ภาพจากfamilybudgetideas.com |
โอกาสดีที่จะสอนเรื่องการประหยัด
ธิดา พิทักษ์สินสุข
ถ้าใครได้ใกล้ชิดคุณตาคุณยายก็มักจะได้ยินท่านเล่าเรื่องยุคข้าวยากหมากแพงในช่วงสมัยสงครามที่ท่านได้เผชิญกันมา ท่านก็จะเล่าค่ะว่าในยุคนั้นข้าวของหายาก บางครั้งมีเงินทองก็ไม่สามารถซื้อหาได้เพราะเป็นยุคของความขาดแคลน ขาดแม้กระทั่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น พวกสบู่ ยาสีฟัน ผ้าอนามัย ยารักษาโรค ทำให้ผู้คนในยุคนั้นต้องใช้ของต่างๆ อย่างประหยัด รู้จักคิดดัดแปลง และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่มาทดแทนของที่หาไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณตาคุณยายที่ผ่านสถานการณ์ความลำบากในยุคนั้นเรียนรู้และได้สมบัติที่ดีติดตัวมากันทุกคน คือ การประหยัด อดออมและใช้ของอย่างรู้คุณค่า และหมั่นพร่ำสอนพวกเราให้กินข้าวกินปลาให้หมด ขวดเล็กขวดน้อยก็อย่างทิ้งขว้างล้างเก็บไว้เผื่อเอากลับมาใส่โน่นใส่นี่ จะทิ้งอะไรทีก็คิดก่อนทิ้งอยู่เสมอ สถานการณ์ทำให้ท่านประหยัด โดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อในการณรงค์เรื่องการประหยัดทรัพยากรและลดขยะ
ยุคเราเป็นพ่อแม่...กับสถานการณ์โลกร้อนและเศรษฐกิจตกต่ำ
ยุคนี้เปิดทีวี...ของที่ขาดไม่ได้เสียแล้วในทุกบ้าน ก็จะพบกับการรายงานเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ขยะล้นโลก ราคาสินค้าพุ่งกระฉูด เศรษฐกิจตกต่ำและตามมาด้วยการรณรงค์เรื่องการประหยัดทรัพยากร การอดออม และทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่เราจะนำสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่เป็นเครื่องมือในการสอนลูกของเรา ปลูกนิสัยเรื่องการประหยัดไม่ว่าจะเป็นการประหยัดน้ำไฟ การจับจ่ายใช้สอย การใช้ของอย่างรู้ค่า การประยุกต์ ดัดแปลงนำของเก่ามาใช้ใหม่
การปลูกฝังเรื่องของการประหยัดนี้ ทำเสียก่อนที่ลูกจะเข้าสู่วัยพรีทีนยิ่งดีค่ะ เพื่อป้องกันวัยรุ่นที่ใช้เงินไม่เป็น ใช้เงินเกินตัว อยากได้โน่นได้นี่ คิดไม่ได้คิดไม่เป็นจึงจับจ่ายในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ ดังนั้น ใครมีลูกวัยประถมศึกษา ต้องรีบสร้างนิสัยของการประหยัด เพราะวัยประถมเป็นวัยที่ลูกเริ่มใช้เงินด้วยตัวเอง ต้องบริหารจัดการค่าขนมของตนเอง เป็นวัยที่ยังมีความใกล้ชิดกับพ่อแม่ ดังนั้นครอบครัวยังมีอิทธิพลต่อการคิดและปลูกฝังอุปนิสัยที่ดีให้กับลูก เอาล่ะค่ะ
เอาล่ะค่ะ สถานการณ์เศรษฐกิจที่ดูจะย่ำแย่ เมื่อมองในมุมบวก เรากับมีโอกาสดีอยู่ในมือเราแล้ว เราจะทำอย่างไรกันต่อไป
ใช้การรณรงค์ในสังคม....ในโรงเรียน...สู่การรณรงค์ในระดับครอบครัว
