วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

เล่นเกม สร้างสรรค์หรือสร้าง(นิสัย)เสีย

เล่นเกม สร้างสรรค์หรือสร้าง(นิสัย)เสีย
ธิดา พิทักษ์สินสุข


ภาพจาก http://www.ehow.co.uk/

                เดี๋ยวนี้ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่หรือแม้แต่ผู้อาวุโส ก็เล่นเกมโน่น เกมนี่กันหมด
ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนากันตลอดเวลา   ก็เลยมีทางเลือกให้มากมายหลากหลายในหมู่ Tablet การพกพาก็แสนจะสะดวกสบาย  แถมเล่นแล้วก็ออกจะเพลิดเพลินจนถึงขั้นติดกันโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว  มิหนำซ้ำเขายังว่าการเล่นเกมนี้ดีมีประโยชน์   สำหรับเด็กก็ช่วยพัฒนาทักษะหลายด้าน ผู้ใหญ่ก็ช่วยคลายเครียด ผู้อาวุโสเล่นแล้วจะได้ไม่เป็นอัลไซเมอร์ ช่างดีกับทุกเพศทุกวัยจริงๆ แต่ด้วยความที่โลกมันกลม และเหรียญก็ไม่ได้มีด้านเดียว ฉันใดฉันนั้น เกมก็คงไม่ได้ดีมีประโยชน์ไปหมดอย่างที่คนบางคนเลือกที่จะเชื่อหรอกค่ะ ดังนั้นหากจะให้ลูกเล่นเกม พ่อแม่ควรจะมีคำแนะนำให้ลูกด้วยนะคะ

ดีของเขาฤาจะใช่ดีของเรา

 คิดว่าคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่นี้ค่อนข้างจะให้ความสนใจกับเรื่องต่างๆของลูกค่อนข้างมาก  และก็มักจะหาข้อมูลความรู้จากหลากหลายแหล่งเพื่อที่จะสามารถเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุด  และเชื่อว่าคงมีไม่น้อยที่จะเคยหาข้อมูลเกี่ยวกับเกมที่ลูกเล่น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เกมทางโซเชียลเน็ตเวิร์คกำลังฮอตฮิตเป็นอย่างมาก หลายๆคนดูข้อมูลแล้วก็คงค่อนข้างจะสบายใจ เพราะเขาบอกว่าเกมนี้ดีเหมาะกับเด็ก นอกจากความสนุกแล้ว เด็กยังจะมีโอกาสพัฒนาทักษะในการเลือก การตัดสินใจ และการสร้างสรรค์ด้วยจินตนาการมากกว่านั้นก็ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนๆ เพราะเกมนี้ผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์ ระหว่างกันได้ สามารถช่วยกันดูแลรักษา และสามารถขโมยของของเพื่อนได้  อ่านช่วงแรกเพลินๆ ก็ดูดีนะคะ แต่พอถึงช่วงท้าย อดกังวลใจไม่ได้จริงๆว่าคนสมัยนี้เขาคิดอะไรกันอยู่  เขารู้ตัวหรือไม่ว่ากำลังส่งข้อมูลถึงเด็กๆ ว่าการขโมยเป็นสิ่งที่กระทำได้  ไม่ว่าจะเพื่อเหตุผลกลใด  จะแค่เพื่อความสนุกสนาน หรืออื่นใด  แต่สิ่งที่เด็กๆจะรับไปก็คือ การขโมยเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำกันได้ เรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ถึงกับต้องห้ามลูกเล่นเกม  เพราะหากคิดจะห้ามก็คงจะห้ามยากมากด้วย  แต่สิ่งที่ควรทำคือบอกลูกถึงสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรที่มีอยู่ในเกม  บอกให้รู้  ให้ลูกรับรู้เป็นข้อมูลไว้ก็พอ  แต่ไม่ต้องไปจุกจิกจู้จี้กับลูกให้มากมาย  ไม่เช่นนั้นลูกอาจจะไม่รับฟังในสิ่งที่เราบอกเราเตือน  คุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นใจว่าถ้าเราเลี้ยงดูลูกด้วยความรัก ให้ความเข้าใจ ความใกล้ชิด เลี้ยงอย่างมีเหตุมีผล รู้ถูกรู้ควร ไม่มากไปหรือน้อยไป  การเล่นเกม หรือ การต้องไปอยู่ในโลกกว้างที่มีทั้งสิ่งดี สิ่งไม่ดี ก็จะไม่ทำให้ลูกเราหลงไปหรือเสียคนไปหรอกนะคะ

