วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ของเล่น...ที่มากกว่า ..ของเล่นเพื่อเล่นสนุก

หากเรามองของเล่นเป็นแค่”ของเล่นเพื่อเล่นสนุก” ก็จะไม่แปลกใจที่จะเห็นเด็กบางคนถือปืน ถือดาบวิ่งยิงไปฟันไปอย่างสนุกสนานทุกเย็นที่กลับจากโรงเรียน หรือเห็นพ่อที่ชอบซื้อแต่หุ่นยนต์ให้ลูกเล่นตัวแล้วตัวเล่า หรือเห็นเด็กบางคนเล่นรถบังคับวิทยุ วิ่งชนฝา ชนประตู ล้มคว่ำคะมำหงายพังแล้วก็ซื้อมาเล่นกันใหม่ พอใจและสุขใจที่เห็นลูกสนุกกับของเล่น หากคิดเพียงแค่นั้นลูกๆ ของเราก็คงได้ประโยชน์จากการเล่นของเล่นเพียงแค่ส่วนเดียว แต่อีกส่วนที่สำคัญมากและลูกของเราจะขาดไปก็คือ การเล่นเพื่อเรียนรู้และพัฒนา

ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น

ปัจจุบันมีนักการศึกษาทั้งในและต่างประเทศได้พูดถึงกันมากในเรื่องของพีคิว (PQ..Play Quotient) หรือ ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น เพราะเชื่อกันว่าเด็กสามารถพัฒนาความสามารถได้อย่างรอบด้านจากการเล่น ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย การทำงานอย่างสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา ด้านอารมณ์ จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา การเล่นเป็นกิจกรรมที่เด็กชอบอย่างเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว การเรียนรู้และพัฒนาผ่านการเล่นจึงเกิดขึ้นได้โดยง่ายและรวดเร็ว

การเลือกของเล่นให้เด็ก ...

ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่นำมาสู่การพัฒนาเด็กผ่านการเล่น จึงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาให้มากกว่าเล่นเพื่อสนุกเสียแล้ว ในเมื่อการเล่นเป็นการพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน ดังนั้น ของเล่นที่นอกจากปลอดภัยและเหมาะกับวัยแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องให้เด็กได้มีของเล่นที่เล่นแล้วให้ประโยชน์กับเด็กอย่างหลากหลาย ไม่ใช่เล่นสนุกอยู่กับของเล่นประเภทเดียวหรือน้อยประเภท เช่น
                  ได้เล่นกับลูกบอล ได้เล่นของเล่นปีนป่าย ได้ถีบจักรยาน เพื่อให้แขนขา
                                แข็งแรง   รู้จักทรงตัว กะระยะ
                  ได้เล่นกับของเล่นที่ได้ใช้มือกับตาทำงานประสานกัน เช่น ภาพตัดต่อ
                                การต่อบล็อก การร้อยลูกปัด
                  ได้เล่นสมมุติ จินตนาการ กับตุ๊กตา ตัวสัตว์จำลอง บ้านจำลอง เครื่องครัว เครื่องแต่งกาย
                  ได้พัฒนาด้านสติปัญญาการเรียนรู้ จากการเล่นของเล่นที่เป็นเกมฝึกการคิด ของเล่นที่เกี่ยวกับการคิดแก้ปัญหา การคิดเชื่อมโยง การสังเกต ความจำ ของเล่นที่ได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ จากการเล่นบล็อก ตัวต่อพลาสติก แป้งโด ตัวต่อแม่เหล็ก
                   ได้เล่นของเล่นที่ทำให้เด็กสงบ ต้องใช้ความอดทนพยายามในการประดิษฐ์หรือประกอบขึ้นเอง เช่น ประกอบชิ้นส่วนไดโนเสาร์ ประกอบชิ้นส่วนเครื่องบิน บ้าน การประดิษฐ์ของใช้จากวัสดุต่างๆ          
                   ได้เล่นของเล่นที่ให้ปฏิบัติตามกติกาข้อตกลงเมื่อเล่นร่วมกัน เช่น เกมฝึกความจำ เกมโดมิโน
ขณะที่เด็กๆ เล่นกับของเล่นที่หลากหลายก็เหมือนกับเขาได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานกับครูหลากหลายสาขาวิชา

สนุกไปกับการเล่นของเด็ก ขณะเด็กเล่นของเล่นพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ควรหาโอกาสเล่นกับลูกและได้สังเกตการเล่นของลูกไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นความสามารถ วิธีคิด วิธีแก้ปัญหา และพัฒนาการของลูก ชวนลูกคิดวิธีเล่นใหม่ๆ ได้ให้ลูกมีโอกาสเป็นผู้นำในการเล่น ชวนให้สังเกตและทดลอง ภายใต้บรรยากาศของการเล่นอย่างสนุกสนาน

ของเล่น..เครื่องมือฝึกฝนนิสัยที่ดี

ของเล่นเป็นเครื่องมือฝึกฝนที่ดีในเรื่อง ความรับผิดชอบ ความมีระเบียบเรียบร้อย การยอมรับและปฏิบัติตามกติกา ความอดทน เพียรพยายาม สุดท้าย เล่นเสร็จแล้วอย่าลืมให้เด็กๆ เก็บของเล่นเข้าที่ให้เรียบร้อย ฝึกกันเสียตั้งแต่เล็กแต่น้อย อย่าปล่อยให้เด็กๆ โตขึ้นพร้อมกับนิสัย “ไร้ความรับผิดชอบ”

วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

ปิดป้าย ตีตรา ฝันร้ายของเด็กๆ


ธิดา พิทักษ์สินสุข

ภาพจาก http://www.humanclinic.net/

                ป้าย” ของคุ้นเคยของคนยุคนี้  จะซื้อจะหาอะไรเขาก็บอกให้อ่าน “ป้าย” ที่บอกคุณสมบัติ บอกวันผลิต บอกราคา บอกอะไรต่อมิอะไร ให้ละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ เหตุฉะนี้หรือเปล่าคะเราเลยคุ้นเคยที่จะ ปิดป้าย ตีตรา บอกคุณสมบัติ ระบุวิธีใช้ แถมด้วยตีตรารับรองมาตราฐานของสถาบันต่างๆ ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเป็นการยกระดับสู่มาตราฐานสากล สำหรับข้าวของเครื่องใช้สินค้าอุปโภคบริโภค ป้ายเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์นะคะ แต่กับผู้คน ตลอดชีวิตของหนึ่งชีวิตมีรายละเอียด มีเรื่องราวมากมาย และที่สำคัญชีวิตไม่เคยหยุดนิ่ง การที่จะถูกปิดป้าย ตีตรา บอกคุณสมบัติไว้ อย่างใดอย่างหนึ่ง คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกที่ควร และคนเราก็ไม่ควรถูกจำกัดสิทธิของความเป็นคนความเป็นมนุษย์ด้วยการตัดสินของใครๆ   เชื่อว่าพวกเราทุกคนก็คงเคยมีประสบการณ์กับเรื่องเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกตีตรา  หรือไปตีตราให้คนอื่น โดยไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี แต่อาจจะไม่ทันคิด ชีวิตที่มีจิตใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องซับซ้อน คงไม่เหมาะกับการที่จะต้องถูก “ปิดป้าย ตีตรา” หรอกนะคะ

