วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

เด็กขี้ฟ้อง


ภาพจาก ministry-to-children.com
 โดย อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข

 คุณอยากจะเป็นที่รักของใครๆ
เป็นคนคิดบวก  เป็นคนมองโลกในแง่ดีไหมคะ
ต้องหยุดบ่นค่ะ

ไม่มีใครชอบคนขี้บ่นหรอกค่ะ คนขี้บ่นจะหาข้อตำหนิ ข้อติเตียน ข้อร้องเรียน ได้ในทุกๆ เรื่อง ทุกๆ เวลา เวลาเราเจอคนประเภทนี้เราก็คงจะพยายามหลบ พยายามหลีก และเลี่ยงไปให้เร็วที่สุด นิสัยขี้บ่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนนะคะ มันมีพัฒนาการและใช้เวลา จริงๆแล้วมันก็เติบโตมาพร้อมกับตัวของคนเรานั่นเอง ตอนเด็กๆ ก็จะออกอาการของคนขี้ฟ้องมากหน่อย โตๆ มาจากคนขี้ฟ้องก็จะพัฒนามาเป็นคนขี้บ่น ไม่พอใจไปซะทุกเรื่อง เรามาช่วยกันหยุดพัฒนาการส่วนนี้กันดีกว่านะคะ

พ่อ แม่ รังแกฉัน
          หลายคนคงคุ้นๆกับประโยคสั้นๆนี้นะคะ “พ่อ แม่ รังแกฉัน” สั้นๆ ง่ายๆ แต่ถ้าเกิดขึ้นกับเราไม่ว่าจะในฐานะ ประธานหรือกรรม ของประโยค ก็ดูจะเป็นเรื่องน่าเศร้าทั้งสิ้น เพราะสิ่งนี้มักเกิดจากความปรารถนาดี แต่อาจจะไม่ถูกทางหรือเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในเรื่องของการอบรมเลี้ยงดู แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ถูกบ่มเพาะ ถูกปลูกฝัง มาในช่วงระยะเวลาหนึ่งของชีวิตจนกลายเป็นลักษณะเฉพาะหรือกลายมาเป็นนิสัย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวนะคะ เพราะบางครั้งวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นการบ่มเพาะ ปลูกฝัง มุมมองในแง่ลบและสร้างทัศนคติผิดๆในเรื่องการร้องเรียน ตำหนิ และกล่าวโทษ ให้แก่ลูกโดยไม่ตั้งใจ
            พ่อแม่ทุกคนคงอยากให้ลูกๆ กล้าเล่า กล้าบอก กล้าแบ่งปัน ในทุกๆ เรื่อง ซึ่งถ้าครอบครัวไหนสามารถสร้างบรรยากาศเช่นนี้ในครอบครัวได้ ก็จะเป็นครอบครัวที่มีความสุขแน่นอน แต่หลายๆ ครั้งที่พบว่าพ่อแม่พยายามที่จะทำให้ลูกเล่า จนไม่ได้แยกแยะว่าสิ่งที่ลูกพูด ลูกบอก เป็นการเล่า เป็นการฟ้อง หรือเป็นการบ่น แค่ให้ลูกยอมเล่า ยอมบอกก็พอใจแล้ว เลยกลายเป็นการสนับสนุนให้ลูกเป็นคนขี้ฟ้องขี้บ่นไปโดยไม่รู้ตัว การที่เราจะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจที่จะเล่า จะบอก และยอมรับฟังคำแนะนำของเรานั้น พ่อแม่จะต้องให้เวลากับลูกอย่างสม่ำเสมอ เป็นผู้รับฟังที่ดี ให้เกียรติกับการคิดและการตัดสินใจของลูก หากลูกพูดแกมบ่นถึงปัญหาที่พบ ให้รับฟังก่อน แล้วจึงชวนให้ลูกคิดว่าสิ่งที่ลูกพูดถึงใช่ปัญหาจริงๆหรือไม่ และจะมีวิธีการแก้ปัญหานั้นอย่างไร พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่บ่น เพราะลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมนี้มาจากพ่อแม่ และ ดังนั้นถ้าลูกเป็นคนขี้ฟ้อง ขี้บ่น เราต้องรีบหันกลับมามองตัวเองก่อนเลยนะคะ ว่าเลียนแบบมาจากเราหรือไม่


แพะ หรือ เหยื่อ 
          
การเป็นคนขี้บ่น ขี้ฟ้อง เป็นอาการที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของคนที่มีทัศนคติทางด้านลบ คนพวกนี้จะเคยชินกับการจับจ้องหาความผิด หาที่ติ ถูกใจอะไรยาก และที่สำคัญมักจะกล่าวโทษผู้อื่นมากกว่าโทษตนเอง หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