ในทีวีแทบจะทุกช่อง วันละหลายครั้งที่กล่าวถึงการประหยัดและอดออม รวมถึงการรณรงค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การประหยัดทรัพยากร รวมไปถึงการรณรงค์และกิจกรรมที่โรงเรียนทุกโรงทำกันอยู่ เราพ่อแม่ต่อยอดเลยค่ะ คุณครูให้ทำรายงานเรื่องโรคร้อน เรามาทำเรื่องการลดขยะกันในบ้าน มีการรีไซเคิล รียูส เอาของเก่ากลับมาใช้ใหม่ ของที่ไม่ใช้แล้วนำไปมอบหรือบริจาคให้คนไปใช้ต่อ หรือเอาไปขาย ได้เงินกลับมา การรณรงค์เรื่องปิดไฟวันละนาที เอามารณรงค์ในบ้านต่อ ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น เมื่อมีการรณรงค์ในบ้านเมือง เราก็ชวนลูกพูดคุย ให้เขาแสดงความคิดเห็น เมื่อเด็กๆ ได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เห็นเลยใช่ไหมคะว่าเขาจะเบิกบานมาก คิดโน่นคิดนี่ เป็นจริงได้บ้างไม่ได้บ้าง เราก็ค่อยๆ ตะล่อมตะล่อม มาสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง ลูกจะรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมคิด ก็จะนำไปสู่การร่วมทำ และให้ความร่วมมือ คราวนี้ก็ถึงเรื่องการทำอย่างสม่ำเสมอตามมาจนเป็นนิสัย
ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่า ใช้โอกาสจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มาสร้างความตระหนัก สู่การมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ และคุณพ่อคุณแม่คอยกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ลูกก็จะมีนิสัยดีๆ มีนิสัยประหยัด และใช้ของอย่างมีคุณค่าติดตัวไปจนโต
การสร้างวิถีชีวิตที่ดี
ลูกต้องรู้ใจ ผู้ใหญ่คิดอะไรอยู่
กิจกรรมในวันหยุดของครอบครัวมักหนีไม่พ้นการไปจับจ่ายตามห้างสรรพสินค้า เพื่อซื้อของเข้าบ้าน ยิ่งบ้านไหนคุณแม่บ้านไปทำงานนอกบ้านด้วยแล้ว รายการจับจ่ายของก็ยิ่งมากขึ้นด้วย เรียกว่าหนึ่งรถเข็นไม่พออย่างแน่นอน พ่อเข็นคัน แม่เข็นคัน เต็มรถเข็น ลูกเห็นอย่างนี้ทุกๆ สัปดาห์ ดูเหมือนจะลบคำว่า “ประหยัด” ออกไปจากความคิดของลูกได้เลยค่ะ มีคำว่า “ซื้อ ซื้อ” เข้าไปแทนที่ คำว่า“ประหยัด”เป็นนามธรรม ส่วนภาพของที่ซื้อมาจนเต็มรถนั้นเป็นรูปธรรมที่เห็นกับตาและจับต้องได้ โจทย์ที่จะให้เด็กรู้จักการประหยัดในยุคนี้จึงทำได้ยากขึ้นในวิถีปัจจุบัน
โจทย์นี้แก้ได้ด้วยคุณพ่อคุณแม่ต้องพูดความคิดของตัวเองออกมาดังๆ ให้ลูกรู้ว่าเราคิดอะไรอยู่ รู้ว่าเราทำอะไรไปเพราะอะไร และเรามีแผนการใช้เงินอย่างไร
ขณะจับจ่ายใช้สอยมีบทสนทนามากมายที่ทำให้ลูกรู้ว่าเราคำนึงถึงการประหยัด เรื่องนี้สำคัญและจำเป็นนะคะ ที่จะต้องพูดคุยกับลูกไปด้วยขณะจับจ่าย เช่น ทำไมต้องจัดทำรายการของเพื่อไปซื้อของทีเดียวให้ครบ เพราะทำให้ประหยัดน้ำมัน ประหยัดเวลา ทำไมต้องซื้อของแพ็คใหญ่ เพราะจะทำให้ได้ราคาที่ถูกลง ให้ลูกได้ดูรายการสินค้าลดราคาที่ช่วยให้ประหยัดเงิน ดูวันหมดอายุสินค้าเพื่อไม่ต้องซื้อมาไม่กี่วันก็ต้องทิ้งทำให้สิ้นเปลือง ทำไมต้องซื้อรองเท้าแตะคู่ใหม่ เพราะคู่เก่าชำรุดแล้ว อย่างนี้จะทำให้ลูกเข้าใจว่าเจ้าของเต็มรถเข็นเต็มตะกร้านั้น ผ่านการคิดอย่างรอบคอบถึงความจำเป็นในการที่ต้องซื้อหา อีกทั้งยังทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ไตร่ตรองอีกรอบก่อนตัดสินใจจ่ายเงิน พอเราฝึกบ่อยๆ ลูกตัวน้อยของเรานั่นแหละค่ะ จะช่วยทักท้วงเราให้หยุดคิดก่อนซื้อได้อย่างดีทีเดียวค่ะ เรียกว่าการไปซื้อของได้กลายเป็นการสอนเรื่อง การ “ประหยัด”ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
อยากให้ลูกประหยัด ต้องสอนไม่ใช่แค่ดุหรือตำหนิ