ปิดป้าย...ตีตรา
          ใครจะไปคิดล่ะคะ ว่าการหยอกล้อด้วยความเอ็นดู จะสามารถสร้างผลกระทบในทางลบให้กับเด็กๆได้   ณ ห้วงเวลานั้นการหยอกล้อก็ดูเหมือนว่าจะนำความสุข สนุกสนานมาสู่ทุกฝ่าย   เรามักได้ยินเสียงเรียกประเภท เจ้าอ้วน เด็กหญิงตุ้ยนุ้ย เจ้าตัวแสบ... อยู่บ่อยๆ  และน้ำเสียงในการเรียกก็จะเปี่ยมไปด้วยความรัก ความเอ็นดู แต่ทำไมถึงจะมีผลทางลบได้   สิ่งที่เกิดขึ้นกับการเรียกขานเช่นนี้บ่อยๆ ทำให้เด็กเชื่อไปเองโดยไม่รู้ตัว ว่าเราจะต้องอ้วน จะต้องตุ้ยนุ้ย จะต้องคงความเป็นเจ้าตัวแสบไว้ เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่รัก ผู้ใหญ่เอ็นดู แล้วพวกเขาก็จะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้จนเติบใหญ่  เพราะเชื่อไปแล้วว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น นี่ล่ะคะการปิดป้าย ตีตราให้กับเด็กๆ โดยไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่สร้างผลกระทบระยะยาว ถึงแม้ว่าจะเป็นการตีตราในเชิงบวกก็ตาม แล้วถ้าเด็กๆบางคนเกิดโชคร้ายถูกตีตราในเชิงลบ จะเกิดอะไรขึ้น ผลที่ตามมาคงไม่ใช่เรื่องที่น่าชื่นชมอย่างแน่นอน

ใจเขา...ใจเรา

ภาพจาก http://www.kburgin.typepad.com/


            หากลองมองย้อนกลับไป กลับไป ในอดีต คงมีบางช่วงบางตอน หรือสำหรับบางคนอาจจะมีหลายช่วงหลายตอนที่เราได้รับฉายา หรือคำจำกัดความบางคำที่บ่งบอกลักษณะ หรือพฤติกรรมที่เราทำบ่อยๆในช่วงนั้น   หลายๆครั้งก็เป็นความอิ่มเอมกับความเอื้อเอ็นดูที่ได้รับ  แต่อาจจะมีบางครั้งบางทีที่ชวนให้น้อยใจเสียใจกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ลองคิดดูเล่นๆนะคะถ้ามีเด็กคนหนึ่งที่รับประทานเก่งมากๆแล้วผู้ใหญ่ที่พบเห็นก็ชมว่าเป็น “แชมเปี้ยน” กินเก่งจริงๆ กินเก่งอย่างนี้จะไดโตไวๆ กับ ผู้ใหญ่อีกคนที่เห็นแล้วก็พูดว่าทำไม “ตะกละ” อย่างนี้ กินเท่าไหร่ไม่รู้จักพอ เด็กคนเดียวกัน เหตุการณ์เดียวกัน แต่ถูกมองในมุมที่ต่างกันสุดขั้ว แล้วก็ตีตราให้เด็กอย่างที่ตนเองคิด ลองคิดถึงใจของเด็กคนนั้นดูซิคะ ว่าถ้าเขาได้ยินคำว่า “แชมเปี้ยน” เขาจะรู้สึกอย่างไร และถ้าโชคร้ายได้ยินคำว่า “ตะกละ” แทน เขาจะรู้สึกอย่างไร คงไม่ต้องตอบ ไม่ต้องบรรยายนะคะ ใจเขา...ใจเรา
           
ไม่มาก ไม่น้อย...พอดี พอดี
            ทุกคนคงเห็นด้วยนะคะว่า พอดี พอดี นี่ยากที่สุด กับทุกๆเรื่อง กับทุกๆคนเลยค่ะ สำหรับผู้ใหญ่การที่จะยอมรับและปล่อยวางกับบางเรื่องบางอย่างที่มากไปบ้างน้อยไปบ้างก็อาจจะไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่กับเด็กๆสิ่งที่กระทบกับใจมันก็จะมีผลกับใจในทันทีทันใด ยอมรับหรือปล่อยวางคงเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะเข้าใจ  ผลกระทบอาจไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมในทันที แต่มันจะค่อยๆสะสม ค่อยๆกัดกร่อน หรือบางครั้งก็ค่อยๆสร้าง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม เป็นนิสัย ทั้งในทางบวกและทางลบ ขึ้นอยู่กับตัวเหตุปัจจัย ผู้ใหญ่บางคนก็จะชื่นชมลูกหลานของตัวอย่างมากมาย ลูกดีที่สุด เก่งที่สุด ฉลาดที่สุด ลูกเป็นที่หนึ่งเสมอ บอกกันทุกบ่อย บอกกันทุกวัน ทราบหรือไม่ค่ะว่าคำชมเหล่านี้กลับกลายไปเป็นความคาดหวัง และสร้างแรงกดดันให้เด็ก ว่าจะต้องพยายามดี พยายามเก่ง และต้องเป็นที่หนึ่งเสมอ การที่เด็กจะต้องดันตัวเองตลอดเวลาเพื่อรักษาสถานภาพของการเป็นคนเก่งคนดีอยู่ตลอดเวลา ไม่น่าจะสนุกเลยนะคะ ชีวิตวัยเยาว์ที่ควรจะสดชื่นรื่นรมย์มันหายไป น่าเสียดายนะคะ
            ในทางกลับกันเด็กบางคนก็จะถูกดุ ถูกว่าอยู่ตลอดเวลาว่า ดื้อที่สุด ซนที่สุด

ภาพจาก http://www.ourinterestingworld.ru/


ขี้เกียจที่สุด หรือที่เลวร้ายกว่านั้นก็ถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กขี้โกหก เป็นเด็กขี้ขโมย บางคนโดนตีตรามาตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อยยังเป็นเด็กอนุบาลอยู่เลย อาจจะยังไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำว่าขโมยคืออะไร  หนูแค่เห็นมันวางอยู่บนโต๊ะ ไม่เห็นมีใครสนใจ หนูอยากได้หนูก็เลยหยิบมา ไม่ได้แอบหยิบนะคะ แต่ผู้ใหญ่ก็รุมกันว่าหนูว่าขี้ขโมย ถึงจะไม่เข้าใจว่าขโมยคืออะไร แต่การดุ การว่ากล่าว หรือแม้แต่การลงโทษที่ผู้ใหญ่กระทำ มันก็ทำให้หนูรู้ได้ว่ามันต้องเป็นสิ่งเลวร้ายมากแน่ๆ   หากเด็กๆ ถูกดุ ถูกตำหนิ ถูกปิดป้ายตีตราอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เด็กก็จะเชื่อเหมือนกันว่าตัวเองไม่ใช่เด็กดี และไม่มีวันเป็นเด็กดี ถ้าหากเด็กเชื่อเช่นนั้นแล้ว ความพยายามที่จะเป็นเด็กดีก็คงไม่ค่อยจะมีเท่าไหร่ หรือหากแย่ไปกว่านั้นสำหรับเด็กที่โตขึ้นอีกนิดก็อาจจะมีการกระทำเพื่อเป็นการประชดชีวิต ประชดผู้ใหญ่ไปเสียเลย แล้วถ้าชีวิตของเขาไม่โชคดีไปเจอจุดพลิก
ผัน เราก็อาจจะต้องสูญเสียโอกาสที่จะมีอนาคตดีๆของชาติไปอีกคน ถ้าเป็นเช่นนั้นมันก็น่าเศร้าใจนะคะ
            ก็อยากให้พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่พยายามที่จะทำอะไรที่พอดี พอดี จะชื่นชมก็พอเหมาะพอสม พยายามชื่นชมกับการกระทำมากกว่าตัวบุคคล จะดุจะตำหนิก็ตำหนิที่การกระทำ ไม่ใช่ที่ตัวบุคคลเช่นกัน หากพยายามทำกันให้ได้เช่นนี้ เราคงได้เห็นอะไรที่พอดี พอดี มากขึ้น และบ่อยขึ้นนะคะ
           
