประหยัด โดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อในการณรงค์เรื่องการประหยัดทรัพยากรและลดขยะ
               
ยุคเราเป็นพ่อแม่...กับสถานการณ์โลกร้อนและเศรษฐกิจตกต่ำ
                ยุคนี้เปิดทีวี...ของที่ขาดไม่ได้เสียแล้วในทุกบ้าน  ก็จะพบกับการรายงานเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน  ขยะล้นโลก  ราคาสินค้าพุ่งกระฉูด  เศรษฐกิจตกต่ำและตามมาด้วยการรณรงค์เรื่องการประหยัดทรัพยากร การอดออม และทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่เราจะนำสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่เป็นเครื่องมือในการสอนลูกของเรา  ปลูกนิสัยเรื่องการประหยัดไม่ว่าจะเป็นการประหยัดน้ำไฟ การจับจ่ายใช้สอย การใช้ของอย่างรู้ค่า  การประยุกต์ ดัดแปลงนำของเก่ามาใช้ใหม่ 
การปลูกฝังเรื่องของการประหยัดนี้  ทำเสียก่อนที่ลูกจะเข้าสู่วัยพรีทีนยิ่งดีค่ะ  เพื่อป้องกันวัยรุ่นที่ใช้เงินไม่เป็น ใช้เงินเกินตัว อยากได้โน่นได้นี่  คิดไม่ได้คิดไม่เป็นจึงจับจ่ายในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ  ดังนั้น ใครมีลูกวัยประถมศึกษา ต้องรีบสร้างนิสัยของการประหยัด   เพราะวัยประถมเป็นวัยที่ลูกเริ่มใช้เงินด้วยตัวเอง  ต้องบริหารจัดการค่าขนมของตนเอง  เป็นวัยที่ยังมีความใกล้ชิดกับพ่อแม่ ดังนั้นครอบครัวยังมีอิทธิพลต่อการคิดและปลูกฝังอุปนิสัยที่ดีให้กับลูก  เอาล่ะค่ะ
เอาล่ะค่ะ สถานการณ์เศรษฐกิจที่ดูจะย่ำแย่  เมื่อมองในมุมบวก  เรากับมีโอกาสดีอยู่ในมือเราแล้ว  เราจะทำอย่างไรกันต่อไป

ใช้การรณรงค์ในสังคม....ในโรงเรียน...สู่การรณรงค์ในระดับครอบครัว
            ในทีวีแทบจะทุกช่อง  วันละหลายครั้งที่กล่าวถึงการประหยัดและอดออม รวมถึงการรณรงค์ต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  การประหยัดทรัพยากร  รวมไปถึงการรณรงค์และกิจกรรมที่โรงเรียนทุกโรงทำกันอยู่  เราพ่อแม่ต่อยอดเลยค่ะ คุณครูให้ทำรายงานเรื่องโรคร้อน  เรามาทำเรื่องการลดขยะกันในบ้าน  มีการรีไซเคิล  รียูส เอาของเก่ากลับมาใช้ใหม่  ของที่ไม่ใช้แล้วนำไปมอบหรือบริจาคให้คนไปใช้ต่อ  หรือเอาไปขาย  ได้เงินกลับมา  การรณรงค์เรื่องปิดไฟวันละนาที  เอามารณรงค์ในบ้านต่อ  ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น  เมื่อมีการรณรงค์ในบ้านเมือง  เราก็ชวนลูกพูดคุย  ให้เขาแสดงความคิดเห็น  เมื่อเด็กๆ ได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เห็นเลยใช่ไหมคะว่าเขาจะเบิกบานมาก  คิดโน่นคิดนี่  เป็นจริงได้บ้างไม่ได้บ้าง  เราก็ค่อยๆ ตะล่อมตะล่อม มาสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง  ลูกจะรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมคิด ก็จะนำไปสู่การร่วมทำ และให้ความร่วมมือ  คราวนี้ก็ถึงเรื่องการทำอย่างสม่ำเสมอตามมาจนเป็นนิสัย 
                ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่า  ใช้โอกาสจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  มาสร้างความตระหนัก  สู่การมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ  และคุณพ่อคุณแม่คอยกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ  ลูกก็จะมีนิสัยดีๆ มีนิสัยประหยัด และใช้ของอย่างมีคุณค่าติดตัวไปจนโต

การสร้างวิถีชีวิตที่ดี
ลูกต้องรู้ใจ ผู้ใหญ่คิดอะไรอยู่
            กิจกรรมในวันหยุดของครอบครัวมักหนีไม่พ้นการไปจับจ่ายตามห้างสรรพสินค้า  เพื่อซื้อของเข้าบ้าน  ยิ่งบ้านไหนคุณแม่บ้านไปทำงานนอกบ้านด้วยแล้ว  รายการจับจ่ายของก็ยิ่งมากขึ้นด้วย  เรียกว่าหนึ่งรถเข็นไม่พออย่างแน่นอน  พ่อเข็นคัน แม่เข็นคัน  เต็มรถเข็น  ลูกเห็นอย่างนี้ทุกๆ สัปดาห์  ดูเหมือนจะลบคำว่า ประหยัด ออกไปจากความคิดของลูกได้เลยค่ะ มีคำว่า ซื้อ ซื้อ เข้าไปแทนที่   คำว่าประหยัดเป็นนามธรรม ส่วนภาพของที่ซื้อมาจนเต็มรถนั้นเป็นรูปธรรมที่เห็นกับตาและจับต้องได้  โจทย์ที่จะให้เด็กรู้จักการประหยัดในยุคนี้จึงทำได้ยากขึ้นในวิถีปัจจุบัน
                โจทย์นี้แก้ได้ด้วยคุณพ่อคุณแม่ต้องพูดความคิดของตัวเองออกมาดังๆ ให้ลูกรู้ว่าเราคิดอะไรอยู่  รู้ว่าเราทำอะไรไปเพราะอะไร และเรามีแผนการใช้เงินอย่างไร   
                ขณะจับจ่ายใช้สอยมีบทสนทนามากมายที่ทำให้ลูกรู้ว่าเราคำนึงถึงการประหยัด  เรื่องนี้สำคัญและจำเป็นนะคะ ที่จะต้องพูดคุยกับลูกไปด้วยขณะจับจ่าย เช่น  ทำไมต้องจัดทำรายการของเพื่อไปซื้อของทีเดียวให้ครบ เพราะทำให้ประหยัดน้ำมัน ประหยัดเวลา  ทำไมต้องซื้อของแพ็คใหญ่ เพราะจะทำให้ได้ราคาที่ถูกลง  ให้ลูกได้ดูรายการสินค้าลดราคาที่ช่วยให้ประหยัดเงิน  ดูวันหมดอายุสินค้าเพื่อไม่ต้องซื้อมาไม่กี่วันก็ต้องทิ้งทำให้สิ้นเปลือง ทำไมต้องซื้อรองเท้าแตะคู่ใหม่  เพราะคู่เก่าชำรุดแล้ว  อย่างนี้จะทำให้ลูกเข้าใจว่าเจ้าของเต็มรถเข็นเต็มตะกร้านั้น ผ่านการคิดอย่างรอบคอบถึงความจำเป็นในการที่ต้องซื้อหา  อีกทั้งยังทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ไตร่ตรองอีกรอบก่อนตัดสินใจจ่ายเงิน  พอเราฝึกบ่อยๆ ลูกตัวน้อยของเรานั่นแหละค่ะ จะช่วยทักท้วงเราให้หยุดคิดก่อนซื้อได้อย่างดีทีเดียวค่ะ  เรียกว่าการไปซื้อของได้กลายเป็นการสอนเรื่อง การ ประหยัดในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
               
