การเรียนรู้ในโรงเรียนเป็นแบบฝึกหัดเลียนแบบการใช้ชีวิตจริงในสังคมภายนอกที่มีครูและพ่อแม่ร่วมมือกันคอยประคับประคอง ให้ลูกได้เรียนรู้และมีค่านิยมที่ดีติดตัวของเขาไป เมื่อลูกเข้าโรงเรียน นอกจากเรื่องเรียนแล้วเราคงอยากให้ลูกเป็นที่รักของเพื่อน เป็นที่ยอมรับของครู แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ต้องยอมเพื่อน เอาใจเพื่อนจนไม่เป็นตัวของตัวเอง
องค์ประกอบของความสุข
การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในโรงเรียนนั้น จะต้องมีองค์ประกอบของความสุข ๒ อย่างด้วยกัน
ประการแรก คือ นิสัยดีๆ ที่เพื่อนอยากคบด้วย
ถ้าลูกของเราอยู่ด้วยแล้วกลุ่มมีความสุข นำความสำเร็จมาให้กลุ่ม ใคร ๆ ก็อยากให้ลูกเข้ากลุ่ม ในทางตรงข้ามถ้าลูกเข้ากลุ่มกับใครแล้ววงแตก ทำให้กลุ่มทะเลาะกัน เอาแต่ใจ เอาเปรียบ อย่างนี้ไม่นานก็ไม่มีใครอยากคบหาด้วย ปัญหาเรื่องเข้ากลุ่มเพื่อนไม่ได้ ก็จะทำให้ลูกน้ำตาตก ไม่อยากไปโรงเรียน คราวนี้ก็ถึงคราวที่พ่อแม่จะน้ำตาตก ทุกข์ใจไปกับลูก
ประการที่สอง คือ ลูกจะมีความสุขได้ต้องเป็นตัวของตัวเอง
ประการที่สอง คือ ลูกจะมีความสุขได้ต้องเป็นตัวของตัวเอง
การพยายามตามใจเพื่อน คอยเอาใจเพื่อนก็จะทำให้ตัวเองไม่เป็นสุข บางคนยอมเป็นเจ้าบุญทุ่มของมาแจกเพื่อน บางคนยอมเป็นตัวตลกในกลุ่ม บางคนยอมเป็นลูกไล่ เพียงให้เพื่อนยอมรับ เราคงอยากให้ลูกของเราเป็นที่ยอมรับของเพื่อนได้อย่างสง่างาม ไม่สูญเสียความแป็นตัวของตัวเอง คนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราจะทำอย่างไรดีที่จะช่วยสนับสนุนให้ลูกได้ใช้ชีวิตในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข
การส่งเสริมสนับสนุนของพ่อแม่เพื่อให้ลูกมีความสุขที่โรงเรียน
๑. สอนให้ลูกรู้จักการรอคอย ไม่เอาแต่ใจตัว
ลูกต้องรู้จักรอคอยเป็น ไม่ใช่อะไรฉันต้องได้ก่อน อย่างนี้เพื่อนไม่อยากคบ การรอคอยไม่เป็นจะนำไปสู่นิสัยของการเอาแต่ใจตัว ขี้หงุดหงิดเมื่อไม่ได้ดั่งใจ การรอคอยไม่เป็นนี้เกิดจากลูกที่พ่อแม่ ปู่ย่าตายายเอาใจมาก อยากได้อะไรเป็นต้องได้ และได้ทันทีเสียด้วย ในสังคมจริงไม่มีหรอกค่ะที่จะมีใครมาคอยตามใจได้ขนาดนั้น ลูกจะลำบากหากมีนิสัยไม่ดีนี้ติดตัวมา การให้ลูกรู้จักการให้โอกาสกับเพื่อน ให้โอกาสกับตัวเอง จะทำให้กลุ่มเด็กๆ อยู่ด้วยกันได้อย่างดี
๒. สอนให้ลูกเป็นคนดี มีน้ำใจ
