ดูเหมือนว่าถ้าบ้านใดมีน้องเกิดขึ้น ความอิจฉาก็ตามมาไล่ๆ กัน เดี๋ยวพี่ก็อิจฉาน้องเดี๋ยวน้องก็อิจฉาพี่ เพราะเกิดจากลูกแต่ละคนคิดว่าตนต้องได้รับสิ่งที่เท่าเทียมกัน เช่น น้องเล็กได้รับความเอาใจใส่จากแม่ คนพี่ก็อิจฉา พี่ได้เสื้อตัวใหม่ น้องต้องใส่ตัวเก่าของพี่ที่แม่ยกมาให้ทีละตั้ง อย่างนี้เห็นทีเสื้อตัวใหม่กว่าจะได้คงอีกนาน ความขุ่นใจที่เกิดจากความอิจฉาก่อตัวขึ้นในใจ สะสมไปสะสมไป ขณะที่พ่อกับแม่ก็จะกรอกหูไปว่า ลูกเป็นพี่น้องกันต้องรักกันนะ แต่อุปสรรคของความสามัคคี ก็เป็นเจ้าความอิจฉานี่ล่ะค่ะ หากเลี้ยงดูและจัดการได้ไม่ดี ก็จะทำให้เจ้าตัวอิจฉา ได้รับการบ่มเพาะไว้ตั้งแต่เล็กแต่น้อยและโตวันโตคืนอยู่ในใจลูก อารมณ์อิจฉาก็จะแรงขึ้นไปตามวัย และแสดง ออกด้วย ความโกรธ น้อยเนื้อต่ำใจ เรียกร้องความสนใจ และอยากเอาชนะ
การก่อตัวของความอิจฉา
“ตัวอิจฉา” เกิดมาจากความรู้สึกเปรียบเทียบแล้วคิดลบ เปรียบเทียบแล้วรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า ได้รับสิ่งต่างๆ น้อยกว่า ลูกที่เป็นเด็กคนเดียวในบ้าน ความอิจฉาจึงยังไม่เกิด จนกระทั่งวันหนึ่งที่แม่คลอดน้องออกมา ความรักความเอาใจใส่ที่เคยได้รับกลับถูกแบ่งออกไป ความรู้สึกคือ “เสีย” ส่วนน้อง “ได้” ความคิดติดลบกับน้องก็ตามมา บางบ้านยังไม่ทันจะมีน้อง ผู้ใหญ่ก็ทำให้คนพี่สะสมความรู้สึกไม่ชอบใจกับน้องที่ยังไม่เกิด “ดื้ออย่างนี้ วันหนึ่งแม่เค้ามีน้อง ระวังจะโดนทิ้ง” อย่างนี้จะให้นึกรักน้องได้อย่างไรกัน น่าเห็นใจลูกผู้พี่เสียจริงๆ
เริ่มต้นให้ดี อย่าให้ความอิจฉาก่อตัว
แหย่กันเล่น...ไม่เห็นใจคนพี่
เมื่อแม่ตั้งท้อง คือ สิ่งที่น่าตื่นเต้นในครอบครัว ลูกก็รู้สึกเช่นเดียวกัน เขาจะเริ่ม
ด้วยความรู้สึกที่ดีกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น รู้จากพ่อแม่ว่าเขาจะมีน้อง มีน้องแปลว่าต้องมีเพื่อนเล่น ความรู้สึกดีๆ กำลังก่อตัวขึ้น แต่แหม ! กำลังคิดดีๆ อยู่เชียว “ เดี๋ยวก็เป็นหมาหัวเน่าหรอก” “เดี๋ยวแม่เค้าไปรักน้องแล้ว” “ดื้อนัก รักน้องดีกว่า” โอ้โฮ ! อย่างนี้จะนึกรักน้องอย่างไรได้ โดนเป่าหูมาอย่างนี้ตลอดเก้าเดือน อยากเห็นหน้าเจ้าตัวการที่ทำให้ฉันเป็นหมาหัวเน่านัก
ทุกครั้งที่ลูกโดนแหย่ คุณต้องยื่นมือเข้าไปทุกครั้งนะคะ อย่ามัวแต่เกรงใจคนอื่น แล้วปล่อยให้เขาคว้าเอาความอิจฉามาเกาะกุมใจ ขอพูดให้นุ่มนวลต่อหน้าลูก “ไม่หรอกลูก คุณตาเค้าแหย่เล่นนะจ้ะ”
ปูพื้นฐานไว้ เตรียมใจที่อ่อนโยน
