วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ลดพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กเล็ก

ลดพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กเล็ก เพื่อไม่ให้ลุกลามไปจนโต

ภาพจากsmh.com.au

โดย ธิดา พิทักษ์สินสุข
                เรื่องของความรุนแรงในเด็กนั้น ดูเหมือนจะสร้างความวิตกกังวลให้กับพ่อแม่ที่พบว่าลูกตัวน้อยมีเค้าความรุนแรงปรากฏให้เห็น  ไม่ว่าจะเป็นการอาละวาดทุบตีพ่อแม่  ชกต่อยกับเพื่อน  ใครขัดใจไม่ได้เป็นต้องลงไม้ลงมือ  ยิ่งโตความก้าวร้าวก็ยิ่งเพิ่มขึ้น รุนแรงขึ้น  ห้ามปรามได้ยาก ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าแล้วโตขึ้นแล้วเจ้าความรุนแรงของลูกจะนำผลร้ายมาสู่ลูก  อย่างเบาะๆ ก็จะเป็นเหตุให้เพื่อนไม่คบ  ถ้ามากกว่านั้นอาจถึงขั้นทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายกัน  
                เมื่อเด็กๆ มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง  เด็กจะตกเป็นจำเลยว่าเขาเป็นเด็กนิสัยไม่ดี อยากให้เชื่อก่อนค่ะว่าเด็กทุกคนอยากเป็นเด็กดีทั้งนั้น  แล้วพิจารณาดูว่าการเลี้ยงดูของเราเป็นอุปสรรคต่อการเป็นคนดีของลูกหรือไม่  ถ้าคิดว่าเป็นเพราะการเลี้ยงดู เราก็จะปรับวิธีการเลี้ยงดูลูก  แต่หากพ่อแม่คิดแต่เพียงว่าเป็นเพราะนิสัยไม่ดีของลูก  การแก้ปัญหามักจะเป็นการกำหราบ ดุว่า หรือคาดโทษ และลูกมักจะถูกจัดการด้วยความรุนแรง  คือการตีให้เจ็บให้จำ  แต่ความก้าวร้าวรุนแรงในเด็กนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะจะทำให้เด็กได้รับความกดดัน  :ซึ่งอาจแสดงออกเป็นสองทาง  ทางหนึ่งนั้นจะแสดงออกมาตรงๆ คือ ต่อต้าน ทำให้พฤติกรรมความรุนแรงเพิ่มขึ้น อีกทางหนึ่งความกดดันจะเปลี่ยนรูปไปเป็นพฤติกรรมไม่ดีอื่น เช่น เรียนไม่ดี ขาดความอดทน   หงุดหงิด แยกตัว เป็นต้น
ดังนั้น หากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกของ  เราจะพบว่าลูกจะกลายเป็นเด็กที่น่ารักขึ้น พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจะค่อยๆ จางหายไป  อยากชวนพ่อแม่พิจารณาสิ่งที่เราปฏิบัติต่อกันในครอบครัวและการเลี้ยงดูลูกว่ามีสิ่งใดที่เป็นตัวกระตุ้นความรุนแรงให้เกิดขึ้นกับลูก