อยากให้ลูกประหยัด ต้องสอนไม่ใช่แค่ดุหรือตำหนิ
            ไม่รู้ว่ายุคสมัยนี้เวลาจำกัดหรือเปล่า  จึงทำให้พ่อแม่ใช้การดุ ว่า แล้วก็จบ โดยไม่ได้สอนลูกด้วยการพูดคุย  ยกตัวอย่างที่มีให้เห็นเป็นประจำดีกว่านะคะ  เอาเป็นฉากในร้านขายของเล่น ลูกไปเลือกซื้อของเล่น  เจอของถูกใจฝ่ายลูกกก็จะหน้าบานถือรถบังคับวิทยุมา ส่วนแม่เห็นเข้าก็หน้าหุบเพราะราคาสูงอยู่  พอบอกว่าอย่าซื้อเลยแพงเกินไป คราวนี้ฝ่ายลูกหน้าหุบ ยืนยันว่าจะเอาให้ได้  ถ้าลูกยังไม่ยอมแพ้จะเอาให้ได้  ฝ่ายแม่ก็จะเริ่มดุ ดุ แล้วก็ดุ ต่อไป จะลงเอยด้วยการซื้อให้หรือไม่ซื้อก็ตาม  ก็จะตามมาด้วยการบ่น  บ่นเสร็จเรื่องนี้ก็เป็นอันจบ การสอนคุณธรรมนั้นไม่ได้เกิดจากการบ่นแต่ต้องเกิดจาก การอบรมสั่งสอน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้ได้ดี  การสอนที่ได้ผลดีนั้น ผู้สอนต้องพร้อมสอน ผู้เรียนต้องพร้อมเรียน  ในแต่ละวันพ่อแม่ควรมีเวลาดีๆ สำหรับสอนลูกด้วยการพูดคุย ชวนให้เขาคิด  ว่าเขาควรคิดอย่างไร ควรทำอย่างไร  การดุว่า การบ่น จึงไม่ใช่การอบรมลูกที่ได้ผลดี  เพราะขณะนั้นผู้บ่นก็ยังมีอารมณ์โกรธ  ลูกก็กำลังถูกขัดใจ  การเรียนรู้จึงเกิดได้น้อยค่ะ

พ่อแม่คือแบบอย่างที่ดี สิ่งที่สอนกับสิ่งที่ปฏิบัติตรงกัน
          เรื่องนี้คงเห็นตรงกันนะคะ เพราะลูกจะเป็นอย่างที่เราเป็นนั่นแหละค่ะ  ต่อให้สอนเรื่องการประหยัด แต่ในบ้านก็เปิดไฟกันพรึ่บ   มีรองเท้าเต็มตู้  แต่ก็ยังซื้อมาอีกจนล้นตู้  ซื้ออาหารการกินมามากเกินกิน  ก็กินครึ่งทิ้งครึ่ง อย่างนี้ก็จบกันค่ะ กับการสอนเรื่องการประหยัด  
                การประหยัดสอนได้ดีและได้ผล  ถ้าได้ฝึกฝนและปฏิบัติในเรื่องใกล้ตัวเป็นประจำและสม่ำเสมอค่ะ พ่อแม่ทำและชวนลูกทำไปด้วยกัน  ชื่นชมกันเมื่อใครทำได้ทำดี   เช่น ช่วยกันปิดน้ำปิดไฟ ไม่เปิดน้ำแรงจนซ่ากระจาย   เป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวที่ทำได้ง่ายๆ ในทุกวัน ลูกจะคุ้นเคยกับการประหยัดในเรื่องเล็กๆ แล้วเป็นนิสัยติดตัวที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในเรื่องอื่นๆ  หรือเรียกว่า ประยุกต์การประหยัดเป็นไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้โดยง่าย เพราะมีนิสัยติดตัวไปแล้วนั้นเองค่ะ

กระปุกออมสิน....จนทุกวันนี้ก็สอนได้ดีในเรื่องการออม
            การให้ของขวัญลูกเป็นกระปุกออมสินและมีเงินก้นกระปุกเป็นของแถม ยังเป็นเรื่องที่ควรทำอยู่นะคะ  เพราะเป็นรูปธรรมของการออมเงินที่เห็นได้ชัดเจน  เมื่อเต็มกระปุกก็ตามมาด้วยแผนการใช้เงิน  จะนำเงินไปทำอะไร หรือจะนำไปฝากธนาคารต่อไป 

            การประหยัดเป็นเรื่องที่ต้องสอนตั้งแต่ยังเล็ก ยามที่ลูกยังเชื่อฟัง  ยามที่ลูกยังฟังเราอยู่  อย่าซื้อหาของให้อย่างตามใจเพียงเพื่อต้องการรอยยิ้มของลูกในวันนี้   จนลูกคิดว่าด้วยความรักของพ่อแม่ลูกอยากได้อะไรก็ต้องได้ไปเสียทุกอย่าง  วันที่ลูกย่างเข้าสู่วัยรุ่น ความต้องการของลูกจะเพิ่มขึ้นตามตัว  จนเราไม่อาจตอบสนองความต้องการของลูกไปเสียทุกอย่าง แต่ลูกได้นิสัยติดตัว คือ อยากได้อะไรต้องได้   วันนั้นลูกจะขัดใจและไม่เข้าใจ  ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นในครอบครัว  อยากได้อะไรแล้วต้องได้  โดยขาดการสอนให้คิด ให้ไตร่ตรอง จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง 

เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย เทรนด์ใหม่หรือภัยร้ายของลูก
                                                                                                ธิดา พิทักษ์สินสุข