ฝันดี ไม่มีป้าย
            มาถึงตรงนี้สะดุดใจกันบ้างหรือไม่ค่ะว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรไปโดยไม่รู้ และไม่มีเจตนา ไปไม่น้อย มันน่าตกใจเหมือนกันนะคะที่ได้รู้ว่า การชื่นชม การหยอกเอิน
ซึ่งเป็นเรื่องดีกลับไปสร้างผลกระทบทางลบได้ นอกเหนือไปจากที่เราอาจเคยได้ยินบ่อยๆว่าอย่าชมมากนักเดี๋ยวจะเหลิง หรือบางทีเราก็อาจเคยไปว่าไปตัดสินใครๆโดยไม่ทันคิดเช่นกันว่าจะไปสร้างบาดแผลในใจให้เขาหรือเปล่า โดยเฉพาะกับเด็กๆ ช่วยกันเถอะนะคะคิดทบทวนสักนิดก่อนที่จะว่า จะตัดสินอะไรใคร พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการปิดป้าย ตีตรา ที่จะเป็นฝันร้ายของเด็กๆ มาช่วยกันดูแลให้พวกเขาเติบโตอย่างงดงาม เปลี่ยน ฝันร้าย เป็น ฝันดี...ไม่มีป้าย นะคะ



สอนลูกให้ทำงานบ้าน

ธิดา พิทักษ์สินสุข


ภาพจาก http://www.simplemom.net/

                งานบ้าน” คุณได้ทำบ้างหรือไม่คะ ยุคสมัยนี้ในบ้านเรา...เมืองไทยอันเป็นที่รัก ถ้าพูดถึง”งานบ้าน”คงจะแบ่งคนได้เป็นสองพวกใหญ่ๆ พวกแรก ทำงานบ้านเอง กับพวกที่สองไม่เคยทำงานบ้านเอง ก็ไม่แน่ใจนักนะคะว่าพวกไหนจะมากกว่ากัน แต่ดูเหมือนว่าสำหรับคนในเมืองพวกที่สองดูน่าจะมากกว่า แม้ว่าคนสมัยนี้จะนิยมแยกออกมาอยู่เอง
แต่ก็มักจะไม่ทำงานบ้านเอง เพราะยุคนี้เป็นยุคของมืออาชีพ มีแม่บ้านมืออาชีพให้บริการอยู่ทั่วหัวระแหง ก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับครอบครัวที่ไม่ได้ทำงานบ้าน และลูกๆก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในชีวิตจากการช่วยทำงานบ้าน คุณพ่อคุณแม่ลองมาดูแลบ้านเองและสอนลูกๆให้ช่วยทำงานบ้านกันบ้างดีกว่านะคะ

บทเรียนชีวิต 101


ภาพจาก http://www.hobomama.com/

           “งานบ้าน” เป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงชีวิต เป็นเรื่องที่จะหลีกเลี่ยงหรือละเลยไม่ได้ แต่ไม่ต้องทำเอง...ได้! นั่นก็เลยเป็นเหตุให้คนหลายๆคนเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะสำคัญในการดำรงชีวิต ทักษะที่ว่านี้ไม่ใช่แค่การทำงานบ้านเป็นนะคะ แต่จากการได้ช่วยทำงานบ้านตั้งแต่เด็ก เด็กจะได้เรียนรู้ ได้ฝึกฝนคุณสมบัติอีกหลายอย่างที่จะมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตในวันข้างหน้า
          การช่วยทำงานบ้านตั้งแต่เด็ก เด็กจะได้ฝึกและปลูกฝังสิ่งดีๆหลายๆอย่าง สิ่งที่เด็กจะได้ติดตัวไปจนโตและจะเป็นประโยชน์กับชีวิตเป็นอย่างมากก็คือ  การเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ การรู้จักพึ่งพาตนเอง และมีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น นอกจาก นั้นยังได้เรื่องการรักความสะอาดและความมีระเบียบด้วยนะคะ การที่จะสอนให้เด็กรู้จักช่วยทำงานบ้านสามารถสอนกันได้ตั้งแต่เล็กๆเลยค่ะ ช่วงแรกๆเด็กอาจจะยังช่วยอะไรไม่ได้มากนัก แต่การให้เด็กๆเข้ามามีส่วนร่วมจะสอนเด็กในเรื่องความมีน้ำใจ ในเรื่องการรับผิดชอบ รวมถึงเริ่มฝึกทักษะพื้นฐานง่ายๆ เช่นการจัดเก็บของเล่นลงในตะกร้าให้เรียบร้อย แล้วเราค่อยๆสอนมากขึ้น มอบหมายงานให้มากขึ้น ตามอายุที่มากขึ้น การให้ช่วยงานตั้งแต่เล็กและอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เด็กคุ้นชิน และรู้สึกว่านั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่คนเราต้องทำ ต้องรับผิดชอบ และที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กเห็นด้วยนะคะ ระวังอย่าทำให้เด็กเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทำงานบ้านเพราะได้ยินคุณพ่อคุณแม่บ่นหรืออิดออดกับการต้องทำงานบ้านเชียวนะคะ


วิธีสอนให้ลูกช่วยทำงานบ้าน
          พูดถึง”งานบ้าน”สำหรับบางครอบครัวก็ดูเป็นเรื่องง่ายแต่สำหรับบางครอบครัว
”งานบ้าน”ก็ดูจะเป็นภาระหนักอึ้ง และการสอนลูกให้ช่วยทำงานบ้านก็เช่นกัน สำหรับบางบ้านก็ง่ายและเป็นไปอย่างราบรื่น แต่สำหรับบางครอบครัวการที่จะสอนลูกให้รู้จักช่วยทำงานบ้านก็แสนจะยากเย็น วิธีที่เราจะสอนและโน้มน้าวลูกให้รู้จักช่วยทำงานบ้านก็มีต่างๆนานา ลองมาดูกันนะคะเผื่อว่าอาจจะเกิดแนวคิดที่เหมาะที่จะนำไปใช้ในครอบครัวของคุณ