1.      การแสดงออกของพ่อแม่เมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง 
ในทุกบ้านย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้  การที่พ่อแม่ทะเลาะกันแล้วมักจะตะโกนใส่กัน   เมื่อทะเลาะกันรุนแรงขึ้นก็จะขว้างปาสิ่งของเกลื่อนกระจาย  และอาจถึงขึ้นผลักกัน จับตัวเขย่าอย่างแรง  พฤติกรรมเหล่านี้แหละค่ะที่เป็นความรุนแรง  ทุกครั้งที่ลูกเห็นลูกก็จะซึบซับความก้าวร้าวเข้าไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พ่อแม่จำนวนหนึ่งก็ไม่รู้ตัวว่า ตัวเองนั้นเป็นผู้ฝังความรุนแรงลงไปในตัวลูก
2.      การตีลูกด้วยความโกรธ คือแบบอย่างของการใช้ความรุนแรง
ในบ้านที่พ่อแม่ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์โกรธได้   ไม่ว่าจะเกิดจากลูกขัดคำสั่ง ไม่เชื่อฟัง หรือทำเข้าของเสียหาย  พ่อแม่เหล่านี้มักจะตวาด (แสดงความก้าวร้าวด้วยวาจา)  ควบคู่ไปกับการตีลูกด้วยอารมณ์  ส่วนใหญ่ของผู้ที่ตีลูก  ก็มักจะมีข้ออ้างให้ตัวเองว่า ตีเพราะอยากให้ลูกเข็ดไม่ทำอีก  บ้างก็จะออกตัวว่าที่ดีมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะเคยถูกตีมาก่อน  บ้างก็จะบอกว่า ตีเป็นการสั่งสอนไม่ได้ตีด้วยอารมณ์  เอาเข้าจริงมักจะพบว่าในสิบครั้ง  เป็นการตีแบบมีอารมณ์สักเก้าครั้งครึ่ง   เพราะการตีหรือตวาดลูกมักจะหยุดหรือชะงักพฤติกรรมนั้นได้อย่างรวดเร็วทันใจ  ทำให้พ่อแม่ติดใจ และเอาเป็นอาวุธไว้จัดการกับลูก  และนับวันพ่อแม่ก็จะมือไวขึ้นทุกที  การตีทำให้ลูกเรียนรู้ว่า เมื่อใครทำให้เราไม่พอใจ  เราก็ทำให้คนคนนั้นเจ็บตัวได้  การตวาด บอกว่าเมื่อเราโกรธใคร  ให้ตะโกนใส่ ไม่จำเป็นต้องพยายามที่จะพูดกันดีๆ 
เมื่อลูกทำให้ไม่พอใจ  สิ่งที่ควรทำ คือ พ่อแม่จะต้องเป็นแบบอย่างในการควบคุมอารมณ์ อดทนอดกลั้น และแก้ปัญหาด้วยความสงบ ใช้การพูดคุยด้วยเหตุผล และใช้การประนีประนอม

3.      ตามใจไปเสียทุกเรื่อง และปล่อยให้ลูกตวาดหรือตีพ่อแม่ เมื่อเขาไม่ได้ดั่งใจ
ดูเหมือนว่าพวกเราจะได้ยินเสียงบ่นจนหนาหูว่า เด็กสมัยนี้เอาแต่ใจกันเสียจริงๆ  ก็คงมา
จากหลายสาเหตุด้วยกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมัยนี้มีลูกกันน้อย พ่อแม่จึงเอาอกเอาใจกันเต็มที่  บางส่วนก็เป็นเพราะพ่อแม่ให้เวลากับการทำงานมาก  เวลาน้อยนิดที่อยู่ด้วยกันจึงไม่อยากขัดใจลูก หรือไม่ก็เหนื่อยจนไม่อยากปวดหัวกับเรื่องของลูก  จึงตัดบทด้วยการยอมตามที่ลูกต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควรก็ตาม การทำเช่นนี้จะทำให้ลูกเคยชินกับการอยากได้อะไรก็ต้องได้ดั่งใจ  ไม่รู้จักรอคอย  
การตามใจลูกจึงเป็นเหตุให้ลูกเป็นเด็กก้าวร้าวรุนแรง  ไม่รับฟังเหตุผล    และติดพฤติกรรมอาละวาด โวยวาย ทำร้ายคนอื่น พ่อแม่ที่ตามใจลูกมักยอมให้ลูกทุบตีอาละวาด  ปากบ่นว่าแต่ก็ไม่เอาจริงที่จะหยุดพฤติกรรมลูก  พ่อแม่ไม่ควรละเลยที่จะปรับพฤติกรรมเหล่านี้เสียตั้งแต่เล็ก เมื่อลูกจะตีเราให้จับมือลูกให้มั่น มองตาลูกแล้วพูดอย่างหนักแน่นว่า ลูกไม่มีสิทธิตีใครทั้งนั้น  ถ้าลูกมีท่าทีสงบฟังและทำตามก็ปล่อยมือลูก หากปล่อยมือแล้วยังจะตีต่ออีก ก็จับมืออีก ทำอย่างนี้บ่อยๆ ลูกก็จะเรียนรู้ว่าพ่อกับแม่จะไม่ยอมให้ลูกทำร้ายใครอีกต่อไป  และอย่าลืมนะคะ เมื่อลูกหยุดตีแล้วให้ชมลูกว่า ดีแล้วนะลูก ต่อไปนี้ลูกไม่ตีใครแล้วนะ จากนั้นค่อยให้เหตุผลว่าทำไมเรื่องนี้พ่อแม่จึงตามใจลูกไม่ได้