ภาพจากthecutekid.com
                  ถ้าจะเปรียบกันระหว่างเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยกับเป็นหนุ่มเป็นสาวสมวัย  ดูเหมือนว่าสมวัยดูจะเป็นคำตอบที่ทุกคนเลือกให้กับลูก  ด้วยความความพอเหมาะพอดีเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวัง  เป็นความไม่มากไม่น้อยจนเกินงาม แต่ด้วยความรักมักจะทำให้เส้นของความพอดีย้ายจุดไปสู่ความเกินพอดีได้โดยง่าย  

อาการร่วมของเป็นหนุ่มเป็นสาวเกินวัยมักออกมาในรูปแบบของการแต่งกาย การ แต่งหน้าทาปาก ทาเล็บ ทำสีผม  การโฆษณาชวนเชื่อ  ดูจะมีอิทธิพลต่อพวก ก่อนวัย ได้ดี  เครื่องประทินผิว และเสื้อผ้าเครื่องประดับ  ล้วนแล้วแต่ทำให้ต้องสิ้นเปลืองเงินทอง แถมยังปิดปังความน่ารักน่าเอ็นดูของวัยเด็กไปอย่างน่าเสียดาย   

      ในบ้านที่มีฐานะไม่ดีนักยิ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กๆ หลายคนต้องเจียดเงินค่าอาหารกลางวันที่บำรุงกำลัง บำรุงสมอง ไปซื้อเครื่องสำอาง เสื้อ ผ้า แล้วเครื่องสำอางที่พอมีกำลังซื้อ คุณภาพก็เป็นไปตามสนนราคาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวพรรณอ่อนใสของวัยแรกรุ่นอีกด้วย  หากสตางค์ไม่พอก็อาจเป็นที่มาของการหาเงินมาผิดวิธี  เพาะนิสัยของความมือไว หยิบฉวยเงินทองของเพื่อนของพ่อแม่เพื่ออุปกรณ์สู่ความเป็นหนุ่มเป็นสาว  เสื้อผ้าที่ทำให้สะท้อนความเป็นหนุ่มเป็นสาวกว่าวัยนั้นส่วนใหญ่มักจะเน้นการแสดงทางเพศที่ชัดเจน เช่น เสื้อคอลึก รัดรูป กระโปรงสั้น  กางเกงเอวต่ำ อย่างนี้จะทำให้เกิดการถึงเนื้อถึงตัวกันได้โดยง่าย  การเป็นหนุ่มเป็นสาวแบบนี้ถือว่าเป็นภัยร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย การเป็นหนุ่มเป็นสาวเกินวัยแบบนี้ดูไม่เป็นที่น่าเอ็นดูสำหรับผู้หลักผู้ใหญ่เข้าข่ายแก่แดดแก่ลม สำหรับเพื่อนวัยเดียวกันก็ไม่วายโดยหมั่นไส้  ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งจนถึงขั้นทำร้ายกันก็มีให้เห็นกันอยู่ 

แต่หากความเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยนั้น เป็นการเติบโตที่แสดงออกถึงความสามารถของคิดการพูดที่เป็นเหตุผล อย่างเช่นที่เราเห็นเด็กพูดจาฉะฉานแสดงความคิดเห็นที่ได้อย่างน่าฟัง  แสดงออกถึงศักยภาพในการค้นหาความรู้และการลงมือทำสิ่งต่างๆ ที่สะท้อนมุ่งมั่นตั้ง ใจจริง เช่น เด็กที่สามารถประกอบและบังคับหุ่นยนต์ที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยตนเอง เด็กที่พยายามค้นหาวิธีและนำกลุ่มอาสาสมัครเด็กด้วยกันช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายในชุมชน การช่วยเหลือและรับผิดชอบภารกิจของครอบครัว เช่น ช่วยส่งของ จัดหน้าร้าน อย่างนี้ถือว่าการเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยที่น่าชื่นชม น่าจะเป็นเทรนด์ใหม่ที่เราควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับลูกหลาน เรา

อะไรเป็นเหตุและหนทางให้ลูกหลานของเราหนุ่มสาวเกินวัยจนเป็นภัยร้าย     

การแสวงหาตัวแบบในช่วงวัยแรกรุ่น
เด็กๆ ในช่วงของวัยแรกรุ่นนั้นเป็นวัยที่ต้องการหาแบบอย่าง หาฮีโร่ที่มากไปกว่าคนในครอบครัว ดารา นักร้อง นักแสดงกลายเป็นฮีโร่ในใจเด็ก คนเก่ง คนเด่น คนดัง ของวัยแรกรุ่น คือคนที่อยู่หน้าจอทีวี   เพราะทีวีกลายเป็นเพื่อนสนิทที่เข้ามาคลุกคลีอยู่ในบ้านและดูเหมือน ว่าจะมีเวลาอยู่กับเด็กๆ มากกว่าคนในครอบครัว   สื่อจึงมีอิทธิพลต่อค่านิยม ต่อแรงจูงใจของเด็กๆ โดยไม่รู้ตัว นักร้องนักแสดงนำเสนอรูปลักษณ์ภายนอกที่มาพร้อมกับความสุขความบันเทิง ทำให้เด็กหลายคนหลงไหลไปตามกระแสความเด่นความดัง เขาเหล่านั้นจึงกลายเป็นหัวข้อสนทนาของเด็กๆ ในแต่ละวัน ในขณะที่พ่อแม่ของลูกวัยทั้งพรีทีน และวัยทีนเอจ  ก็ดูจะกลายเป็นความน่ารำคาญใจเพราะไม่เข้าใจวิธีการดูแลลูกวัยนี้ ที่โตเร็วจนพ่อแม่ปรับตัวไม่ทัน  ยังคงจ้ำจี้จ้ำไชให้เป็นที่หงุดหงิดใจวัยโจ๋ทั้งหลาย  เด็กๆ ก็ค่อยๆ เคลื่อนใจออกจากบ้านสู่สังคมของคนวัยเดียวกัน สู่กระแสของวัยรุ่น  บนเวทีของนักร้อง นักแสดงวัยรุ่นนั้นนอกจากนำเสนอความสามารถในวิชาชีพแล้วยังนำเสนอการแสดงออกที่เป็นความโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย กริยาท่าทาง  การพูดจา  ลูกหลานของเราก็เลียนแบบการพูดการแสดง ออกที่เกินจริงมาสู่ชีวิตจริง  การนำแบบอย่างที่เห็นแล้วโดนใจวัยรุ่น  จึงเป็นส่วนที่ทำให้เด็กๆ ของเราเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

