ภาพจาก almightydad.com |
เมื่อลูกต้องไปเรียนโรงรียนใหม่ ไม่ว่าจะจากบ้านไปสู่โรงเรียนอนุบาล หรือจากโรงเรียนอนุบาลสู่โรงเรียนประถม ความวิตกกังวลก็จะแล่นเข้ามาสู่ใจของคุณพ่อคุณแม่จะมากจะน้อยก็แปรไปตามความสามารถในการปรับตัวของลูก ถ้าเราเลี้ยงดูลูกมาให้รู้จักแก้ปัญหา พึ่งตัวเองได้ มีเชื่อมั่นในตัวเอง ปัญหาก็จะน้อยลงไปมากจนถึงไม่รู้สึกกังวลใจ ถ้าลูกปรับตัวได้ดีย่อมหมายความว่าลูกก็ไปโรงเรียนใหม่อย่างมีความสุข มีเรื่องสนุกๆ เรื่องตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจมาเล่าให้ฟังตั้งแต่วันแรก ในทางตรงข้ามเราอาจพบว่าลูกดูหงุดหงิด โยเยไม่อยากไปโรงเรียน อยากอยู่บ้าน อยากกลับไปอยู่โรงเรียนเก่า อาลัยอาวรณ์กับเพื่อนเก่า ครูคนเก่าที่รักและคุ้นเคย บางรายก็เงียบเหงา เศร้าซึม ใครอย่าได้มาเซ้าซี้ถามเรื่องโรงเรียน เป็นอันต้องน้ำตาร่วง น้ำตาซึมไปเสียทุกคราวไป ทุกข์ของลูกกลายเป็นความกังวลใจที่ทวีคูณในใจพ่อแม่
สำหรับลูกที่จะขึ้นชั้นประถม บางทีคุณพ่อคุณแม่ก็วางใจไปหน่อย เพราะเห็นว่าเคยเข้าโรงเรียนมาแล้ว และก็รู้สึกว่าโตแล้ว ทำให้ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจลูกเหมือนเมื่อคราวเข้าอนุบาล เอาเข้าจริง โรงเรียนประถมสำหรับลูกก็ดูใหญ่โตเมื่อเทียบกับโรงเรียนอนุบาลเดิม แถมลูกเราที่เคยเป็นพี่อนุบาลรุ่นโตสุด ก็กลายเป็นน้องประถมรุ่นจิ๋วสุดของโรงเรียน คิดแค่นี้ก็น่าหวาดหวั่นอยู่ไม่ใช่น้อยสำหรับลูกที่ขี้วิตก เตรียมลูกให้พร้อมดีกว่าปล่อยให้เสียความรู้สึก เสียความมั่นใจตั้งแต่วันแรกๆ
อย่าให้ภาพในใจใหญ่โตกว่าความเป็นจริง
อย่าปล่อยให้ลูกจินตนการภาพของโรงเรียนใหม่ไปเอง ลูกอาจจะหวาดหวั่น เพราะไม่รู้ว่าต้องพบเจออะไรบ้าง ก็เลยวาดภาพไปต่างๆนานา ควรพาลูกไปดูโรงเรียน ถ้าไปพบเจอกับคุณครูได้ยิ่งดี อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องที่เสียเวลา ผ่านโรงเรียนทีไรก็ชี้ชวนให้ลูกเกิดความรู้สึกที่ดีต่อโรงเรียนใหม่ ชวนลูกพูดคุยถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโรงเรียน ให้ลูกรู้สึกคุ้นเคยและมีความ รู้สึกที่ดีกับโรงเรียนเพื่อเป็นกำลังใจไปต่อสู้กับวิตกที่อาจก่อตัวขึ้นในใจเป็นวูบๆ และที่สำคัญอย่าใช้โรงเรียนหรือครูเป็นเรื่องไว้ขู่ลูก หรือกำกับลูก “ถ้าไม่......เดี๋ยวจะให้ครูตี เดี๋ยวจะให้ครูจัดการ” อย่างนี้เด็กๆ คงรู้สึกไม่ดีกับคุณครูก่อนจะเจอะเจอหน้ากันเสียอีก
เรื่องเล่า เรื่องเก่ามาเล่าใหม่ เล่าทีไรก็น่าสนใจและได้ผลดี