ปูพื้นฐานไว้ เตรียมใจที่อ่อนโยน
ต้องมีการเตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ ให้ลูกรู้ว่า คนที่โตกว่านั้น แข็งแรงกว่า เมื่อเห็นเด็กที่เล็กกว่าต้องระวัง อย่าชน เพราะเด็กที่เล็กกว่าจะล้มได้ง่าย ให้ลูกรู้ว่าคนที่โตกว่าจะทำอะไรได้มากกว่า พ่อแม่จะต้องส่งเสริมให้ลูกควรช่วยเหลือเด็กที่เล็กกว่า สอนให้ลูกให้อภัยต่อน้อง เมื่อเข้ามาแย่งของเล่น เพราะความไม่รู้ประสา เมื่อลูกดีต่อเด็กที่เล็กกว่าต้องไม่ลืมที่จะชมเชย ควรชมทันที ถ้าไม่สะดวกด้วยการเอ่ยคำชม อาจกระซิบข้างหู ส่งสายตาชื่นชม เอาลูกมากอด ยกนิ้วโป้งให้ ลูกก็จะหน้าบาน และพยายามจะทำความดีต่อไป
เมื่อลูกถูกปูพื้นฐานไว้ดีแล้ว ยามที่ได้รับตำแหน่งเป็น “พี่” ก็จะเข้าใจถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติต่อคนที่ตัวเล็กกว่า อ่อนแอกว่า ด้วยความเต็มใจ
อิจฉาน้อง กับของขวัญกองโต
ใครๆ ที่มาเยี่ยมน้องตอนแรกเกิด ล้วนมีของขวัญกันมากล่องใหญ่ เกิดมาก็น่าอิจฉาแล้ว สิ่งที่ทำให้ความอิจฉาไม่เกิด ก็ด้วยการชวนลูกไปเตรียมหาของขวัญให้น้องเสียเลย ให้เลือกหลายๆ ชิ้นก็ได้ค่ะ ต้องห่อเป็นของขวัญด้วยนะคะ แล้วให้เขาอวดใครต่อใครว่าเขาเป็นคนเลือกให้น้องเอง
กีดกันพี่ให้ห่างน้อง ความหมองใจจะเกิด
ช่วงที่มีน้องเล็กในบ้าน แน่นอนค่ะว่า ความสนใจของบ้านพุ่งไปที่เจ้าตัวเล็ก ผู้พี่เองก็อยากเข้าใกล้น้องและเข้าใกล้แม่ ต้องให้ความสำคัญกับเขาด้วย สอนให้เขาจับต้องน้องอย่างถูกวิธี ให้โอกาสเขาบ้างในการช่วยดูแลน้องดูแลแม่
ความสำคัญตกไป พ่อช่วยได้
ภาวะแบบนี้ พ่อต้องขี่ม้าขาวเป็นอัศวิน ช่วยผู้พี่หน่อยนะคะ เพราะความสนใจของแม่จะมุ่งไปที่ลูกคนเล็ก เพื่อไม่ให้ลูกคนโตมีความเหงาหรือถูกลดความสนใจไปเดี๋ยวไปหงุดหงิดอิจฉาน้อง คุณพ่อต้องให้เวลากับลูกคนโตให้มาก
ยิ่งเปรียบเทียบลูกมากเท่าไหร่ ความอิจฉาเกิดได้มากเท่านั้น
เพราะอาหารของความอิจฉา คือ ความรู้สึกด้อยกว่า ความด้อยกว่าเกิดจากการถูกเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้น ต้องระลึกเสมอค่ะว่า ลูกแต่ละคนก็มีความถนัด ความสนใจ ความสามารถที่แตกต่างกันไป ต้องหาความเก่งความสามารถของลูกแต่ละคนให้พบ แล้วให้เขารู้ว่าเขาเป็นที่ภาคภูมิใจพ่อแม่ในเรื่องใด ส่วนเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของเขาเราก็เสริมกันไป เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ถ้าเราชมคนหนึ่งเก่ง อีกคนก็อยากเก่งอย่างนั้นบ้างอยู่แล้ว อย่า ...อย่าเลยนะคะที่คิดจะกดดันลูกให้เหมือนเก่งเหมือนน้องหรือพี่ เราเองยังไม่อยากถูกเปรียบเทียบกับคนอื่นเลย การเปรียบเทียบของพ่อแม่อาจทำให้คนหนึ่งอาจถูกอิจฉา หรือหมั่นไส้ได้โดยง่าย
