วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

ปิดป้าย ตีตรา ฝันร้ายของเด็กๆ


ธิดา พิทักษ์สินสุข

ภาพจาก http://www.humanclinic.net/

                ป้าย” ของคุ้นเคยของคนยุคนี้  จะซื้อจะหาอะไรเขาก็บอกให้อ่าน “ป้าย” ที่บอกคุณสมบัติ บอกวันผลิต บอกราคา บอกอะไรต่อมิอะไร ให้ละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ เหตุฉะนี้หรือเปล่าคะเราเลยคุ้นเคยที่จะ ปิดป้าย ตีตรา บอกคุณสมบัติ ระบุวิธีใช้ แถมด้วยตีตรารับรองมาตราฐานของสถาบันต่างๆ ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเป็นการยกระดับสู่มาตราฐานสากล สำหรับข้าวของเครื่องใช้สินค้าอุปโภคบริโภค ป้ายเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์นะคะ แต่กับผู้คน ตลอดชีวิตของหนึ่งชีวิตมีรายละเอียด มีเรื่องราวมากมาย และที่สำคัญชีวิตไม่เคยหยุดนิ่ง การที่จะถูกปิดป้าย ตีตรา บอกคุณสมบัติไว้ อย่างใดอย่างหนึ่ง คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกที่ควร และคนเราก็ไม่ควรถูกจำกัดสิทธิของความเป็นคนความเป็นมนุษย์ด้วยการตัดสินของใครๆ   เชื่อว่าพวกเราทุกคนก็คงเคยมีประสบการณ์กับเรื่องเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกตีตรา  หรือไปตีตราให้คนอื่น โดยไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี แต่อาจจะไม่ทันคิด ชีวิตที่มีจิตใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องซับซ้อน คงไม่เหมาะกับการที่จะต้องถูก “ปิดป้าย ตีตรา” หรอกนะคะ

ปิดป้าย...ตีตรา
          ใครจะไปคิดล่ะคะ ว่าการหยอกล้อด้วยความเอ็นดู จะสามารถสร้างผลกระทบในทางลบให้กับเด็กๆได้   ณ ห้วงเวลานั้นการหยอกล้อก็ดูเหมือนว่าจะนำความสุข สนุกสนานมาสู่ทุกฝ่าย   เรามักได้ยินเสียงเรียกประเภท เจ้าอ้วน เด็กหญิงตุ้ยนุ้ย เจ้าตัวแสบ... อยู่บ่อยๆ  และน้ำเสียงในการเรียกก็จะเปี่ยมไปด้วยความรัก ความเอ็นดู แต่ทำไมถึงจะมีผลทางลบได้   สิ่งที่เกิดขึ้นกับการเรียกขานเช่นนี้บ่อยๆ ทำให้เด็กเชื่อไปเองโดยไม่รู้ตัว ว่าเราจะต้องอ้วน จะต้องตุ้ยนุ้ย จะต้องคงความเป็นเจ้าตัวแสบไว้ เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่รัก ผู้ใหญ่เอ็นดู แล้วพวกเขาก็จะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้จนเติบใหญ่  เพราะเชื่อไปแล้วว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น นี่ล่ะคะการปิดป้าย ตีตราให้กับเด็กๆ โดยไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่สร้างผลกระทบระยะยาว ถึงแม้ว่าจะเป็นการตีตราในเชิงบวกก็ตาม แล้วถ้าเด็กๆบางคนเกิดโชคร้ายถูกตีตราในเชิงลบ จะเกิดอะไรขึ้น ผลที่ตามมาคงไม่ใช่เรื่องที่น่าชื่นชมอย่างแน่นอน

ใจเขา...ใจเรา

ภาพจาก http://www.kburgin.typepad.com/


            หากลองมองย้อนกลับไป กลับไป ในอดีต คงมีบางช่วงบางตอน หรือสำหรับบางคนอาจจะมีหลายช่วงหลายตอนที่เราได้รับฉายา หรือคำจำกัดความบางคำที่บ่งบอกลักษณะ หรือพฤติกรรมที่เราทำบ่อยๆในช่วงนั้น   หลายๆครั้งก็เป็นความอิ่มเอมกับความเอื้อเอ็นดูที่ได้รับ  แต่อาจจะมีบางครั้งบางทีที่ชวนให้น้อยใจเสียใจกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ลองคิดดูเล่นๆนะคะถ้ามีเด็กคนหนึ่งที่รับประทานเก่งมากๆแล้วผู้ใหญ่ที่พบเห็นก็ชมว่าเป็น “แชมเปี้ยน” กินเก่งจริงๆ กินเก่งอย่างนี้จะไดโตไวๆ กับ ผู้ใหญ่อีกคนที่เห็นแล้วก็พูดว่าทำไม “ตะกละ” อย่างนี้ กินเท่าไหร่ไม่รู้จักพอ เด็กคนเดียวกัน เหตุการณ์เดียวกัน แต่ถูกมองในมุมที่ต่างกันสุดขั้ว แล้วก็ตีตราให้เด็กอย่างที่ตนเองคิด ลองคิดถึงใจของเด็กคนนั้นดูซิคะ ว่าถ้าเขาได้ยินคำว่า “แชมเปี้ยน” เขาจะรู้สึกอย่างไร และถ้าโชคร้ายได้ยินคำว่า “ตะกละ” แทน เขาจะรู้สึกอย่างไร คงไม่ต้องตอบ ไม่ต้องบรรยายนะคะ ใจเขา...ใจเรา
           