เรื่องราวการผจญภัยและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ของคุณพ่อคุณแม่ยามเป็นเด็กตัวเล็กเท่าพวกเขาเป็นเรื่องที่ลูกชอบฟังเสมอ ลองเล่าถึงประสบการณ์ที่คุณพ่อคุณแม่เข้าโรงเรียนให้ลูกฟังแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง แม้ว่าตอนต้นเรื่องจะเป็นความกล้าหาญ กลัวหน่อยๆ หรือกลัวจนกลายเป็นอาละวาดไม่ไปโรงเรียน แต่สุดท้ายของเรื่องก็จะจบลงด้วยความสนุกสนานกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเสมอ ลูกจะตลกมากตอนเล่าถึงอาการวิกตกของคุณพ่อคุณแม่ แล้วก็แอบเชียร์อยู่ในใจ พอตอนสุดท้ายที่แฮปปี้เอนดิ้ง ประเด็นสำคัญคือ ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไรในตอนเริ่มต้น แต่ที่สุดแล้วก็โรงเรียนก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอย่างที่คิด
นอกจากนี้การเล่าหรือทบทวนถึงประสบการณ์การก้าวข้ามความกลัว ความวิตกกังวลที่ผ่านมาของลูก เมื่อลูกเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ๆ จะช่วยสร้างเสริมความรู้สึกเข้มแข็งในใจลูก เหมือนลูกเคยก้าวขึ้นบันไดขั้นที่หนึ่งมาได้ ขั้นต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยาก หรือเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้
รู้จักแก้ปัญหา พึ่งตัวเองได้ ไปโรงเรียนใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
ยามใดที่เรารู้สึกว่าเราช่วยตัวเองไม่ได้ หรือช่วยตัวเองได้น้อย ความกลัว ความวิตกกังวลจะถามหาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม ลองนึกดูว่าลูกควรช่วยตัวเองในเรื่องใดบ้าง ลูกอนุบาลก็คงเป็นเรื่องของการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งตัว กินอาหาร เข้าห้องน้ำ พี่ประถมก็จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ผูกเชือกรองเท้าพละได้ จัดกระเป๋า เตรียมเครื่องเขียน ดูแลของใช้ จดการบ้านรวมถึงเอาสมุดการบ้านกลับมาด้วย
เมื่อรู้ว่าลูกจะต้องดูแลตัวเองในเรื่องใดบ้าง ก็ต้องฝึกฝนให้ลูกได้ดูแลตัวเองจากเรื่องง่ายไปก่อน ให้ลูกได้ประสบความสำเร็จไปทีละขั้นตอน ค่อยๆ ถอยความช่วยเหลือจนลูกทำได้ด้วยตนเอง การฝึกฝนมีสูตรที่ได้ผลเสมอคือ การชื่นชมเมื่อลูกทำได้สำเร็จ การให้กำลังใจกับความพยายามของลูก และให้ลูกได้ช่วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ปล่อยให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเอง เท่ากับทำให้ร้ายลูก ให้ลูกพึ่งตัวเองไม่ได้ในสิ่งที่ควรทำได้ตามวัย ลูกจะหงุดหงิด จะอ่อนแอ ยามที่เขาต้องอยู่ในที่โรงเรียนซึ่งไม่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย การพึ่งตัวเองได้ดี การทำอะไรได้ด้วยตนเองนั้น ไม่ได้มีผลเพียงแค่เขาทำอะไรได้เอง หรือเป็นการลดภาระคุณพ่อคุณแม่ แต่หมายถึงเขาได้บ่มเพาะความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองวันละเล็กวันละน้อย ไปทุกวัน และสิ่งนี้จะนำไปสู่ความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ เป็นคนที่ไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรค และเป็นตัวของตัวเอง สิ่งนี้จะทำให้ลูกไปโรงเรียนได้อย่างมั่นใจ