ก็จะมีคำอธิบาย มีข้อแก้ตัวอยู่เสมอๆ

ถ้าพ่อแม่เริ่มรู้สึกว่าลูกมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องพฤติกรรมหรือเรื่องการเรียนรู้ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือรู้สึกผิดและโทษตัวเอง ความกลัวและความกังวลในเรื่องของลูกจะนำไปสู่การแสดงออกทางด้านลบ และหนึ่งในนั้นก็คือ การหาแพะ จะพบได้บ่อยๆนะคะหากเด็กมีปัญหาเรื่องพฤติกรรม พ่อแม่ก็จะโทษคุณครูก่อนเลย ในขณะที่ครูเองก็จะโทษการเลี้ยงดูของพ่อแม่ และในที่สุดเด็กเองก็จะโทษว่าที่เขาเป็นอย่างนี้ก็เพราะพ่อแม่ และครูนั่นแหละ

ปัญหาหลักของคนที่ชอบหาคำอธิบายและหาข้อแก้ตัว คือเขาจะไม่มีโอกาสได้แก้ปัญหา เพราะไม่ได้เห็นและไม่ยอมรับปัญหาที่แท้จริง การหาข้อแก้ตัวหรือกล่าวโทษไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เขาเชื่อว่าความผิดพลาดต่างๆ หรือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นเกิดเพราะเขาถูกกระทำ หรือเป็นเหยื่อของความผิดพลาดนั้นๆ เช่นลูกอาจจะมีอาการของสมาธิสั้นเล็กน้อย ดังนั้นหากลูกทำอะไรที่ไม่สมควรก็เป็นเพราะอาการของสมาธิสั้น ไม่ใช่ตัวลูก เมื่อเชื่อว่าลูกเป็นเหยื่อ ความผิดก็ไม่ใช่ของลูก แถมกฎระเบียบบางอย่างยังต้องขอยกเว้น แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมนะคะว่าอย่างไรเสียลูกก็ต้องอยู่ในสังคม กฎระเบียบและสิ่งต่างๆเหล่านี้สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่นๆก็ตาม

ความอดทน และการรู้คุณค่า

ลูกจะไม่เป็นคนขี้ฟ้องหรือคนขี้บ่น จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญสองอย่าง คือความอดทน และการรู้คุณค่า สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องสอนและบ่มเพาะให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด สอนโดยการปฏิบัติเป็นแบบอย่างในทุกๆวันของการดำเนินชีวิต จนเป็นวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของครอบครัว สองสิ่งนี้ไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ แต่จะเกิดจากการซึมซับและเรียนรู้

ความอดทนอาจจะไม่ใช่คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับเด็กเล็กๆ แต่ความอดทนจะเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวไปและเป็นปัจจัยของความสำเร็จเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความเข้าใจ การตัดสินใจ และการยอมรับเป็นคุณสมบัติร่วมที่มักจะมีผลต่อความอดทนอย่างที่ไม่สามารถจะแยกขาดจากกันได้ ลูกควรได้รับโอกาสที่จะฝึกความอดทนโดยเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ก่อน เช่น ตอนไปซุปเปอร์มาเก็ต คุณพ่อคุณแม่อาจจะตกลงกันก่อนว่าวันนี้จะอนุญาตให้ลูกเลือกซื้อของเองได้กี่อย่าง อยู่ในประเภทไหน แล้วให้ลูกตัดสินใจเอง หลังจากนั้นลูกจะต้องรู้จักเข้าแถวรอชำระเงินก่อนที่จะได้รับประทานขนมอร่อยๆ ที่หนูเลือกเอง ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ ลูกก็จะเป็นคนที่มีความอดทน มีเหตุมีผล และรู้จักเคารพกฏกติกา

การรู้คุณค่า หมายถึงการเห็นและรู้จักสิ่งนั้นๆ จริงๆ เห็นความพิเศษ ความมีเอกลักษณ์ หรือความมหัศจรรย์ของสิ่งนั้น ลูกสามารถเรียนรู้เรื่องการรู้คุณค่าโดยเริ่มต้นง่ายๆจากการพาเขาไปชื่นชมความงดงามของธรรมชาติรอบๆตัว พาไปดูดอกไม้ พูดถึงสีสรรที่สวยงาม กลิ่นที่หอม และชื่นชมดอกไม้เหล่านั้นโดยไม่ต้องเด็ดออกมาจากต้น หรืออาจจะชวนกันปลูกต้นไม้กระถางเล็กๆ ช่วยกันดูแล รดน้ำ และคอยชื่นชมกับดอกผลที่ออกมา การที่ลูกได้รู้จัก ได้ชื่นชม ได้แสดงความเอาใจใส่ ได้รู้สึกขอบคุณกับสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นและสิ่งงดงามที่ได้พบเจอ เป็นการปลูกฝังการรู้จักคุณค่าของสิ่งต่างๆอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด การแสดงความรักโดยการกอด หอมแก้ม การพูดชมเชย ก็เป็นการแสดงให้ลูกรู้ว่าเขามีคุณค่าต่อคุณพ่อคุณแม่มากเพียงไร


อย่าลืมนะคะ ไม่มีวิธีการสอนใดๆที่จะมีอิทธิพลได้เท่ากับการสอนโดยการกระทำเป็นแบบอย่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น