สร้างความเป็นพี่เป็นน้องให้ชัดเจน
ถ้าไม่ต้องการให้ลูกๆ อิจฉากัน ต้องสร้างความชัดเจนให้มากเข้าไว้ในเรื่องของความเป็นพี่เป็นน้อง คนเป็นพี่ คือ ลูกที่โตกว่า แข็งแรงกว่า จะต้องถูกสอนให้มีความรับผิดชอบต่อน้อง (ในระดับที่พอควรแก่วัย) ไม่ทำร้ายน้อง ต้องให้ความช่วยเหลือแก่น้อง ก็จะได้รับสิทธิของความเป็นพี่ คนเป็นน้อง คือ คนที่ตัวเล็กกว่า เกิดมาทีหลัง จะต้องถูกสอนให้รู้จักเคารพพี่ ไม่ก้าวร้าวใส่พี่ น้องก็จะได้รับสิทธิของความเป็นน้อง การเคารพกัน เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับครอบครัว ถ้าพี่น้องเท่าเทียมกันหมด ก็จะไม่มีใครฟังใคร ลูกต้องเคารพพ่อแม่ น้องต้องเคารพพี่ จะทำให้การเอาชนะกัน การส่งเสียงทะเลาะกัน ลดลงไปได้มาก และถ้าทำสำเร็จ ในเรื่องการเคารพกัน พี่จะรักและรับผิดชอบต่อน้อง น้องจะรักและเคารพพี่ไปจนโต
อย่าพยายามทำให้พี่น้องกลายเป็น “สำเนา” ของกันและกัน
ด้วยความที่อยากให้ลูกๆ ดูน่ารักน่าเอ็นดู เวลาไปไหนมาไหนพี่กับน้องก็จับใส่เสื้อเหมือนกัน เล่นดนตรีก็ต้องเปียโนเหมือนกัน ซื้อของเล่นก็ต้องซื้ออย่างเดียวกันแถมยังซื้อจำนวนเท่ากัน จะขาดจะเกินไม่ได้ เพราะเราคิดว่าเรารักลูกเท่ากัน และควรให้ความเท่าเทียมกันแก่ลูก สิ่งที่เราทำสิ่งที่เราพูด ก็คือ “แม่รักลูกเท่ากัน แม่จึงให้ของที่เหมือนกันแก่ลูก” ย่อมตีความได้ว่า ยามใดที่แม่ให้ของไม่เหมือนกัน แสดงว่าแม่รักลูกไม่เท่ากัน ลูกจะเรียกร้องหาความเท่าเทียมอยู่ตลอดเวลา ยามใดที่ไม่สามารถจัดสรรให้อย่างเท่าเทียมกัน ก็จะนำมาซึ่งความอิจฉา ออกอาการไม่พอใจ น้อยใจ การแก้สมการนี้ต้องให้แต่ละคนเป็นตัวของตัวเอง ให้ลูกได้ค้นพบความสามารถ ความชอบของตัวเอง จะจัดสรรอะไรให้กับลูกก็ให้เหมาะกับลูกแต่ละคน พร้อมกับให้เหตุผลให้เจ้าตัว และลูกคนอื่นเข้าใจ ทำอย่างนี้บ่อยๆ ลูกจะมั่นใจว่าสิ่งที่พ่อแม่ทำนั้นจะมีเหตุผลที่ดีเสมอ ทำให้บางครั้งที่พ่อแม่ไม่ได้อธิบายลูกก็มั่นใจว่าพ่อแม่ทำไปอย่างเหมาะสมแล้ว
หากจัดการกับเจ้าตัวอิจฉาไม่ให้เกิดกับลูกๆ ของเราได้
ความรัก ความสามัคคีของลูกๆ จะทำให้เรามีความสุข และตายตาหลับ
เพราะพี่น้องเขาจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น