ถ้าพ่อแม่มีความใกล้ชิดกับลูก ไปร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นสำหรับวัยของลูกบ้าง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ชมคอนเสริสต์   ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจากสิ่งที่เห็นกับลูกและเพื่อนของลูก  จะมีส่วนทำให้เราเข้าใจความต้องการของวัยของลูกที่เรามักจะลืมเลือนไป  และทำให้เราสามารถจัดใจเราให้ประนีประนอมกับลูกได้ ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป    ลูกก็จะเปิดใจรับฟังคำแนะนำของเราได้ดีกว่าพ่อแม่ที่เอาแต่สั่งสอนโดยไม่รู้ ไม่เข้าใจเพราะไม่ได้คิดที่จะเข้าไปอยู่ในใจลูก

อ่อนซ้อมต่อการคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจเลือก
            เด็กๆ ที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ฝึกการคิดได้ลงมือทำ ได้ตัดสินใจมาตั้งแต่เล็กๆ  มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ไม่ค่อยให้เด็กได้ลงมือทำอะไรต่ออะไรที่ควรทำได้ตามวัย  พ่อแม่ที่ใจร้อน ขี้รำคาญมักไม่รอให้ลูกคิด ไม่รอให้ลูกทำด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นการทำลายโอกาสที่ลูกจะได้เติบโตทางความคิด ทำให้ง่ายที่จะถูกชักจูง หรือเชื่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาโดยการไตร่ตรอง  ไม่รู้ว่าจะคิดจะตัดสินใจอย่างไร จึงเป็นไปตามกระแสโดยไม่รู้ตัว
               
               การที่พ่อแม่ได้ฝึกฝนให้ลูกคิด ไตร่ตรอง รับฟังลูก จะทำให้ลูกเป็นคนที่คิดก่อนลงมือทำเสมอว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควรทำ มีประโยชน์หรือไม่มี  การหมั่นวิเคราะห์บ่อยๆ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของลูก  เมื่อเด็กๆ เริ่มโตขึ้นพ่อแม่ก็จะไม่มีโอกาสได้ติดตามไปช่วยคิด ช่วยทำเหมือนตอนลูกยังเล็ก เราต้องฝึกให้ลูกได้เติบโตอย่างคนที่คิดเป็นเพื่อพร้อมที่จะยืนได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง

ห่างเหินต่อการพูดคุยเพื่อสร้างค่านิยมร่วมกัน
            เด็กหลายต่อหลายคนขาดโอกาสที่ได้พูดคุยกันเพื่อให้ลูกได้รู้ถึงบรรทัดฐานของครอบ ครัวในเรื่องการแต่งกาย การวางตัวที่ชัดเจน ขาดโอกาสดูแลให้ลูกปฏิบัติตนตามค่านิยมของครอบครัว   รวมไปถึงพ่อแม่เองก็ไม่ชัดเจนในเรื่องค่านิยมเพราะตามกระแสไปเรื่อย หรือสนุกที่จะแต่งตัวลูกให้เกินวัยมาตั้งแต่วัยอนุบาลก็ให้ลูกทำสีผม ไฮไล้ท์ ทาเล็บ แต่งตัวเป็นสาวกว่าวัยไปเป็นสิบปี ทำให้ลูกเกิดความสับสนคิดว่าการแต่งเนื้อแต่งตัวเกินวัยนี้เป็นสิ่งที่ดี  พ่อแม่ต้องตระหนักว่าตนนั้นมีบทบาทสำคัญมากต่อการสร้างค่านิยมที่ดีให้กับลูก   ให้พูดสิ่งที่เป็นค่านิยมที่ถูกต้องของครอบครัวให้ลูกฟังบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าของคนอยู่ที่ความดี ความ สามารถ ความมุ่งมั่น  ค่านิยมในเรื่องของการแต่งกาย กริยามารยาทที่ครอบ ครัวของเราเห็นว่าเหมาะสม และตัวเราก็ต้องมีการปฏิบัติที่ตรงกับสิ่งที่พูด และชื่นชมเมื่อลูกปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ชวนลูกพูดคุย วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสิ่งที่เห็นจากผู้คนรอบตัว และที่ปรากฏในรายการทีวี ในแมกกาซีนต่างๆ และเชื่อมโยงถึงการปฏิบัติของลูก

ไม่ได้รับการเห็นคุณค่า จึงแสวงหาความโดดเด่น
            ในช่วงวัยแรกรุ่นเป็นวัยที่ร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นหนุ่มเป็นสาว จะโตก็ไม่โตเสียทีเดียว ส่งผลถึงภาวะจิตใจที่สับสนในตนเอง การวางตัวก็กระโดกกระเดก จิตใจของเด็กวัยนี้จึงแสวงหาผู้นำทางความคิดและการกระทำ  ถ้าพ่อแม่มีความใกล้ชิด หมั่นพูดคุยกับลูกจะมีหลักคิดและหลักยึด  ไม่เป็นพ่อแม่ที่จะคอยออกคำสั่ง  กำกับ หรือปล่อยปละละเลย  ในขณะที่ธรรมชาติของเด็กวัยนี้พยายามที่จะแสวงหาเอกลักษณ์ของตัวเอง  หากเราช่วยให้ลูกของเราได้ค้นพบความสามารถและมีความพึงพอใจในตัวเอง  บอกตัวเองได้ว่าตนเป็นที่พึงพอใจของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง ลูกก็จะมีความมั่นคงทางจิตใจ ไม่ต้องทำตัวให้แปลกเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือทำให้ตัวดูเด่นด้วยวิธีต่างๆที่น่าดูบ้างไม่น่าดูบ้าง ไม่ต้องแต่งตัวโฉบเฉี่ยวเพื่อสนองความรู้สึกพร่องในตัวเอง
               
                  แต่หากลูกของเราเติบโตมาด้วยความรู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่ ช่วยให้ค้นพบความสามารถของเขาและเราชื่นชม ให้กำลังใจ  รู้สึกว่าพ่อแม่เห็นคุณค่าในตัวเขา ไม่เปรียบเทียบลูกกับพี่หรือน้องตลอดจนคนข้างบ้างให้ลูกรู้สึกด้อยและอิจฉา ลูกก็จะเติบโตอย่างสมวัยพร้อมกับความมั่นคงที่อยู่ภายใน