ภาพจาก http://www.masterfile.com/

1.      เริ่มตั้งยังเล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรมอบหมายให้ลูกรับผิดชอบงานบางอย่างตั้งแต่ยังเด็ก เด็กเล็กๆ สองถึงสามขวบก็สามารถจะเริ่มสอนได้แล้วนะคะ
และเด็กในวัยนี้ก็ชอบที่จะช่วยงานผู้ใหญ่และจะดีใจมากถ้าหากผู้ใหญ่ยอมให้เขาช่วย ใช้โอกาสนี้มอบหมายงานเล็กๆง่ายๆให้พวกเขาได้ช่วยทำ เช่นการช่วยกันเก็บของเล่นเมื่อเล่นเสร็จ ช่วยถือของเล็กๆน้อยๆ แล้วเมื่อลูกเริ่มโตขึ้นเราก็ค่อยๆเพิ่มงานและมอบหมายความรับผิดชอบให้สมกับวัยของลูก
2.      ทำให้ดู เด็กต้องการรู้อย่างแน่ชัดว่าเราคาดหวังให้พวกเขาทำอะไร และที่สำคัญต้องทำให้เห็นว่างานที่เรามอบหมายนั้นทำอย่างไร สำหรับเด็กเล็กช่วงแรกๆเราอาจจะต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด และพร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เขาประสบความสำเร็จในงานที่ได้รับมอบหมาย แล้วจึงค่อยๆถอยห่างเมื่อเขาโตขึ้นหรือคุ้นชินกับงานมากขึ้น
3.      สอนทีละเรื่อง ค่อยๆสอนให้ลูกทำงานทีละอย่าง สอนวิธีทำตั้งแต่ต้นจนจบ ติดตามจนแน่ใจว่าเขาทำได้ และทำได้อย่างสม่ำเสมอ ก่อนที่จะสอนงานอื่นต่อไป เด็กเล็กจะเกิดความสับสนเป็นอย่างมาก หากเราพยายามจะสอนพวกเขาหลายๆเรื่องพร้อมๆกัน  
4.      แจกแจงขั้นตอนการทำงาน การสอนงานให้เด็กๆควรจะแจกแจงขั้นตอนและรายละเอียดให้ชัดเจน เช่นการมอบหมายให้ลูกดูแลห้องนอนตัวเอง ก็ให้รายละเอียดของงานที่จะต้องทำตั้งแต่การเก็บเตียงพับเก็บผ้าห่มให้เรียบร้อย เก็บของเล่นหรือของใช้ให้เข้าที่เข้าทาง ถ้าเด็กโตหน่อยก็อาจจะเริ่มทำความสะอาดเอง อาจจะเริ่มจากส่วนเล็กๆแค่บนโต๊ะหรือชั้นวางของ แล้วค่อยๆเพิ่ม เมื่อโตขึ้นก็รับผิดชอบการปัดกวาดเช็ดถูเองทั้งหมด
5.      อธิบายให้ลูกฟัง ลูกควรได้รับรู้ถึงประโยชน์และความสำคัญของการช่วยทำงานบ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่างานบ้านเป็นงานที่สมาชิกในครอบครัวทุกๆคนต้องช่วยกันทำและช่วยกันรับผิดชอบ เพื่อให้การดำเนินไปของชีวิตในบ้านเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุข
6.      ปรับเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ให้เหมาะสมกับวัยของลูก เมื่อลูกโตขึ้นคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนหรือมอบหมายงานที่มากขึ้นหรือสำคัญมากขึ้น เด็กจะรู้สึกท้าทาย และจะรู้สึกภูมิใจหากสามารถทำได้สำเร็จ แต่ต้องระวังนะคะ มอบหมายงานให้เหมาะกับวัยและความสามารถของลูกเท่านั้นนะคะ อย่าให้มากหรือน้อยเกินไป
7.      จัดทำตารางการทำงานและผู้รับผิดชอบ รวมทั้งการให้รางวัล ถ้าลูกโตพออาจจะชวนกันทำตารางการทำงานและผู้รับผิดชอบ รวมทั้งการบันทึกผลการทำงาน แล้วก็ช่วยกันตั้งเกณฑ์ของการได้รับรางวัลรวมถึงการตั้งรางวัลด้วย รางวัลที่ว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ อาจจะเป็นการได้ไปเที่ยวด้วยกัน การได้นอนดึกมากขึ้นในวันหยุด สำหรับเด็กเล็กเราอาจประเมินและให้รางวัลกันรายวัน แต่ถ้าเด็กโตก็อาจจะเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน
8.      กำหนดบทลงโทษหากไม่รักษาหน้าที่ สอนให้ลูกรู้ถึงผลการกระทำของตน เช่น ถ้าลูกลืมเก็บรถจักรยานเข้าที่ทุกวัน ทุกวัน ก็อาจจะถูกทำโทษด้วยการไม่อนุญาตให้เอารถออกไปขี่ได้สองถึงสามวัน เป็นต้น
9.      อย่าจุกจิกจู้จี้ขี้บ่น มอบหมายงานและความรับผิดชอบให้เหมาะสมกับวัยของลูก อธิบายให้ชัดเจนถึงวิธีการทำงาน และตกลงกันถึงกฎกติกาของครอบครัว หากลูกไม่รักษาหน้าที่ก็อย่าใช้วิธีจิกบ่นให้ทำ แต่ใช้การลงโทษตามที่ได้ตกลงกันไว้
10. ชื่นชมลูก เมื่อลูกทำงานสำเร็จ รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย อย่าลืมแสดงความชื่นชมลูกด้วยนะคะ คุณพ่อคุณแม่ควรดูที่ความพยายามของลูกที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมาย อย่าไปเน้นที่ผลของงานนะคะโดยเฉพาะกับลูกเล็กๆ
     
บทเรียนจากการทำงานบ้าน


ภาพจาก http://www.simplekids.net/

            เราคงคาดหวังให้ลูกเติบโตเป็นคนดี รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพไม่ได้เลยนะคะ ถ้าพวกเขายังไม่สามารถรับผิดชอบและดูแลชีวิตของตัวเองได้ ถ้าพวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องทำงานบางอย่างที่ไม่อยากทำแต่จำเป็นต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ และการรักษาหน้าที่ของตนก็จะทำให้เขาได้รับรางวัลหรือผลดีจากการกระทำนั้น เพราะ.....งานคือชีวิต ชีวิตต้องทำงาน



เล่นเกม สร้างสรรค์หรือสร้าง(นิสัย)เสีย

เล่นเกม สร้างสรรค์หรือสร้าง(นิสัย)เสีย
ธิดา พิทักษ์สินสุข


ภาพจาก http://www.ehow.co.uk/

                เดี๋ยวนี้ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่หรือแม้แต่ผู้อาวุโส ก็เล่นเกมโน่น เกมนี่กันหมด
ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนากันตลอดเวลา   ก็เลยมีทางเลือกให้มากมายหลากหลายในหมู่ Tablet การพกพาก็แสนจะสะดวกสบาย  แถมเล่นแล้วก็ออกจะเพลิดเพลินจนถึงขั้นติดกันโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว  มิหนำซ้ำเขายังว่าการเล่นเกมนี้ดีมีประโยชน์   สำหรับเด็กก็ช่วยพัฒนาทักษะหลายด้าน ผู้ใหญ่ก็ช่วยคลายเครียด ผู้อาวุโสเล่นแล้วจะได้ไม่เป็นอัลไซเมอร์ ช่างดีกับทุกเพศทุกวัยจริงๆ แต่ด้วยความที่โลกมันกลม และเหรียญก็ไม่ได้มีด้านเดียว ฉันใดฉันนั้น เกมก็คงไม่ได้ดีมีประโยชน์ไปหมดอย่างที่คนบางคนเลือกที่จะเชื่อหรอกค่ะ ดังนั้นหากจะให้ลูกเล่นเกม พ่อแม่ควรจะมีคำแนะนำให้ลูกด้วยนะคะ