ผลกระทบเชิงลบของไซเบอร์เกม
                       

ภาพจาก http://www.designinearlychildhoodeducationau.blogspot.com/

ถึงแม้ว่าการเล่นเกมจะเป็นวิธีที่เด็กจะได้เรียนรู้ถึงการใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างเพลิดเพลิน เป็นการเรียนรู้ที่สนุก และยังได้พัฒนาทักษะบางด้าน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็มีผลกระทบเชิงลบอยู่ไม่น้อย และเป็นผลกระทบที่เราไม่สามารถจะวางเฉย หรือไม่ให้ความสนใจได้
-          เด็กมีความเข้าใจเรื่องการแก้ปัญหาแบบผิดๆ เด็กที่เล่นเกมจนเคยชินจะเผลอเข้าใจว่าการแก้ปัญหาเป็นเรื่องง่าย แค่คลิ๊กเดียวปัญหาก็จบ แต่พอมาเจอกับชีวิตจริงที่การแก้ปัญหามันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เด็กเหล่านี้ก็จะมีปัญหาในการปรับตัวปรับใจเพื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆในชีวิต
-          เด็กจะก้าวร้าวเกินวัย การเล่นเกมที่มีความรุนแรงทั้งการใช้อาวุธ การต่อสู้การยิงหรือแม้กระทั่งการฆ่า จะปลูกฝังความก้าวร้าวในตัวเด็กโดยไม่รู้ตัว บ่อยครั้งที่เด็กไปแสดงออกที่โรงเรียนเรื่องการก้าวร้าว ชอบใช้กำลังในการแก้ปัญหา และยังมีปัญหาที่ไม่สามารถเข้ากับเพื่อนๆได้
-          เด็กจะเข้าใจผิดว่าพฤติกรรมก้าวร้าวทำให้เขาเป็นผู้ชนะ หรือได้รับรางวัล เพราะเมื่อเล่นเกมที่ต้องต่อสู้ ที่ต้องกำจัดคู่แข่ง ยิ่งฆ่าได้มากก็ยิ่งได้คะแนนมากหรือบางทียังได้รับโบนัสพิเศษเสียอีก จนทำให้เด็กถูกปลูกฝังความคิดที่ว่า การที่จะชนะ หรือการแก้ปัญหากับใครๆ ก็คือแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลัง การต่อสู้ หรือการกำจัดคู่กรณีเสีย
-          เด็กมักจะขาดจินตนาการในการเผชิญปัญหา การแก้ปัญหาในเกมมักใช้วิธีกำจัดตัวปัญหาออกไป ไม่ว่าจะด้วยการต่อสู้ที่รุนแรง หรือแม้กระทั่งการฆ่าตัวปัญหา เด็กจึงขาดทักษะในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ด้วยสันติวิธีด้วยความใส่ใจและสนใจในเรื่องของความรู้สึกของผู้อื่น และในระยะยาวก็จะนำไปสู่การขาดคุณธรรม จริยธรรม และความอ่อนโยนในจิตใจ

โลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่โลกเสมือนจริง


ภาพจาก http://www.news.wisc.edu/

            เราจะต้องช่วยกันชักชวน ชักนำให้เด็กๆได้รับรู้ ได้สัมผัส ได้ทำกิจกรรม ในโลกแห่งความเป็นจริงให้มากๆ เพราะการที่เด็กยุคนี้ใช้เทคโนโลยีมากๆ ใช้แม้แต่ในการเล่นทำให้เวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการนั่งปักหลักอยู่ในโลกเสมือนจริง การที่จะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ การที่จะได้ออกไปเล่นหรือทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ การที่จะได้ออกกำลังกายให้ได้เหงื่อ ก็ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆจนแทบจะไม่เหลือ เด็กๆเหล่านี้มักจะมีปัญหาและขาดพัฒนาการในเรื่องทักษะสังคม
            คำถามสำหรับคุณพ่อคุณแม่ก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะชักชวนให้เด็กๆกลับมาทำกิจกรรมและใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง โดยธรรมชาติเรารู้ว่าเด็กๆจะชอบทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับเพื่อน คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตหรือไม่ค่ะ ว่าถ้าในวันหยุด เด็กๆได้มาเจอกัน เล่นกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การทำงานศิลปะ การทำอาหาร หรืออะไรก็ตาม เด็กมักจะสนุกและมีความสุขที่จะมีเพื่อนมาร่วมกิจกรรมด้วย มากกว่าการเล่นอยู่คนเดียวหรือเล่นกับผู้ใหญ่อย่างเราๆ ดังนั้นหากเราต้องการดึงลูกให้ออกมาจากโลกเสมือนจริงคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเสียสละเวลาส่วนตัวที่จะต้องคอยรับส่ง หรือการดูแลอำนวยความสะดวกให้เด็กๆได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมในโลกแห่งความเป็นจริงนอกจากจะมีผลดีต่อร่างกายแล้ว ยังมีผลดีทางด้านจิตใจเป็นอย่างมาก เด็กจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเสียสละ การแบ่งปัน การเคารพกติกา ความมีน้ำใจ การมีจิตใจที่อ่อนโยนสนใจความรู้สึกของผู้อื่น และนั่นก็คือการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้ลูกอย่างเป็นธรรมชาติค่ะ
            พยายามนะคะหากเราสามารถดึงลูกให้กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ได้พบปะทำกิจกรรมและได้เล่นสนุกกับเพื่อนๆแล้ว การที่ได้อยู่ได้เล่นกับเพื่อนตัวเป็นๆย่อมทำให้พวกเขามีความสุขที่แท้จริงมากกว่า และยังได้ประโยชน์ทั้งทางด้านการพัฒนาด้านร่างกาย และด้านจิตใจ และเมื่อต้องเผชิญปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือเด็กๆจะเรียนรู้ว่า เพื่อนตัวเป็นๆนี่แหละคือเพื่อนที่จะช่วยเขาได้ เป็นบุคคลที่เขาจะพึ่งพิงได้จริงๆ ไม่ใช่เพื่อนที่เขารู้จักพูดคุยผ่านสังคมออนไลน์เท่านั้น ที่สำคัญหากเด็กๆยังไม่สามารถหลุดออกมาจากโลกเสมือนจริงได้คุณพ่อคุณแม่อย่าใช้วิธีบังคับ หรือกดดันเด็กนะคะ เพราะหากเรายิ่งแรงเด็กก็จะยิ่งต่อต้าน คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามเข้าใจ พยายามส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการที่จะให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ค่อยๆเป็นค่อยๆไปนะคะ ถ้าเขาได้เริ่มต้นแล้วมันก็จะมีครั้งต่อๆไปแน่นอน ก็การเล่น การอยู่กับเพื่อนตัวเป็นๆมันสนุกกว่าการเล่นอยู่คนเดียวจริงๆนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น