ให้เวลากับการจับจ่ายมากกว่าให้เวลาดีๆที่บ้าน
            สิ่งสำคัญมากที่ทำให้ลูกของเราเติบโตภายใน หรือแสดงออกอย่างสมวัยนั้น ขึ้นกับความรู้สึกที่ดีต่อการมีชีวิตที่อบอุ่น การได้ลงมือทำกิจกรรมร่วมกันอย่างมีความสุขในบ้าน ได้พูดคุยกัน  หากแต่เราหาความสุขอย่างง่ายๆ ด้วยการจับจ่ายใช้สอย ไปห้างสรรพสินค้าทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ เด็กๆ ก็จะคุ้นเคยกับชีวิตที่แวดล้อมด้วยแฟชั่น สิ่งสวยงาม เสื้อผ้าแพรพรรณนานาชนิด  บทสนทนาของเราก็ล้วนแต่เป็นไปด้วยเรื่องของวัตถุ เรื่องของการบริโภค อย่างนี้ไม่เอื้อให้ลูกเติบโตอย่างคนที่รู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ อย่างมีสติ เพราะใช้เวลากับความสุขแบบฉาบฉวย

                ความรักความอบอุ่นในครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตภายในจิตใจของลูก  และส่งผลให้มีการแสดงออกได้น่ารักอย่างสมวัย

ใช้ชีวิตในโรงเรียนอย่างไรให้เป็นสุข

โดย ธิดา พิทักษ์สินสุข

               การเรียนรู้ในโรงเรียนเป็นแบบฝึกหัดเลียนแบบการใช้ชีวิตจริงในสังคมภายนอกที่มีครูและพ่อแม่ร่วมมือกันคอยประคับประคอง  ให้ลูกได้เรียนรู้และมีค่านิยมที่ดีติดตัวของเขาไป  เมื่อลูกเข้าโรงเรียน  นอกจากเรื่องเรียนแล้วเราคงอยากให้ลูกเป็นที่รักของเพื่อน เป็นที่ยอมรับของครู  แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง  ไม่ใช่ต้องยอมเพื่อน เอาใจเพื่อนจนไม่เป็นตัวของตัวเอง 

องค์ประกอบของความสุข
การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในโรงเรียนนั้น จะต้องมีองค์ประกอบของความสุข ๒ อย่างด้วยกัน
ประการแรก คือ นิสัยดีๆ ที่เพื่อนอยากคบด้วย 
                 ถ้าลูกของเราอยู่ด้วยแล้วกลุ่มมีความสุข นำความสำเร็จมาให้กลุ่ม ใคร ๆ ก็อยากให้ลูกเข้ากลุ่ม ในทางตรงข้ามถ้าลูกเข้ากลุ่มกับใครแล้ววงแตก  ทำให้กลุ่มทะเลาะกัน เอาแต่ใจ เอาเปรียบ อย่างนี้ไม่นานก็ไม่มีใครอยากคบหาด้วย  ปัญหาเรื่องเข้ากลุ่มเพื่อนไม่ได้  ก็จะทำให้ลูกน้ำตาตก  ไม่อยากไปโรงเรียน คราวนี้ก็ถึงคราวที่พ่อแม่จะน้ำตาตก ทุกข์ใจไปกับลูก 
ประการที่สอง คือ ลูกจะมีความสุขได้ต้องเป็นตัวของตัวเอง  
                การพยายามตามใจเพื่อน   คอยเอาใจเพื่อนก็จะทำให้ตัวเองไม่เป็นสุข       บางคนยอมเป็นเจ้าบุญทุ่มของมาแจกเพื่อน   บางคนยอมเป็นตัวตลกในกลุ่ม   บางคนยอมเป็นลูกไล่    เพียงให้เพื่อนยอมรับ  เราคงอยากให้ลูกของเราเป็นที่ยอมรับของเพื่อนได้อย่างสง่างาม  ไม่สูญเสียความแป็นตัวของตัวเอง  คนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราจะทำอย่างไรดีที่จะช่วยสนับสนุนให้ลูกได้ใช้ชีวิตในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข

การส่งเสริมสนับสนุนของพ่อแม่เพื่อให้ลูกมีความสุขที่โรงเรียน                 
๑. สอนให้ลูกรู้จักการรอคอย ไม่เอาแต่ใจตัว
               ลูกต้องรู้จักรอคอยเป็น ไม่ใช่อะไรฉันต้องได้ก่อน อย่างนี้เพื่อนไม่อยากคบ  การรอคอยไม่เป็นจะนำไปสู่นิสัยของการเอาแต่ใจตัว     ขี้หงุดหงิดเมื่อไม่ได้ดั่งใจ   การรอคอยไม่เป็นนี้เกิดจากลูกที่พ่อแม่ ปู่ย่าตายายเอาใจมาก อยากได้อะไรเป็นต้องได้ และได้ทันทีเสียด้วย  ในสังคมจริงไม่มีหรอกค่ะที่จะมีใครมาคอยตามใจได้ขนาดนั้น  ลูกจะลำบากหากมีนิสัยไม่ดีนี้ติดตัวมา การให้ลูกรู้จักการให้โอกาสกับเพื่อน ให้โอกาสกับตัวเอง จะทำให้กลุ่มเด็กๆ อยู่ด้วยกันได้อย่างดี

๒. สอนให้ลูกเป็นคนดี มีน้ำใจ
            คนใจดีใครๆ ก็อยากคบด้วย จริงไหมคะ ต้องสอนให้ลูกมีน้ำใจที่จะช่วยเหลือเพื่อน ช่วยเหลือกิจกรรมหรืองานกลุ่มที่ครูมอบหมายให้   รู้จักแสดงความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเพื่อนเดือดร้อน  บาดเจ็บ  ต้องสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน รู้จักคิดถึงคนอื่น รู้ว่าเพื่อนชอบอะไร ก็นึกถึงและเอาของเล็กๆ น้อยๆ ไปฝาก เป็นการแสดงถึงความนึกถึง  แต่การฝึกตรงนี้พ่อแม่ต้องรอบคอบด้วยนะคะ ไม่อย่างนั้นลูกจะเอาของเล่นเป็นเครื่องมือล่อให้เพื่อนมาคบด้วย  อย่างนี้เพื่อนก็ไม่ได้จริงใจด้วย     แค่คบหาชั่วคราวเพื่อให้ได้ของเล่น  
เรื่องของความมีน้ำใจดีนี้  คุณพ่อคุณแม่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกได้เป็นอย่างดีค่ะ เช่น แบ่งมะม่วงให้กับเพื่อนบ้าน  ไปหนองมนมาก็เอาขนมไปฝากเพื่อนที่ทำงาน การเล่าถึงการช่วยเหลืองานเพื่อนร่วมงาน การแสดงความเห็นใจและให้ความช่วยเหลือเมื่อเพื่อนเดือดเนื้อร้อนใจ  อย่างนี้เรียกว่าการสอนลูกด้วยวิธีการเป็นแบบอย่าง ซึ่งเป็นการสอนที่ได้ผลที่สุดค่ะ