ดีของเขาฤาจะใช่ดีของเรา

 คิดว่าคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่นี้ค่อนข้างจะให้ความสนใจกับเรื่องต่างๆของลูกค่อนข้างมาก  และก็มักจะหาข้อมูลความรู้จากหลากหลายแหล่งเพื่อที่จะสามารถเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุด  และเชื่อว่าคงมีไม่น้อยที่จะเคยหาข้อมูลเกี่ยวกับเกมที่ลูกเล่น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เกมทางโซเชียลเน็ตเวิร์คกำลังฮอตฮิตเป็นอย่างมาก หลายๆคนดูข้อมูลแล้วก็คงค่อนข้างจะสบายใจ เพราะเขาบอกว่าเกมนี้ดีเหมาะกับเด็ก นอกจากความสนุกแล้ว เด็กยังจะมีโอกาสพัฒนาทักษะในการเลือก การตัดสินใจ และการสร้างสรรค์ด้วยจินตนาการมากกว่านั้นก็ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนๆ เพราะเกมนี้ผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์ ระหว่างกันได้ สามารถช่วยกันดูแลรักษา และสามารถขโมยของของเพื่อนได้  อ่านช่วงแรกเพลินๆ ก็ดูดีนะคะ แต่พอถึงช่วงท้าย อดกังวลใจไม่ได้จริงๆว่าคนสมัยนี้เขาคิดอะไรกันอยู่  เขารู้ตัวหรือไม่ว่ากำลังส่งข้อมูลถึงเด็กๆ ว่าการขโมยเป็นสิ่งที่กระทำได้  ไม่ว่าจะเพื่อเหตุผลกลใด  จะแค่เพื่อความสนุกสนาน หรืออื่นใด  แต่สิ่งที่เด็กๆจะรับไปก็คือ การขโมยเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำกันได้ เรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ถึงกับต้องห้ามลูกเล่นเกม  เพราะหากคิดจะห้ามก็คงจะห้ามยากมากด้วย  แต่สิ่งที่ควรทำคือบอกลูกถึงสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรที่มีอยู่ในเกม  บอกให้รู้  ให้ลูกรับรู้เป็นข้อมูลไว้ก็พอ  แต่ไม่ต้องไปจุกจิกจู้จี้กับลูกให้มากมาย  ไม่เช่นนั้นลูกอาจจะไม่รับฟังในสิ่งที่เราบอกเราเตือน  คุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นใจว่าถ้าเราเลี้ยงดูลูกด้วยความรัก ให้ความเข้าใจ ความใกล้ชิด เลี้ยงอย่างมีเหตุมีผล รู้ถูกรู้ควร ไม่มากไปหรือน้อยไป  การเล่นเกม หรือ การต้องไปอยู่ในโลกกว้างที่มีทั้งสิ่งดี สิ่งไม่ดี ก็จะไม่ทำให้ลูกเราหลงไปหรือเสียคนไปหรอกนะคะ

ผลกระทบเชิงลบของไซเบอร์เกม
                       

ภาพจาก http://www.designinearlychildhoodeducationau.blogspot.com/

ถึงแม้ว่าการเล่นเกมจะเป็นวิธีที่เด็กจะได้เรียนรู้ถึงการใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างเพลิดเพลิน เป็นการเรียนรู้ที่สนุก และยังได้พัฒนาทักษะบางด้าน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็มีผลกระทบเชิงลบอยู่ไม่น้อย และเป็นผลกระทบที่เราไม่สามารถจะวางเฉย หรือไม่ให้ความสนใจได้
-          เด็กมีความเข้าใจเรื่องการแก้ปัญหาแบบผิดๆ เด็กที่เล่นเกมจนเคยชินจะเผลอเข้าใจว่าการแก้ปัญหาเป็นเรื่องง่าย แค่คลิ๊กเดียวปัญหาก็จบ แต่พอมาเจอกับชีวิตจริงที่การแก้ปัญหามันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เด็กเหล่านี้ก็จะมีปัญหาในการปรับตัวปรับใจเพื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆในชีวิต
-          เด็กจะก้าวร้าวเกินวัย การเล่นเกมที่มีความรุนแรงทั้งการใช้อาวุธ การต่อสู้การยิงหรือแม้กระทั่งการฆ่า จะปลูกฝังความก้าวร้าวในตัวเด็กโดยไม่รู้ตัว บ่อยครั้งที่เด็กไปแสดงออกที่โรงเรียนเรื่องการก้าวร้าว ชอบใช้กำลังในการแก้ปัญหา และยังมีปัญหาที่ไม่สามารถเข้ากับเพื่อนๆได้
-          เด็กจะเข้าใจผิดว่าพฤติกรรมก้าวร้าวทำให้เขาเป็นผู้ชนะ หรือได้รับรางวัล เพราะเมื่อเล่นเกมที่ต้องต่อสู้ ที่ต้องกำจัดคู่แข่ง ยิ่งฆ่าได้มากก็ยิ่งได้คะแนนมากหรือบางทียังได้รับโบนัสพิเศษเสียอีก จนทำให้เด็กถูกปลูกฝังความคิดที่ว่า การที่จะชนะ หรือการแก้ปัญหากับใครๆ ก็คือแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลัง การต่อสู้ หรือการกำจัดคู่กรณีเสีย
-          เด็กมักจะขาดจินตนาการในการเผชิญปัญหา การแก้ปัญหาในเกมมักใช้วิธีกำจัดตัวปัญหาออกไป ไม่ว่าจะด้วยการต่อสู้ที่รุนแรง หรือแม้กระทั่งการฆ่าตัวปัญหา เด็กจึงขาดทักษะในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ด้วยสันติวิธีด้วยความใส่ใจและสนใจในเรื่องของความรู้สึกของผู้อื่น และในระยะยาวก็จะนำไปสู่การขาดคุณธรรม จริยธรรม และความอ่อนโยนในจิตใจ

โลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่โลกเสมือนจริง


ภาพจาก http://www.news.wisc.edu/

            เราจะต้องช่วยกันชักชวน ชักนำให้เด็กๆได้รับรู้ ได้สัมผัส ได้ทำกิจกรรม ในโลกแห่งความเป็นจริงให้มากๆ เพราะการที่เด็กยุคนี้ใช้เทคโนโลยีมากๆ ใช้แม้แต่ในการเล่นทำให้เวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการนั่งปักหลักอยู่ในโลกเสมือนจริง การที่จะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ การที่จะได้ออกไปเล่นหรือทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ การที่จะได้ออกกำลังกายให้ได้เหงื่อ ก็ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆจนแทบจะไม่เหลือ เด็กๆเหล่านี้มักจะมีปัญหาและขาดพัฒนาการในเรื่องทักษะสังคม
            คำถามสำหรับคุณพ่อคุณแม่ก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะชักชวนให้เด็กๆกลับมาทำกิจกรรมและใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง โดยธรรมชาติเรารู้ว่าเด็กๆจะชอบทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับเพื่อน คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตหรือไม่ค่ะ ว่าถ้าในวันหยุด เด็กๆได้มาเจอกัน เล่นกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การทำงานศิลปะ การทำอาหาร หรืออะไรก็ตาม เด็กมักจะสนุกและมีความสุขที่จะมีเพื่อนมาร่วมกิจกรรมด้วย มากกว่าการเล่นอยู่คนเดียวหรือเล่นกับผู้ใหญ่อย่างเราๆ ดังนั้นหากเราต้องการดึงลูกให้ออกมาจากโลกเสมือนจริงคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเสียสละเวลาส่วนตัวที่จะต้องคอยรับส่ง หรือการดูแลอำนวยความสะดวกให้เด็กๆได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมในโลกแห่งความเป็นจริงนอกจากจะมีผลดีต่อร่างกายแล้ว ยังมีผลดีทางด้านจิตใจเป็นอย่างมาก เด็กจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเสียสละ การแบ่งปัน การเคารพกติกา ความมีน้ำใจ การมีจิตใจที่อ่อนโยนสนใจความรู้สึกของผู้อื่น และนั่นก็คือการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้ลูกอย่างเป็นธรรมชาติค่ะ
            พยายามนะคะหากเราสามารถดึงลูกให้กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ได้พบปะทำกิจกรรมและได้เล่นสนุกกับเพื่อนๆแล้ว การที่ได้อยู่ได้เล่นกับเพื่อนตัวเป็นๆย่อมทำให้พวกเขามีความสุขที่แท้จริงมากกว่า และยังได้ประโยชน์ทั้งทางด้านการพัฒนาด้านร่างกาย และด้านจิตใจ และเมื่อต้องเผชิญปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือเด็กๆจะเรียนรู้ว่า เพื่อนตัวเป็นๆนี่แหละคือเพื่อนที่จะช่วยเขาได้ เป็นบุคคลที่เขาจะพึ่งพิงได้จริงๆ ไม่ใช่เพื่อนที่เขารู้จักพูดคุยผ่านสังคมออนไลน์เท่านั้น ที่สำคัญหากเด็กๆยังไม่สามารถหลุดออกมาจากโลกเสมือนจริงได้คุณพ่อคุณแม่อย่าใช้วิธีบังคับ หรือกดดันเด็กนะคะ เพราะหากเรายิ่งแรงเด็กก็จะยิ่งต่อต้าน คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามเข้าใจ พยายามส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการที่จะให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ค่อยๆเป็นค่อยๆไปนะคะ ถ้าเขาได้เริ่มต้นแล้วมันก็จะมีครั้งต่อๆไปแน่นอน ก็การเล่น การอยู่กับเพื่อนตัวเป็นๆมันสนุกกว่าการเล่นอยู่คนเดียวจริงๆนะคะ