4.      การเลี้ยงลูกให้เกิดความเครียด กดดัน
สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้ลูกแสดงออกถึงความก้าวร้าวนั้น เหตุมักจะเกิดจากอารมณ์
โกรธที่อยู่ภายในรุนแรง  และไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ได้  แล้วไม่สามารถควบคุมการแสดงออกที่เหมาะสมได้  จึงมีพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาให้เราเห็น 
                เด็กที่เผชิญกับการเลี้ยงดูที่สร้างความเครียดความกดดันอยู่เสมอๆ จะสะสมอารมณ์ขุ่นมัวไว้ในใจ  ทำให้ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย  เมื่อสิ่งที่ไม่พอใจมากระทบ แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เด็กทำร้ายเพื่อนอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ 
                สาเหตุที่สร้างความเครียดและความกดดันให้กับเด็กนั้น  ส่วนหนึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการแข่งขันและเข้มงวดจนเกินไป  ทั้งในเรื่องการเรียนและการเล่นกีฬา ลูกจะแพ้ใครไม่ได้   ความคาดหวังของพ่อแม่กลับกลายเป็นเรื่องสร้างความกดดันให้กับลูก  พ่อแม่เหล่านี้มักเผลอที่จะเอาลูกไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น หรือพี่น้องที่เรียนเก่งอยู่เป็นประจำ  ไม่ก็ดุว่าหรือพูดประชดประชันเมื่อเห็นลูกทำคะแนนไม่ได้ดั่งใจ  แทนที่จะให้กำลังใจ หรือหาแนวทางแก้ปัญหาการเรียนให้กับลูก  สิ่งที่พ่อแม่กดดันลูกนั้นนอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกเครียดและหงุดหงิดแล้ว ยังสร้างนิสัย แพ้ไม่เป็น ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความก้าวร้าวให้อยู่ในใจลูก ทำให้โตขึ้นเป็นคนที่หาความสุขได้ยาก
                อีกสาเหตุหนึ่งของความเครียดและกดดันของลูกเกิดจากความรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ ที่พ่อแม่ให้ความเอาใจใส่ไม่เท่าเทียมกัน รู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม หรือเกิดจากความเหงา ที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ กลับบ้านดึกเป็นประจำ   เวลาดีๆ ที่จะพูดคุยกัน สนุกด้วยกันน้อยมาก
                ฉะนั้น การมีเวลาที่จะพูดคุยกัน การแสดงความรู้สึกกันอย่างตรงไปตรงมา การมีเวลาได้ใกล้ชิดกันจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อลูกมาก การแสดงออกถึงความรักความเอาใจใส่เป็นทางออกที่ดีสำหรับหลายๆ ปัญหา

5.      การสนับสนุนลูกด้วยของเล่น และเกมต่อสู้
สำหรับลูกผู้ชายนั้น พ่อแม่อดไม่ได้ที่จะซื้อของเล่นประเภทดาบ ปืน อาวุธที่แปลง
ร่างได้หลายรูปแบบ รวมไปถึงเกมที่มุ่งไปที่การต่อสู้ให้กับลูก  การซื้อให้บ้างไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหา แต่หากสำรวจของเล่นของลูกแล้วพบว่าเป็นประเภทที่มีมากที่สุดและลูกใช้เวลากับของเล่นประเภทนี้แทบจะตลอดเวลา  น่าจะหยุดคิดหน่อยนะคะว่าลูกจะฝึกซ้อมการเล่นกับความรุนแรงมากไปหรือไม่  เพราะจะมีผลทำให้เมื่อไม่พอใจลูกจะแสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมา ราวกับเป็นไปโดยอัตโนมัติ  จะดีกว่าไหมคะถ้าจะจัดหาของเล่นให้ลูกได้เล่นอย่างหลากหลาย  แรกๆ ลูกอาจไม่คุ้นเคยและไม่นึกสนุกที่จะเล่น แต่หากพ่อแม่ชวนมาเล่นด้วยกัน จนลูกค้นพบความสนุกกับการเล่นของเล่นชนิดอื่น 
6.      ปล่อยให้ดูหนังดูละครที่แสดงออกถึงการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังและละครจำนวนมากมีความรุนแรงทั้งคำพูดและการลงไม้ลงมือ
พ่อแม่ควรที่จะให้ลูกได้อยู่กับหนังกับละครประเภทนี้ให้น้อยที่สุด กรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องหาโอกาสพูดคุย ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นต่อพฤติกรรมรุนแรงที่ลูกได้รับรู้อยู่เสมอๆ
                หากเราปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูลูก   ให้ลูกห่างไกลจากสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง  รับฟังลูก และหมั่นพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับความขัดแย้งอย่างสันติวิธี รวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีที่จะไม่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง   สิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นภูมิคุ้มภัยให้ลูกเป็นเด็กที่ปลอดจากพฤติกรรมรุนแรงได้อย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น