๓.สอนให้ลูกรู้จักสร้างข้อตกลง  เคารพกฎกติกา
            สิ่งที่ช่วยให้เด็กๆ อยู่ร่วมกันได้ดีนั้น พ่อแม่ต้องฝึกให้เขารู้จักสร้างข้อตกลง  ฝึกให้เขารักษากฎ กติกา ข้อตกลง  บ่อยครั้งที่พ่อแม่อย่างเราๆ ติดที่จะสั่งโน่น ห้ามนี่โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้มีทักษะในการกำหนดข้อตกลงด้วยตนเอง  เช่น ให้ลูกเสนอมาว่าถ้าลูกจะออกไปเตะบอลกับเพื่อนลูกจะต้องทำอย่างไรบ้าง  และให้ลูกให้เหตุผลประกอบด้วย  ฝึกให้เขารักษาข้อตกลง  วิธีนี้จะทำให้ลูกกลายเป็นผู้นำกลุ่มที่ดี ที่จะชวนเพื่อนสร้างข้อตกลงที่สมเหตุสมผล และกลุ่มเองก็มีหลักในการอยู่ร่วมกันภายใต้กติกา  เพื่อนจะยอมรับ นับถือและรับฟังความคิดเห็นของลูก

๔. สอนให้ลูกมีทักษะการเจรจา
            ทักษะการเจรจาที่สำคัญประการแรก คือ ทักษะการเจรจาโน้มน้าว และนำเสนอความเห็น  ทักษะนี้ฝึกได้โดย  ให้ลูกให้เหตุผลเมื่อเขาต้องการอะไร หรือต้องการทำอะไร และเหตุผลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์ต่อตนเองและขณะเดียวกันก็ต้องนึกถึงผู้อื่นด้วย  เช่น  อยากให้พาคุณพ่อคุณแม่พาไปสวนสนุก  ให้ลูกให้เหตุผล และให้เสนอว่าจะไปได้อย่างไร ขณะที่ทุกคนก็มีงานอื่นต้องทำ ลูกก็จะพยายามหาเหตุผลมาโน้มน้าว  และเสนอการให้ความช่วยเหลือคนอื่น หรือเสนอทางออกให้ 
               ทักษะการเจรจาที่สำคัญอีกทักษะหนึ่ง คือ ทักษะการเจรจาสันติภาพ  เราจะพบว่าปัญหาทะเลาะกันในกลุ่มเด็กจะลดลงได้ ถ้าเพื่อนในกลุ่มบางคนเสนอทางออกด้วยการเจรจา ด้วยการต่อรอง ด้วยการเสนอทางออก  แทนที่จะใช้กำลัง ใช้วาจารุนแรงต่อกัน  การทำอย่างนี้ลูกจะเป็นที่รักของกลุ่มเพื่อน  เพราะเป็นคนที่สามารถหาทางออกที่ดีให้กับกลุ่มได้    การฝึกฝนลูกในเรื่องนี้ที่ได้ผล คือ การที่เราให้เหตุผลกับลูกอยู่เสมอ  เมื่อลูกทำผิดก็ไม่ใช้ความรุนแรง ด้วยการฟาดการตวาด แต่ใช้การพูดคุยเพื่อให้ลูกสำนึกผิด หรือใช้วิธีการสร้างเงื่อนไขโดยงดสิ่งที่ลูกชอบ เป็นต้น

๕. สอนให้ลูกเป็นคนช่างคิด ช่างทำ
            เด็กๆ ที่ช่างคิด ช่างทำ คือเด็กที่เป็นนักสร้างสรรค์  เพื่อนๆ จะรัก และมักจะเป็นคนที่นำความสำเร็จมาสู่กลุ่มอยู่เสมอ  เวลาที่คุณครูให้เข้ากลุ่มใครๆ ก็อยากให้ลูกเข้ากลุ่มด้วย  การฝึกฝนลูกในเรื่องนี้  คุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นเรียกลูกมาช่วยงาน เช่น ไปล้างรถกับคุณพ่อ ช่วยคุณแม่ล้างจาน แม่   ให้มอบหมายหน้าที่ประจำในงานส่วนรวมของบ้าน เช่น กรอกน้ำเข้าตู้เย็น ตักข้าวให้ทุกคน
ลูกที่ช่วยทำงานเป็นประจำจะเป็นคนที่จะทำอะไรก็คล่องแคล่ว  ไม่งุ่มง่าม เงอะงะ  ขณะให้ลูกช่วยงานอย่าบ่นว่า  แต่ให้มีบรรยากาศที่ดีของการทำงานร่วมกัน  ให้ชมเชยลูก ยอมรับความผิดพลาดของลูกได้ ทำให้ลูกรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยงานคุณพ่อคุณ
               นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้เป็นผู้นำเสนอความคิด  และสนับสนุนความคิดของลูกเพื่อให้ลูกประสบความสำเร็จ  แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ  เช่น ลูกอาจเสนอว่าบ้านเราน่าจะปลูกดอกไม้ที่มีหลายๆ สีบ้าง  อะไรที่เห็นว่าทำได้ก็ควรสนับสนุน ด้วยการชวนกันไปเลือกไม้ดอก แล้วมาปลูกด้วยกัน 

๖. สอนให้ลูกเป็นเด็กดีกับคุณครู  แต่ไม่ชูตัวเองเด่น
               เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนคงสอนให้ลูกเป็นดี  เด็กที่เชื่อฟังคุณครู  หรือให้ช่วยเหลืองานคุณครู แต่อย่าลืมสอนลูกด้วยนะคะว่า จะต้องไม่ทำให้เกินหน้าเพื่อน เพื่อนจะอิจฉาที่ครูมาให้ความสนใจ     หรือชมเชยอยู่ตลอดเวลา ควรสอนลูกให้ชวนเพื่อนทำความดี   เรียกว่าเปิดโอกาสให้เพื่อนสร้างผลงานด้วย  อย่างนี้ครูก็รักโดยไม่เป็นที่น่าหมั่นไส้ หรือเป็นที่อิจฉาของเพื่อน ๆ

               จะเห็นว่าการฝึกฝนให้ลูกเป็นเด็กที่มีทักษะทางสังคมที่ดีดังกล่าวข้างต้นนี้  เป็นการสร้างตัวตนของลูกให้เป็นคนที่มีคุณค่าต่อตนเอง ต่อคนอื่น ลูกจะเป็นที่รักของเพื่อน  โดยไม่จำเป็นต้องไปตามใจเพื่อนจนเสียความเป็นตัวของตัวเอง   และยังเป็นคนที่มีนิสัยที่น่ารัก เป็นเสน่ห์ติดตัว ใครเห็นใครก็รัก ใครเห็นใครก็เอ็นดู