ไม่มาก ไม่น้อย...พอดี พอดี
            ทุกคนคงเห็นด้วยนะคะว่า พอดี พอดี นี่ยากที่สุด กับทุกๆเรื่อง กับทุกๆคนเลยค่ะ สำหรับผู้ใหญ่การที่จะยอมรับและปล่อยวางกับบางเรื่องบางอย่างที่มากไปบ้างน้อยไปบ้างก็อาจจะไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่กับเด็กๆสิ่งที่กระทบกับใจมันก็จะมีผลกับใจในทันทีทันใด ยอมรับหรือปล่อยวางคงเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะเข้าใจ  ผลกระทบอาจไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมในทันที แต่มันจะค่อยๆสะสม ค่อยๆกัดกร่อน หรือบางครั้งก็ค่อยๆสร้าง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม เป็นนิสัย ทั้งในทางบวกและทางลบ ขึ้นอยู่กับตัวเหตุปัจจัย ผู้ใหญ่บางคนก็จะชื่นชมลูกหลานของตัวอย่างมากมาย ลูกดีที่สุด เก่งที่สุด ฉลาดที่สุด ลูกเป็นที่หนึ่งเสมอ บอกกันทุกบ่อย บอกกันทุกวัน ทราบหรือไม่ค่ะว่าคำชมเหล่านี้กลับกลายไปเป็นความคาดหวัง และสร้างแรงกดดันให้เด็ก ว่าจะต้องพยายามดี พยายามเก่ง และต้องเป็นที่หนึ่งเสมอ การที่เด็กจะต้องดันตัวเองตลอดเวลาเพื่อรักษาสถานภาพของการเป็นคนเก่งคนดีอยู่ตลอดเวลา ไม่น่าจะสนุกเลยนะคะ ชีวิตวัยเยาว์ที่ควรจะสดชื่นรื่นรมย์มันหายไป น่าเสียดายนะคะ
            ในทางกลับกันเด็กบางคนก็จะถูกดุ ถูกว่าอยู่ตลอดเวลาว่า ดื้อที่สุด ซนที่สุด

ภาพจาก http://www.ourinterestingworld.ru/


ขี้เกียจที่สุด หรือที่เลวร้ายกว่านั้นก็ถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กขี้โกหก เป็นเด็กขี้ขโมย บางคนโดนตีตรามาตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อยยังเป็นเด็กอนุบาลอยู่เลย อาจจะยังไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำว่าขโมยคืออะไร  หนูแค่เห็นมันวางอยู่บนโต๊ะ ไม่เห็นมีใครสนใจ หนูอยากได้หนูก็เลยหยิบมา ไม่ได้แอบหยิบนะคะ แต่ผู้ใหญ่ก็รุมกันว่าหนูว่าขี้ขโมย ถึงจะไม่เข้าใจว่าขโมยคืออะไร แต่การดุ การว่ากล่าว หรือแม้แต่การลงโทษที่ผู้ใหญ่กระทำ มันก็ทำให้หนูรู้ได้ว่ามันต้องเป็นสิ่งเลวร้ายมากแน่ๆ   หากเด็กๆ ถูกดุ ถูกตำหนิ ถูกปิดป้ายตีตราอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เด็กก็จะเชื่อเหมือนกันว่าตัวเองไม่ใช่เด็กดี และไม่มีวันเป็นเด็กดี ถ้าหากเด็กเชื่อเช่นนั้นแล้ว ความพยายามที่จะเป็นเด็กดีก็คงไม่ค่อยจะมีเท่าไหร่ หรือหากแย่ไปกว่านั้นสำหรับเด็กที่โตขึ้นอีกนิดก็อาจจะมีการกระทำเพื่อเป็นการประชดชีวิต ประชดผู้ใหญ่ไปเสียเลย แล้วถ้าชีวิตของเขาไม่โชคดีไปเจอจุดพลิก
ผัน เราก็อาจจะต้องสูญเสียโอกาสที่จะมีอนาคตดีๆของชาติไปอีกคน ถ้าเป็นเช่นนั้นมันก็น่าเศร้าใจนะคะ
            ก็อยากให้พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่พยายามที่จะทำอะไรที่พอดี พอดี จะชื่นชมก็พอเหมาะพอสม พยายามชื่นชมกับการกระทำมากกว่าตัวบุคคล จะดุจะตำหนิก็ตำหนิที่การกระทำ ไม่ใช่ที่ตัวบุคคลเช่นกัน หากพยายามทำกันให้ได้เช่นนี้ เราคงได้เห็นอะไรที่พอดี พอดี มากขึ้น และบ่อยขึ้นนะคะ
           
ฝันดี ไม่มีป้าย
            มาถึงตรงนี้สะดุดใจกันบ้างหรือไม่ค่ะว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรไปโดยไม่รู้ และไม่มีเจตนา ไปไม่น้อย มันน่าตกใจเหมือนกันนะคะที่ได้รู้ว่า การชื่นชม การหยอกเอิน
ซึ่งเป็นเรื่องดีกลับไปสร้างผลกระทบทางลบได้ นอกเหนือไปจากที่เราอาจเคยได้ยินบ่อยๆว่าอย่าชมมากนักเดี๋ยวจะเหลิง หรือบางทีเราก็อาจเคยไปว่าไปตัดสินใครๆโดยไม่ทันคิดเช่นกันว่าจะไปสร้างบาดแผลในใจให้เขาหรือเปล่า โดยเฉพาะกับเด็กๆ ช่วยกันเถอะนะคะคิดทบทวนสักนิดก่อนที่จะว่า จะตัดสินอะไรใคร พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการปิดป้าย ตีตรา ที่จะเป็นฝันร้ายของเด็กๆ มาช่วยกันดูแลให้พวกเขาเติบโตอย่างงดงาม เปลี่ยน ฝันร้าย เป็น ฝันดี...ไม่มีป้าย นะคะ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น