ไม่รู้ว่ายุคสมัยนี้เวลาจำกัดหรือเปล่า จึงทำให้พ่อแม่ใช้การดุ ว่า แล้วก็จบ โดยไม่ได้สอนลูกด้วยการพูดคุย ยกตัวอย่างที่มีให้เห็นเป็นประจำดีกว่านะคะ เอาเป็นฉากในร้านขายของเล่น ลูกไปเลือกซื้อของเล่น เจอของถูกใจฝ่ายลูกกก็จะหน้าบานถือรถบังคับวิทยุมา ส่วนแม่เห็นเข้าก็หน้าหุบเพราะราคาสูงอยู่ พอบอกว่าอย่าซื้อเลยแพงเกินไป คราวนี้ฝ่ายลูกหน้าหุบ ยืนยันว่าจะเอาให้ได้ ถ้าลูกยังไม่ยอมแพ้จะเอาให้ได้ ฝ่ายแม่ก็จะเริ่มดุ ดุ แล้วก็ดุ ต่อไป จะลงเอยด้วยการซื้อให้หรือไม่ซื้อก็ตาม ก็จะตามมาด้วยการบ่น บ่นเสร็จเรื่องนี้ก็เป็นอันจบ การสอนคุณธรรมนั้นไม่ได้เกิดจากการบ่นแต่ต้องเกิดจาก “การอบรมสั่งสอน” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้ได้ดี การสอนที่ได้ผลดีนั้น ผู้สอนต้องพร้อมสอน ผู้เรียนต้องพร้อมเรียน ในแต่ละวันพ่อแม่ควรมีเวลาดีๆ สำหรับสอนลูกด้วยการพูดคุย ชวนให้เขาคิด ว่าเขาควรคิดอย่างไร ควรทำอย่างไร การดุว่า การบ่น จึงไม่ใช่การอบรมลูกที่ได้ผลดี เพราะขณะนั้นผู้บ่นก็ยังมีอารมณ์โกรธ ลูกก็กำลังถูกขัดใจ การเรียนรู้จึงเกิดได้น้อยค่ะ
พ่อแม่คือแบบอย่างที่ดี สิ่งที่สอนกับสิ่งที่ปฏิบัติตรงกัน
เรื่องนี้คงเห็นตรงกันนะคะ เพราะลูกจะเป็นอย่างที่เราเป็นนั่นแหละค่ะ ต่อให้สอนเรื่องการประหยัด แต่ในบ้านก็เปิดไฟกันพรึ่บ มีรองเท้าเต็มตู้ แต่ก็ยังซื้อมาอีกจนล้นตู้ ซื้ออาหารการกินมามากเกินกิน ก็กินครึ่งทิ้งครึ่ง อย่างนี้ก็จบกันค่ะ กับการสอนเรื่องการประหยัด
การประหยัดสอนได้ดีและได้ผล ถ้าได้ฝึกฝนและปฏิบัติในเรื่องใกล้ตัวเป็นประจำและสม่ำเสมอค่ะ พ่อแม่ทำและชวนลูกทำไปด้วยกัน ชื่นชมกันเมื่อใครทำได้ทำดี เช่น ช่วยกันปิดน้ำปิดไฟ ไม่เปิดน้ำแรงจนซ่ากระจาย เป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวที่ทำได้ง่ายๆ ในทุกวัน ลูกจะคุ้นเคยกับการประหยัดในเรื่องเล็กๆ แล้วเป็นนิสัยติดตัวที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในเรื่องอื่นๆ หรือเรียกว่า ประยุกต์การประหยัดเป็นไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้โดยง่าย เพราะมีนิสัยติดตัวไปแล้วนั้นเองค่ะ
กระปุกออมสิน....จนทุกวันนี้ก็สอนได้ดีในเรื่องการออม
การให้ของขวัญลูกเป็นกระปุกออมสินและมีเงินก้นกระปุกเป็นของแถม ยังเป็นเรื่องที่ควรทำอยู่นะคะ เพราะเป็นรูปธรรมของการออมเงินที่เห็นได้ชัดเจน เมื่อเต็มกระปุกก็ตามมาด้วยแผนการใช้เงิน จะนำเงินไปทำอะไร หรือจะนำไปฝากธนาคารต่อไป
“การประหยัด” เป็นเรื่องที่ต้องสอนตั้งแต่ยังเล็ก ยามที่ลูกยังเชื่อฟัง ยามที่ลูกยังฟังเราอยู่ อย่าซื้อหาของให้อย่างตามใจเพียงเพื่อต้องการรอยยิ้มของลูกในวันนี้ จนลูกคิดว่าด้วยความรักของพ่อแม่ลูกอยากได้อะไรก็ต้องได้ไปเสียทุกอย่าง วันที่ลูกย่างเข้าสู่วัยรุ่น ความต้องการของลูกจะเพิ่มขึ้นตามตัว จนเราไม่อาจตอบสนองความต้องการของลูกไปเสียทุกอย่าง แต่ลูกได้นิสัยติดตัว คือ อยากได้อะไรต้องได้ วันนั้นลูกจะขัดใจและไม่เข้าใจ ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นในครอบครัว “อยากได้อะไรแล้วต้องได้ โดยขาดการสอนให้คิด ให้ไตร่ตรอง จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น