เด็กกับทีวี

โดย ธิดา  พิทักษ์สินสุข
   สำหรับเด็กๆ วัยอนุบาลและวัยประถมดูเหมือนว่าคุณพ่อคุณแม่จะจัดหาทีวีไว้เป็นเครื่องสร้างความบันเทิงให้ลูกน้อย  ให้เป็นทั้งเพื่อนแก้เหงา แก้เบื่อ  ให้เป็นเพื่อนที่พาไปท่องโลกกว้าง  ให้เป็นพี่เลี้ยงยามไม่มีใครมาเล่น มาพูดคุยด้วย  สุดท้ายในหลายบ้านทีวีกลับกลายร่างเป็นเจ้าตัวปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่แก้ไม่ตก


ลูกปักหลักหน้าจอทีวี มีผลอย่างไร
              ลองเปรียบเทียบดูระหว่างเด็กสองคน  บางวันน้องภูมิออกไปถีบจักรยาน  บางวันก็ออกไปเตะบอลอยู่ที่สนาม บางวันก็ไปช่วยคุณพ่อล้างรถ  แล้วค่อยมานั่งพักดูทีวีนิดหน่อย แล้วไปอาบน้ำ   ส่วนน้องเมย์เอาเวลาเดียวกันนั่งดูทีวีช่อง 3 จบเปลี่ยนไปดูช่อง 5 แล้วก็เปลี่ยนไปดูช่อง9 สลับไปสลับมาจนพลบค่ำ  จะเกิดอะไรกับเด็กสองคนนี้

ผลต่อสุขภาพ   คงได้คำตอบตรงกันว่าสุขภาพของเด็กสองคนข้างต้น  ใครจะดีกว่ากัน  ขณะที่วัยของลูกกำลังเจริญเติบโต ต้องการการออกกำลังกาย  พฤติกรรมของลูกกลายเป็นการนอนเอกเขนก ตาจับจ้องอยู่หน้าจอทีวี แถมบางบ้านยังมีขนมนมเนย  น้ำหวานพร้อมขนมกรุบกรอบ เอื้อให้ลูกปักหลักอยู่แต่หน้าจอทีวี  เรากำลังทำอะไรกับสุขภาพของลูก  หากเป็นเช่นนี้นานๆ ไม่รีบปรับวิถีชีวิตใหม่ โรคอ้วน  โรคอืดอาด และความอ่อนแอก็จะถามหา   ขณะเดียวกันความกระตือรือร้นที่อยากทำโน่นทำนี่ก็จะลดลง   คิดออกอย่างเดียวว่าจะเปิดทีวีดู  เพราะเป็นความสุขที่หาได้ง่ายเพียงแค่หยิบรีโมทเท่านั้น  

ผลต่อการคิดและแก้ปัญหา  แต่ละวันของน้องภูมิที่มีกิจกรรมที่หลากหลาย  คือประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้คิด  ได้ทดลอง  เกิดการค้นพบและฝึกฝนที่จะแก้ปัญหา รวมถึงได้สร้างสรรค์วิธีการเล่นใหม่ๆ  น้องภูมิเกิดการเรียนรู้มากมายจากการลงมือทำด้วยตนเอง  ขณะที่น้องเมย์ที่เอาแต่ดูทีวี  การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะเทียบกันไม่ได้  ถ้าเป็นอย่างนี้จากวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี  ทีวีก็จะเป็นตัวสกัดกั้นพัฒนาการด้านสติปัญญาของลูกอย่างน่าเสียดายทั้งๆที่เป็นช่วงที่สมองของลูกจะกำลังเติบโตและพัฒนา

ผลต่อการเอาแต่ใจและทักษะทางสังคม  เมื่อลูกอยู่กับทีวีตามลำพัง  ลูกควบคุมทุกอย่างได้หมด  ไม่ชอบใจช่องที่ดูอยู่ก็เปลี่ยนไปดูอีกช่อง  เบื่อไม่อยากดูแล้วก็กดปุ่มเปลียนช่องไปอีก ทีวีก็ไม่เคยขัดใจ  ลูกก็เคยชินกับการทำตามใจตัวเอง  ลูกที่อยู่กับทีวีตามลำพังเสมอๆ  วันใดที่คุณพ่อคุณแม่มานั่งดูทีวีด้วย  คุณพ่อคุณแม่ก็จะรู้ว่าตัวเองนั้นได้เสียสิทธิที่จะได้เลือกช่องตามต้องการ  เพราะเมื่อเปลี่ยนช่องคราใดก็จะตามด้วยเสียงโวยวายของลูกที่ไม่ยอมถูกขัดใจ  การอยู่กับทีวีกับการอยู่กับผู้คนก็จะต่างกัน เพราะถ้าอยู่กับผู้คนเด็กๆ  ก็จะเรียนรู้ที่จะต้องปรับตัว  รู้จักการพูดจาต่อรอง  การประนีประนอม  การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความต้องการระหว่างกัน นั่นคือ ลูกจะเกิดการพัฒนาทักษะทางสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น 

ผลต่อการเรียนในชั้นเรียน  เมื่อลูกอยู่หน้าจอทีวีภาพในจอทีวีมีการเคลื่อนที่ที่เร็วมาก  มีการตัดต่อภาพหลายภาพให้ปรากฏในแต่ละนาที  ลูกก็จะเคยชินกับความเร็ว  เหมือนกับที่เราคุ้นเคยกับการทำงานกับคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง เมื่อต้องทำงานกับรุ่นที่มีความเร็วต่ำกว่าที่เคยใช้ เราจะรู้สึกหงุดหงิดทันที  ลูกของเราก็เช่นกันเมื่อเคยชินกับความเร็ว ก็ไม่ค่อยจะอดทนที่นั่งทำกิจกรรมที่ต้องใช้เวลา เช่น การอ่านหนังสือ  การทำงานที่ต้องใช้ความประนีต  ไม่ค่อยจะอดทนรอ  ไม่ค่อยมีสมาธิจดจ่อกับการเรียน   
นอกจากนี้เด็กที่ติดทีวี มักจะทำให้มีผลต่อสิ่งที่คุณครูมอบหมายให้กลับมาทำที่บ้าน  เช่น การทบทวนหรือค้นคว้า เรื่องที่เรียน  หรือการทำการบ้าน  เมื่อคุณแม่เตือนให้ทำก็จะผลัดไปเรื่อยๆ  จนเริ่มค่ำก็ยังไม่ได้ทำการบ้าน  เกิดศึกระหว่างแม่กับลูก  เด็กที่ติดทีวีก็จะนอนดึกและเมื่อถูกปลุกไปโรงเรียนตอนเช้าก็จะเริ่มวันด้วยความหงุดหงิด  งัวเงียไม่ยอมรับประทานอาหารเช้า  พอมาโรงเรียนเรียนไปไม่นานก็จะทั้งหิว ทั้งง่วง ปนหงุดหงิด ไม่เป็นผลดีต่อการเรียนรู้ของลูกอย่างมาก