ในชีวิตประจำวันของลูกนั้น ลูกต้องเผชิญกับปัญหา เป็นเสมือนโจทย์ให้เขาได้ซ้อมแก้ปัญหา เกิดความรู้สึกดีกับตัวเองที่ได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาจนสำเร็จได้ด้วยตัวเอง นอกจากจะได้ความเชื่อมั่นในตนเองแล้ว ยังเกิดทักษะในการคิด ทักษะในการลงมือปฏิบัติ ยิ่งทำยิ่งชำนาญ อย่าด่วนเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกในสิ่งที่ลูกสามารถจะทำได้ถ้าเขาได้ทดลองหรือใช้ความเพียรพยายามอีกสักระยะหนึ่ง ความปรารถนาดีของพ่อแม่อาจกลายเป็นการสกัดกั้นความงอกงามของลูกโดยไม่รู้ตัว ลูกที่รู้จักพึ่งตัวเอง รู้จักแก้ปัญหาได้ดีก็จะก้าวไปโรงเรียนใหม่ได้อย่างสบายอกสบายใจ
เลี้ยงลูกให้อยู่ง่าย กินง่าย ไม่เรื่องมาก
การเลี้ยงดูลูกด้วยความรักความเอาใจใส่เป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าเผลอเอาอกเอาใจลูกจนลูกกลายเป็นคนเรื่องมากไปทีละน้อย เมื่อใดก็ตามที่ลูกเกิดอาการ “ต้อง”ถี่ๆ ต้องหยุดคิดแล้วว่าลูกจะ “เรื่องมาก” เกินไปหรือเปล่า ต้องกินไข่ดาว ไม่เอาไข่เจียว ต้องเป็นไข่ดาวสุกพอดี กรอบไปหน่อยก็ไม่ยอมกิน ต้องเป็นไข่ดาวฝีมือคุณยายเท่านั้น ของคนอื่นไม่กิน ถ้าตามใจกันอย่างนี้ ลูกก็เอาแต่ใจ อยู่ไหนก็อยู่ยากอย่าว่าแต่อยู่โรงเรียนเลย ลูกจะขี้หงุดหงิด อะไรก็ไม่ค่อยจะพอใจง่ายๆ ไปโรงเรียนก็ดูจะมีแต่เรื่องไม่ถูกอกถูกใจ อาการอย่างนี้ลูกจะปรับตัวกับโรงเรียนได้ยากหรือปรับตัวได้ช้ากว่าเพื่อนๆ เพราะลูกเคยชินกันการได้รับความพอใจตามที่ตัวเองต้องการอยู่ตลอดเวลา ขาดโอกาสที่จะได้พัฒนาความสามารถในการปรับตัวกับสิ่งต่างๆ เพราะคุณพ่อคุณแม่ที่แสนดีของลูกพยายามจัด พยายามปรับสิ่งต่างๆ รอบตัวเพื่อให้ลูกสบายตัว สบายใจ
อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันเปิดเทอม เด็กแต่ละคนมีความสามารถในการปรับตัวที่ไม่เท่ากัน ขึ้นกับการฝึกฝน การอบรมเลี้ยงดู ขึ้นกับประสบการณ์ที่ผ่านมา การเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น การดุว่าข่มขู่ การแสดงออกถึงความวิตกกังวลจนเกินไปของพ่อแม่ กลับจะทำให้ลูกรู้สึกกดดัน รู้สึกเครียดมากขึ้น เด็กๆ ต้องการเวลา ต้องการกำลังใจ และต้องการคำชื่นชมกับความพยายามและก้าวเล็กๆ ที่ดีขึ้นในแต่ละวัน
เขียนบทความโดย อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น