คนใจดีใครๆ ก็อยากคบด้วย จริงไหมคะ ต้องสอนให้ลูกมีน้ำใจที่จะช่วยเหลือเพื่อน ช่วยเหลือกิจกรรมหรืองานกลุ่มที่ครูมอบหมายให้ รู้จักแสดงความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเพื่อนเดือดร้อน บาดเจ็บ ต้องสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน รู้จักคิดถึงคนอื่น รู้ว่าเพื่อนชอบอะไร ก็นึกถึงและเอาของเล็กๆ น้อยๆ ไปฝาก เป็นการแสดงถึงความนึกถึง แต่การฝึกตรงนี้พ่อแม่ต้องรอบคอบด้วยนะคะ ไม่อย่างนั้นลูกจะเอาของเล่นเป็นเครื่องมือล่อให้เพื่อนมาคบด้วย อย่างนี้เพื่อนก็ไม่ได้จริงใจด้วย แค่คบหาชั่วคราวเพื่อให้ได้ของเล่น
เรื่องของความมีน้ำใจดีนี้ คุณพ่อคุณแม่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกได้เป็นอย่างดีค่ะ เช่น แบ่งมะม่วงให้กับเพื่อนบ้าน ไปหนองมนมาก็เอาขนมไปฝากเพื่อนที่ทำงาน การเล่าถึงการช่วยเหลืองานเพื่อนร่วมงาน การแสดงความเห็นใจและให้ความช่วยเหลือเมื่อเพื่อนเดือดเนื้อร้อนใจ อย่างนี้เรียกว่าการสอนลูกด้วยวิธีการเป็นแบบอย่าง ซึ่งเป็นการสอนที่ได้ผลที่สุดค่ะ
๓.สอนให้ลูกรู้จักสร้างข้อตกลง เคารพกฎกติกา
สิ่งที่ช่วยให้เด็กๆ อยู่ร่วมกันได้ดีนั้น พ่อแม่ต้องฝึกให้เขารู้จักสร้างข้อตกลง ฝึกให้เขารักษากฎ กติกา ข้อตกลง บ่อยครั้งที่พ่อแม่อย่างเราๆ ติดที่จะสั่งโน่น ห้ามนี่โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้มีทักษะในการกำหนดข้อตกลงด้วยตนเอง เช่น ให้ลูกเสนอมาว่าถ้าลูกจะออกไปเตะบอลกับเพื่อนลูกจะต้องทำอย่างไรบ้าง และให้ลูกให้เหตุผลประกอบด้วย ฝึกให้เขารักษาข้อตกลง วิธีนี้จะทำให้ลูกกลายเป็นผู้นำกลุ่มที่ดี ที่จะชวนเพื่อนสร้างข้อตกลงที่สมเหตุสมผล และกลุ่มเองก็มีหลักในการอยู่ร่วมกันภายใต้กติกา เพื่อนจะยอมรับ นับถือและรับฟังความคิดเห็นของลูก
๔. สอนให้ลูกมีทักษะการเจรจา
ทักษะการเจรจาที่สำคัญประการแรก คือ ทักษะการเจรจาโน้มน้าว และนำเสนอความเห็น ทักษะนี้ฝึกได้โดย ให้ลูกให้เหตุผลเมื่อเขาต้องการอะไร หรือต้องการทำอะไร และเหตุผลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์ต่อตนเองและขณะเดียวกันก็ต้องนึกถึงผู้อื่นด้วย เช่น อยากให้พาคุณพ่อคุณแม่พาไปสวนสนุก ให้ลูกให้เหตุผล และให้เสนอว่าจะไปได้อย่างไร ขณะที่ทุกคนก็มีงานอื่นต้องทำ ลูกก็จะพยายามหาเหตุผลมาโน้มน้าว และเสนอการให้ความช่วยเหลือคนอื่น หรือเสนอทางออกให้