สร้างทักษะแห่งความสำเร็จในชีวิตให้ลูก



ภาพจาก http://www.writersevolution.blogspot.com/

สร้างทักษะแห่งความสำเร็จในชีวิตให้ลูก

ธิดา พิทักษ์สินสุข

                รู้หรือไม่คะว่าอะไรคือสิ่งที่จะทำนายเรื่องอนาคตและความสำเร็จของลูกน้อยได้ดีที่สุด  ครั้งนี้มีของดีมาแนะนำเป็นของขวัญวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน แต่ไม่ใช่แม่มด แม่หมอ ที่ไหนหรอกนะคะ เชื่อหรือไม่คะว่า  ทักษะในเรื่องสังคมและอารมณ์นี่แหละค่ะที่จะเป็นตัวทำนายอนาคตและความสำเร็จรอบด้านของลูกน้อยได้ดีที่สุด  และข่าวดียิ่งกว่านั้นก็คือ ทักษะนี้สอนได้ เรียนรู้ได้ และฝึกฝนได้ ถ้าลูกมีทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่ดี รับรองว่าชีวิตในวันข้างหน้าจะประสบความสำเร็จทั้งทางด้านการเรียน การงาน และชีวิต เป็นคนที่มีความสุขแน่ๆ ค่ะ ขอรับรอง!!!

IQ vs EQ...สติปํญญากับอารมณ์
ภาพจาก www.variety.teenee.com

 คุณพ่อคุณแม่ในยุคปัจจุบันมักจะคุ้นเคยกับคำว่า ความฉลาดทางด้านสติปัญญา (Intelligence Quotient: IQ) และคำว่าความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence: EQ) กันดีอยู่แล้วนะคะ  และกระแสในปัจจุบันก็จะบอกว่าเราต้องให้ความสำคัญกับ EQ เพราะมันคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ  คนที่มี EQ ดี มักจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่มี IQ ดีอย่างเดียว  เราจึงเห็นคุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่ประคบประหงมเลี้ยงดูลูกน้อย ตามใจกันเป็นที่สุดเพื่อไม่ให้ลูกน้อยอารมณ์เสีย เดี๋ยวจะทำให้ EQ ไม่ดี แถมยังต้องพาลูกไปทำกิจกรรมตามศูนย์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนา  ทางด้านสังคมและอารมณ์ให้ลูกตั้งแต่อายุยังไม่ครบขวบ นี่เป็นเพียงภาพหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจที่พ่อแม่ยุคนี้มีมากขึ้น  แต่ยังไม่ครบถ้วน  และที่สำคัญชอบใช้ตัวช่วยมากกว่าที่จะทำเอง บ่อยครั้งเราจึงมักจะได้ยินถึงปัญหาของลูกเมื่อเข้าสู่วัยเรียน เช่นเพื่อนไม่ให้เข้ากลุ่ม เล่นกับเพื่อนไม่เป็น ไม่รู้จักแบ่งปัน หรือชอบบงการจนเพื่อนไม่ยอมเล่นด้วย หรือบางคนก็ยอมเพื่อนจนไม่เป็นตัวของตัวเอง 
ปัญหาสารพัดรูปแบบที่อาจจะดูเหมือนว่าก็เป็นปัญหาเล็กๆ ประสาเด็กๆ แต่สิ่งเหล่านี้คือตัวบ่งชี้ถึงชีวิตในอนาคตของลูก หากไม่ได้รับการแก้ไขโตขึ้นเด็กพวกนี้น่าจะดำเนินชีวิตให้มีความสุขได้ยากนะคะ
          ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาในเรื่องสังคมและอารมณ์คือ การพัฒนาทักษะทางสังคม (Social Skill) หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นทักษะเรื่องคน (People Skill) ทักษะนี้เป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องหลัก ที่มีผลต่อทั้งIQ และEQ เราสามารถที่จะสอนและปลูกฝังทักษะเหล่านี้ให้ลูกได้ตั้งแต่ยังเล็กและที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เองในวิถีชีวิตประจำวันค่ะ บทความนี้อาจจะใช้ภาษาอังกฤษสอดแทรกค่อนข้างมากเพื่อที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และต้องการให้เป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่มากที่สุด

ทักษะทางสังคมและอารมณ์
                       

การที่จะพัฒนาทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ให้ลูกได้นั้นสิ่งสำคัญเรื่องแรก
คือการที่ต้องทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ความรู้สึกปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กๆ คือการดูแลที่ใกล้ชิด ในสิ่งแวดล้อมที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นและสบาย เมื่อเด็กๆ เริ่มโตขึ้นรับรู้ได้มากขึ้น ความรู้สึกปลอดภัยก็จะขยายวงกว้างขึ้น  ทางด้านร่างกายก็เป็นเรื่องของการปลอดจากการบาดเจ็บหรือถูกทำร้าย  ทางด้านจิตใจก็เป็นเรื่องของการปลอดภัยจากคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ การล้อเลียนที่ทำให้เขารู้สึกเสียใจหรือทำให้ขาดความมั่นใจ และที่สำคัญคือความมั่นคงในจิตใจ  ความมั่นใจว่าเขาจะพึ่งพาตัวเองได้โดยมีพ่อแม่อยู่เคียงข้างและพร้อมจะดูแลและช่วยเหลือพวกเขาเมื่อต้องจัดการกับสิ่งที่เกินกว่าความสามารถของเขา  เมื่อเขารู้สึกมั่นคงและปลอดภัย เด็กๆ ก็พร้อมที่จะพัฒนาในเรื่องสังคมและอารมณ์ได้อย่างเป็นธรรมชาติในวิถีของชีวิตประจำวันที่มีผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดี
            ปัจจัยหลักๆที่สำคัญมากในเรื่องของการพัฒนา          ทักษะทางสังคมและอารมณ์มีอยู่ 5 ปัจจัย