อาการของลูกที่ส่อแววว่าทีวีจะมีภัย  
หากลูกของเรานั่งอยู่หน้าจอตอนเย็นนานกว่าการทำกิจกรรมอื่นๆ รวมกัน  ลูกดูทีวีดึกทำให้นอนไม่พอมีอาการหงุดหงิดตอนตื่นนอนเช้า  ลูกขาดความกระตือรือร้น  อ้วนและไม่ชอบออกกำลังกาย  ครอบครองทีวีเป็นของส่วนตนไม่ใช่ของส่วนรวม  ไม่มีสมาธิในการเรียน อย่างนี้ต้องเริ่มจัดการกับการดูทีวีของลูกโดยด่วนแต่อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทำอย่างไรให้ทีวีไม่มีภัยแต่ให้คุณค่า
            เลือกรายการที่ดี  และอยู่ดูกับลูก  รายการทีวีบางรายการให้ความรู้สู่โลกกว้างกับลูก  บางรายการก็นำความบันเทิงใจมาสู่ลูก  ชวนลูกวิเคราะห์ดูว่าเรื่องที่ดีนั้นให้ข้อคิดอะไรกับลูกบ้าง  อะไรที่ควรทำตามอย่าง อะไรที่ไม่ควรทำ  ให้รายการทีวีเป็นเรื่องที่นำมาให้ลูกได้เกิดการเรียนรู้ การปล่อยให้ลูกอยู่กับทีวีลำพังกับบางรายการ  ย่อมเป็นผลเสียเพราะลูกยังแยกแยะไม่ออกว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ยังต้องการการชี้แนะจากผู้ใหญ่
กำหนดเวลาในการดูทีวี  กำหนดเวลาในการดูทีวีให้แน่นอน พยายามลดเวลาในการดูทีวี ด้วยการชวนลูกทำกิจกรรมอื่นแทน เช่นการเล่นของเล่น  การเล่นออกกำลังกาย การช่วยงานคุณพ่อคุณแม่  
ดูทีวีให้ถูกที่ ถูกเวลา ไม่ควรให้ลูกทำการบ้าน ค้นคว้าหรือทบทวนเรื่องเรียน  หน้าจอทีวี  ไม่อย่างนั้นทำไม่เสร็จซักที  จะพบว่าในรายที่คุณแม่ให้ลูกทำการบ้านให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเปิดทีวี จะประสบความสำเร็จดีกว่าให้ดูทีวีก่อนทำการบ้าน  เพราะเหมือนกับว่าเมื่อลูกรับผิดชอบหน้าที่เรียบร้อย ก็จะได้ดูทีวีเป็นการให้รางวัล   ควรจัดที่ทำการบ้านอ่านหนังสือที่ปราศจากทีวีรบกวนสมาธิ  ไม่ควรให้ลูกดูทีวีไปทำการบ้านไป หรือดูทีวีไปรับประทานอาหารไป  เพราะจะใช้เวลานานมากกว่าจะเสร็จ   คุณแม่บางคนสร้างปัญหาให้กับตัวเองด้วยการเปิดทีวี เปิดวิดีโอให้ลูกดูการ์ตูนตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน   คราวนี้ก็ต้องออกรบกันทุกวันที่จะให้ลูกยอมปิดทีวีแล้วไปโรงเรียน 

เอสโอเอส ทำอย่างไรลูกติดทีวีไปแล้ว
               ก่อนอื่นเลยต้องถามตัวเองก่อนว่าคุณพ่อคุณแม่มีความตั้งใจจริงหรือไม่ที่จะปรับพฤติกรรมการดูทีวีของลูก  เพราะระยะเวลาของการปรับความเคยชินนั้น  คุณพ่อคุณแม่ต้องกำกับดูแลด้วยความเอาใจใส่   ให้กำลังใจและชื่นชมลูกทันทีที่ลูกมีพฤติกรรมเป็นไปตามความคาดหวัง  และต้องแสดงท่าทีชัดเจนเพื่อยืนยันให้ลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่มีความตั้งใจให้ลูกเกิดการเปลี่ยนแปลง  และต้องติดตามอย่างต่อเนื่องจนกว่าลูกจะเปลี่ยนจากกิจวัตรเดิมที่อยู่หน้าจอที่ดีให้ได้ ถ้ามั่นใจว่ามีความตั้งใจจริง  ลูกก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้
·      ให้ลูกมีส่วนร่วมกำหนดเวลาของการดูทีวี  พูดคุยกับลูกถึงผลของการติดทีวีที่ให้ผลเสียกับลูก  แล้วช่วยกันสร้างข้อตกลงว่าจะค่อยๆ ลดเวลาการดูทีวีอย่างไร  เอาทีละขั้นให้ลูกพอจะทำได้  มีความเป็นไปได้  แล้วประสบความสำเร็จไปทีละขั้นตอน  อย่าลืมชื่นชมเมื่อลูกทำได้  จะได้เป็นกำลังใจให้ทำดีต่อไปอย่างต่อเนื่อง
·      ตกลงให้ลูกรู้ว่าทีวีนั้นเป็นของส่วนกลาง  ไม่ใช่ของที่ลูกจะจับจองอยู่คนเดียวเพราะฉะนั้น บางเวลาก็เป็นรายการโปรดของคุณพ่อ  บางรายการก็เป็นรายการโปรดของคุณแม่ 
·      ควรพูดคุยกับลูกเพื่อที่นำทีวีออกไปจากห้องนอนของลูก ให้มาอยู่ที่ส่วนกลางของบ้าน  หรือหาวิธีที่จะเอาทีวีไปซ่อม   แล้วไม่ควรเอากลับเข้าห้องนอนลูกอีก
·      ผู้ใหญ่ทุกคนในบ้านควรเห็นพ้องต้องกันและปฏิบัติกับลูกไปในทิศทางเดียวกัน   
                             
ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ประสบความสำเร็จในการปรับพฤติกรรมของลูกในเรื่องการดูทีวี  และหากจัดการเรื่องทีวีได้  การฝึกวันัยเรื่องอื่นใดก็ไม่ใช่เรื่องยาก