ทักษะการเจรจาที่สำคัญอีกทักษะหนึ่ง คือ ทักษะการเจรจาสันติภาพ เราจะพบว่าปัญหาทะเลาะกันในกลุ่มเด็กจะลดลงได้ ถ้าเพื่อนในกลุ่มบางคนเสนอทางออกด้วยการเจรจา ด้วยการต่อรอง ด้วยการเสนอทางออก แทนที่จะใช้กำลัง ใช้วาจารุนแรงต่อกัน การทำอย่างนี้ลูกจะเป็นที่รักของกลุ่มเพื่อน เพราะเป็นคนที่สามารถหาทางออกที่ดีให้กับกลุ่มได้ การฝึกฝนลูกในเรื่องนี้ที่ได้ผล คือ การที่เราให้เหตุผลกับลูกอยู่เสมอ เมื่อลูกทำผิดก็ไม่ใช้ความรุนแรง ด้วยการฟาดการตวาด แต่ใช้การพูดคุยเพื่อให้ลูกสำนึกผิด หรือใช้วิธีการสร้างเงื่อนไขโดยงดสิ่งที่ลูกชอบ เป็นต้น
๕. สอนให้ลูกเป็นคนช่างคิด ช่างทำ
เด็กๆ ที่ช่างคิด ช่างทำ คือเด็กที่เป็นนักสร้างสรรค์ เพื่อนๆ จะรัก และมักจะเป็นคนที่นำความสำเร็จมาสู่กลุ่มอยู่เสมอ เวลาที่คุณครูให้เข้ากลุ่มใครๆ ก็อยากให้ลูกเข้ากลุ่มด้วย การฝึกฝนลูกในเรื่องนี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นเรียกลูกมาช่วยงาน เช่น ไปล้างรถกับคุณพ่อ ช่วยคุณแม่ล้างจาน แม่ ให้มอบหมายหน้าที่ประจำในงานส่วนรวมของบ้าน เช่น กรอกน้ำเข้าตู้เย็น ตักข้าวให้ทุกคน
ลูกที่ช่วยทำงานเป็นประจำจะเป็นคนที่จะทำอะไรก็คล่องแคล่ว ไม่งุ่มง่าม เงอะงะ ขณะให้ลูกช่วยงานอย่าบ่นว่า แต่ให้มีบรรยากาศที่ดีของการทำงานร่วมกัน ให้ชมเชยลูก ยอมรับความผิดพลาดของลูกได้ ทำให้ลูกรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยงานคุณพ่อคุณ
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้เป็นผู้นำเสนอความคิด และสนับสนุนความคิดของลูกเพื่อให้ลูกประสบความสำเร็จ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ลูกอาจเสนอว่าบ้านเราน่าจะปลูกดอกไม้ที่มีหลายๆ สีบ้าง อะไรที่เห็นว่าทำได้ก็ควรสนับสนุน ด้วยการชวนกันไปเลือกไม้ดอก แล้วมาปลูกด้วยกัน
๖. สอนให้ลูกเป็นเด็กดีกับคุณครู แต่ไม่ชูตัวเองเด่น
เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนคงสอนให้ลูกเป็นดี เด็กที่เชื่อฟังคุณครู หรือให้ช่วยเหลืองานคุณครู แต่อย่าลืมสอนลูกด้วยนะคะว่า จะต้องไม่ทำให้เกินหน้าเพื่อน เพื่อนจะอิจฉาที่ครูมาให้ความสนใจ หรือชมเชยอยู่ตลอดเวลา ควรสอนลูกให้ชวนเพื่อนทำความดี เรียกว่าเปิดโอกาสให้เพื่อนสร้างผลงานด้วย อย่างนี้ครูก็รักโดยไม่เป็นที่น่าหมั่นไส้ หรือเป็นที่อิจฉาของเพื่อน ๆ
จะเห็นว่าการฝึกฝนให้ลูกเป็นเด็กที่มีทักษะทางสังคมที่ดีดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นการสร้างตัวตนของลูกให้เป็นคนที่มีคุณค่าต่อตนเอง ต่อคนอื่น ลูกจะเป็นที่รักของเพื่อน โดยไม่จำเป็นต้องไปตามใจเพื่อนจนเสียความเป็นตัวของตัวเอง และยังเป็นคนที่มีนิสัยที่น่ารัก เป็นเสน่ห์ติดตัว ใครเห็นใครก็รัก ใครเห็นใครก็เอ็นดู
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น