ภาพจาก http://www.ehow.co.uk/


การตระหนักรู้และเข้าใจในเรื่องความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น เข้าใจว่า การกระทำเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องมาจาก ความคิด และ ความรู้สึก คนเรามักจะแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ตามที่ตัวเองคิดหรือรู้สึก
การควบคุมและการจัดการกับอารมณ์ สามารถที่จะควบคุม อดทน และจัดการกับความโกรธ แรงกระตุ้น และความไม่สบายใจหรือไม่สบอารมณ์ต่างๆได้
การสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง สามารถที่จะตั้งเป้าหมายและมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เป้าหมายนั้นประสบความสำเร็จ ด้วยการมองโลกในแง่ดี และมีความหวังอยู่เสมอ
ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เรียนรู้ที่จะเข้าใจสถานการณ์ และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น  เอาใจเขามาใส่ใจเรา และรู้จักที่จะแสดงความใส่ใจและห่วงใยต่อผู้อื่นอย่างจริงใจ
ความสามารถในการจัดการกับความสัมพันธ์ รู้จักผูกมิตรและรักษามิตรภาพระหว่างกันไว้ สามารถจัดการกับความขัดแย้งด้วยสันติ และรู้จักการทำงานและให้ความร่วมมือกับผู้อื่น เป็นการเรียนรู้ที่จะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับและการอยู่ร่วมกันในสังคม
หากเราสามารถช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาปัจจัยทั้ง 5 ข้อนี้ได้ พวกเขาจะเป็นคนที่เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น  เก่งในเรื่องการติดต่อสื่อสารหรือต่อรอง มีทักษะในการแก้ปัญหาหรือข้อขัดแย้งต่างๆได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นผู้นำที่ดี และที่สำคัญคือเป็นคนคุณภาพที่มีความมุ่งมั่น และความรับผิดชอบ

ใจดีดี ทำดีดี

            การพัฒนาในเรื่องสังคมและอารมณ์ เป็นการปลูกฝังนิสัยดีๆ พร้อมๆ กับการให้เครื่องมือที่จะช่วยให้เด็กๆสามารถการดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่น รู้วิธีที่จะก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคได้อย่างเหมาะสมและอย่างสร้างสรรค์
ในชีวิตประจำวันการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เด็กๆจะต้องเรียนรู้ที่จะหา
จุดสมดุลที่จะตอบสนองระหว่างความต้องการหรือความสนใจของ
ตนเองกับความต้องการและความสนใจของผู้อื่น
ตัวอย่างเช่น เพื่อนมาชวนให้ไปวิ่งเล่นที่สนามแต่ตนเองกำลังสนุกกับการวาดรูป เขาจะทำอย่างไร ไม่สนใจเพื่อน ไล่เพื่อนให้ไปห่างๆ หรือยอมทิ้งความสนใจของตนเองและทำตามที่เพื่อนต้องการทุกอย่าง วิธีที่เขาเลือกใช้จะสร้างความเป็นตัวตนของเขา ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่ใส่ใจผู้อื่น เป็นคนก้าวร้าว หรือเป็นคนที่สามารถประนีประนอมได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม ผู้ใหญ่เป็นผู้ที่สามารถชี้นำและปลูกฝังพฤติกรรมดีๆ ให้เด็กๆ ได้ โดยสอนให้เด็กเข้าใจว่าทุกๆเหตุการณ์เขามีทางเลือกเสมอ อยู่ที่ว่าเขาจะเลือกแนวทางไหนกับเหตุการณ์ใด เขามีทางเลือกหลักๆ 3 แนวทางคือ
            ความก้าวร้าว คือการทำร้ายผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยการใช้คำพูดหรือการใช้กำลัง เพื่อที่จะให้เพื่อนทำตามความต้องการของเขา
            การยอมจำนน คือการยอมทำตามที่เพื่อนต้องการไปเสียทุกเรื่อง แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองสนใจหรือสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องเหมาะสม
            การยืนยัน คือการมีความแน่วแน่ในแนวทางที่ตนสนใจ และเห็นว่าถูกว่าควร
บนพื้นฐานของการมีจิตใจที่ปรารถนาดี และมีความเคารพในตัวตนของผู้อื่น

            การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากชีวิตจริง ให้โอกาสเด็กๆได้ลองผิด ลองถูก โดยที่เราเฝ้าดูอยู่ในสายตา ให้คำแนะนำหรือความช่วยเหลือในจังหวะที่เหมาะสม ค่อยๆให้เขาได้เรียนรู้ไปในทุกวันของชีวิตตามแนวทางเหล่านี้ เด็กๆก็จะมีใจดีดี และก็จะทำดีดี อนาคตของพวกเขาก็จะอยู่ดีมีสุขแน่นอน ขอรับรองค่ะ!!!



วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

สอนลูกเรื่องคนแปลกหน้า


ภาพจาก http://www.bondotmom.com/
สอนลูกเรื่องคนแปลก
โดย ธิดา พิทักษ์สินสุข             
           เด็กๆพบกับคนแปลกหน้าอยู่ทุกวันนะคะ ไม่ว่าจะในละแวกบ้าน ร้านค้า ซุปเปอร์มาเกต สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งที่โรงเรียน คนแปลกหน้าที่พบส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนดี คนธรรมดาสามัญ แต่ก็จะมีส่วนน้อยที่ไม่ใช่คนดีปะปนอยู่ในหมู่ของคนดีอยู่เสมอ คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันเด็กๆจากภัยจากคนแปลกหน้าได้ โดยสอนเด็กๆเรื่อง คนแปลกหน้า การสังเกตพฤติกรรมที่น่าสงสัย และการระมัดระวังตนเอง ทั้งนี้ รวมถึงการให้ข้อมูลเพื่อให้เด็กสามารถแยกแยะในเบื้องต้นได้ระหว่างคนแปลกหน้าที่เด็กควรจะระมัดระวัง และคนแปลกหน้าที่เด็กสามารถจะเชื่อถือได้ ที่สำคัญการสอนเด็กๆเรื่องคนแปลกหน้านี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องรู้จักเลือกวิธีพูดคุยให้พอเหมาะพอดีกับวัยของเด็ก ด้วยท่าทีที่สงบแต่หนักแน่น เพื่อให้เด็กรับรู้ว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กจะต้องเรียนรู้ แต่เราต้องระวังไม่ทำให้เด็กกลัวคนแปลกหน้าจนสูญเสียความมั่นใจในตัวเองนะคะ                                                     

คนแปลกหน้า...แบบไหน

ภาพจาก http://www.momlogic.com/

           “คนแปลกหน้า” คือคนที่เราและครอบครัวของเราไม่รู้จัก ว่ากันตรงไปตรงมาอย่างนี้เลยนะคะ เด็กๆมักจะคิดว่า คนแปลกหน้าที่เป็นอันตราย หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า “ผู้ร้าย” จะต้องมีหน้าตาน่าเกลียด น่ากลัว ขมึงทึงเหมือนในหนัง แต่ในชีวิตจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น คนสวยหล่อดูดี แต่อันตรายก็มีมาก ความสวย ความหล่อ ความสุภาพ การดูใจดี ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เขาเหล่านั้นเป็นคนดี เราต้องอธิบายให้เด็กๆเข้าใจว่าอันตรายจากคนแปลกหน้านั้นบอกไม่ได้จากภาพที่เรามองเห็น จากภาพภายนอกที่เขาสร้างขึ้น ดังนั้นเด็กๆจะต้องรู้จักระมัดระวังตัวเมื่ออยู่ใกล้ๆคนแปลกหน้า
            แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังด้วยนะคะอย่าวิตกมากมายจนทำให้เด็กๆเข้าใจไปว่าคนแปลกหน้าเป็นอันตรายไปเสียทั้งหมด เพราะในบางครั้ง บางสถานการณ์ที่เด็กๆต้องการความช่วยเหลืออย่างปัจจุบันทันด่วน เช่น การพลัดหลงจากพ่อแม่ การถูกทำร้าย การที่รู้สึกว่าถูกติดตาม สิ่งที่ควรทำที่สุดในขณะนั้น คือการขอความช่วยเหลือจากคนแปลกหน้าที่ไว้ใจได้อย่างเร็วที่สุด เราจะสอนเด็กให้รู้ว่าคนแปลกหน้าคนไหนไว้ใจได้ก็ด้วยการบอกกล่าวกันบ่อยๆ  ชี้ให้ดูเมื่อพบเห็น ให้หลักการง่ายๆกับเด็กๆ เช่นให้มองหาคนแปลกหน้าที่มีเครื่องแบบ เช่น ตำรวจ รปภ. พนักงานตามร้านค้า ร้านอาหาร และอย่าลืมสอนเด็กด้วยนะคะว่าสถานที่ใดที่เขาควรจะไปขอความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน  ชี้ให้เด็กๆดูตอนไปไหนมาไหนด้วยกันนะคะว่านี่คือสถานีตำรวจ นี่คือป้อมยาม นี่คือร้านขายของที่เราคุ้นเคย นี่คือบ้านของเพื่อน ฯลฯ เหล่านี้คือสถานที่ที่เด็กๆสามารถไปขอความช่วยเหลือจากคนแปลกหน้าที่ไว้ใจได้ในยามจำเป็นค่ะ

การรู้เท่าทันและการรับมือ
         สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะช่วยกันป้องกันเด็กๆจากอันตรายจากคนแปลกหน้า ก็คือการสอนให้เด็กรู้จักระมัดระวังกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดอันตรายได้ง่าย เช่น การเดินหรืออยู่คนเดียวในบริเวณที่ไม่ค่อยจะมีผู้คน การเดินในที่ๆมีผู้คนมากๆเบียดเสียดกัน สอนให้รูจักระมัดระวังเมื่ออยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า หรือแม้กระทั่งคนที่รู้จักแต่ดูจะมีเจตนาที่ ไม่ค่อยดี ไม่ค่อยน่าไว้วางใจ โดยการสังเกตสัญญาณบางอย่าง เช่น การที่ผู้ใหญ่ที่เราไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคยมาขอความช่วยเหลือ เช่นให้ช่วยหาสุนัขที่หายไป ให้ช่วยถือของไปส่งที่รถ หรือบางครั้งก็อาจจะเจอกับคนแปลกหน้าที่เอาอะไรมาให้ เสนอที่จะให้ทำอะไรบางอย่างที่เด็กชอบ เด็กสนใจ แล้วสั่งว่าอย่าบอกให้พ่อแม่รู้ เหล่านี้คือสัญญาณที่พอจะบอกได้ว่าคนแปลกหน้าหรือคนไม่คุ้นเคยเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเป็นคนอันตราย เด็กๆควรรีบหลีกเลี่ยงหรือห่างออกมาให้เร็วที่สุด  และที่สำคัญต้องมาเล่าหรือบอกกล่าวให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น

ภาพจาก http://www.connecthome.com/

            เราต้องสอนให้เด็กรู้ว่าเขาจะมีวิธีรับมือกับสถานการณ์ที่อันตราย หรือมีแนวโน้มที่จะอันตรายจากคนแปลกหน้าอย่างไร มีคาถาที่จำง่ายๆและมีประโยชน์มากไว้ให้เด็กถือปฏิบัติก็คือ “ ไม่ โกย โวย เล่า”
ไม่       สอนให้เด็กรู้จักปฏิเสธข้อเสนอต่างๆจากคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะเป็นการให้ การขอความช่วยเหลือ หรือการชักชวนไปไหนๆ บอกให้เด็กเข้าใจว่าการที่เราปฏิเสธ “ไม่” กับคนแปลกหน้าไม่ใช่สิ่งที่ไม่สุภาพ หรือ ความไม่มีน้ำใจ
โกย     หากสถานการณ์ดูไม่ดี รู้สึกว่าอันตราย รู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศที่อาจจะถูกกดดัน บีบคั้น ก็ให้รีบหนีออกมาเสีย ให้เชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการเสียมารยาท
โวย      หากสิ่งที่เกิดขึ้นรวดเร็วและรู้สึกว่าอันตรายมาก เช่นคนแปลกหน้าเข้าถึงตัว เข้ามาจับหรือพยายามมาสัมผัสบริเวณที่เป็นส่วนตัว นอกจากจะหนีออกมาแล้ว ก็ให้ส่งเสียงขอความช่วยเหลือ หรือโวยวายให้ดังที่สุด
เล่า เมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ต้องเล่าให้ผู้ใหญ่รับรู้ให้เร็วที่สุด
            เราต้องให้ความมั่นใจเด็กๆว่า ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ดังนั้นพวกเขาไม่ต้องกังวลใจหากมีกรณีที่ประเมินเหตุการณ์หรือคนแปลกหน้าผิดพลาดไป การระวังตัวไว้ก่อนย่อมจะดีที่สุด เด็กๆควรจะมีมารยาทที่ดี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็ควรจะแสดงออกให้ถูกกับกาละ เทศะ อย่ากังวลกับสิ่งเหล่านี้จนลืมเรื่องความปลอดภัย เราอาจจะสมมุติสถานการณ์และบอกถึงทางออกให้เด็กรับรู้เป็นตัวอย่าง เพื่อที่พวกเขาจะมีความมั่นใจมากขึ้นเมื่อต้องประเมินสถานการณ์จริง สถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจและควรรีบเลี่ยงออกมาหรือบอกให้ผู้ใหญ่รู้ในทันที เช่น
-            คนแปลกหน้าที่แต่งกายดูดีเดินเข้ามาหาเด็กตอนเล่นอยู่ในสวนสาธารณะ และขอให้ช่วยตามหาหมาที่ผลัดหลงไป
-            คนข้างบ้านที่ไม่เคยพูดจากันเลยมาชวนให้เข้าไปกินขนมในบ้าน
-            คนแปลกหน้าเสนอตัวที่จะขับรถไปส่งที่บ้าน
-            เด็กรู้สึกว่ามีคนคอยติดตามอยู่
-            คนที่รู้จักมาพูดจาสองแง่สองง่ามหรือมาทำอะไรที่ทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ หรือรู้สึกไม่ปลอดภัย
-            ขณะที่เดินอยู่ในละแวกบ้านมีคนแปลกหน้าเข้ามาถามเส้นทาง
เหตุการณ์เหล่านี้มักจะเป็นสัญญาณที่บอกได้ว่าคนแปลกหน้าเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเป็นอันตราย และเด็กๆควรหลีกเลี่ยงเสีย

ร่วมด้วยช่วยกัน
            นอกจากการสอนให้เด็กๆรู้เท่าทันกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นรวมถึงการรับมือแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็ยังจำเป็นที่จะต้องคอยดูแลและระมัดระวังด้วย ควรตั้งเป็นกฎของครอบครัวเลยว่าเด็กๆต้องให้ผู้ใหญ่รับรู้ตลอดเวลาว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหน จะกลับถึงบ้านเมื่อไหร่ สอนเรื่องของความปลอดภัยเมื่อต้องอยู่บ้านตามลำพัง เช่นต้องล็อคประตูไว้ตลอดเวลา ไม่เปิดรับคนแปลกหน้า ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับคนแปลกหน้า และอาจจะตั้งรหัสลับของครอบครัว เช่นเราจะพูดคำว่า “น้ำแดง” เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรืออยู่ในถาวะคับขันและต้องการความช่วยเหลือ ที่สำคัญต้องทำให้เด็กๆมั่นใจว่าพ่อกับแม่รักหนูมากที่สุดและพร้อมที่จะดูแล ให้ความช่วยเหลือในทุกสถานการณ์  และถึงแม้อันตรายจะมีอยู่รอบตัว โลกก็ยังมีความงดงามที่น่าเรียนรู้ น่าค้นหาอีกมากมาย เพียงแต่เราต้องไม่ลืมว่า...

“BETTER SAFE THAN SORRY”