ในยุคไซเบอร์หลายต่อหลายบ้านคงหนีไม่พ้นที่จะนำคอมพิวเตอร์เข้ามาในบ้าน บ้างก็เพื่อการงานของพ่อแม่ บ้างก็เพื่อความบันเทิงที่หาได้ง่ายจากหน้าจอ และอีกส่วนหนึ่งนั้นก็เพราะคิดว่าจะให้ “คุณ” กับลูกน้อยที่บ้านเพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยี
แม้ว่าจะมีบทสนทนาจำนวนมาก และบทความที่พูดกันถึงเรื่องอันตรายยุคใหม่ของเด็กๆ คือ โรคติดเกมคอมพิวเตอร์ แต่ก็ดูเหมือนว่าหลายต่อหลายบ้านก็ยังคงปล่อยให้โรคนี้ก่อตัวขึ้นในบ้าน และในที่สุดก็จะลุกลามจนยากจะแก้ไขได้
ทำไมเรื่องนี้ยังคงคุกคามเด็กๆ อยู่ในบ้าน เพราะหลายๆ บ้านยังไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาในอนาคต หลายบ้านเห็นว่าลูกยังเล็กอยากให้เป็นเวลาแห่งความสุข หลายบ้านเห็นว่าเป็นแนวทางให้ลูกคุ้นเคยกับเทคโนโลยี และส่วนหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะเป็นส่วนใหญ่ที่ใช้เกมคอมพิวเตอร์เป็นเพื่อนเล่นของลูกยามที่พ่อแม่ต้องการพักผ่อนหรือจัดการกับงานในบ้าน
ก็คงจะไม่เป็นไรหรอกนะคะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่จัดการเรื่องเหล่านี้ได้
- ลูกปิดคอมพิวเตอร์ เลิกเล่นเกมได้ เมื่อถึงเวลาที่ตกลงกันไว้
- ลูกรับผิดชอบการทำการบ้าน หรืองานที่ได้รับมอบหมายจากคุณครูเสร็จเรียบร้อยเสมอ
- ลูกมีความสุขที่นั่งโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมกับครอบครัว ชอบทำกิจกรรมกับสมาชิกในครอบครัวมากกว่าการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์
- ลูกหาความสุขกับกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ใช้เวลากับการอ่านหนังสือ เล่นของเล่น ทำงานประดิษฐ์ ขี่จักรยาน ฯลฯ
รู้ตัวอีกทีก็ลูกก็ติดเกมงอมแงม
เมื่อซื้อเกมหรือโหลดเกมมาให้ลูกเล่น พ่อแม่ก็อดสุขใจไม่ได้ที่เห็นลูกมีความสุข สนุกกับของเล่นชิ้นใหม่ที่พ่อแม่หยิบยื่นให้ ไปห้างทีไรก็ต้องมีเกมใหม่ๆ มาให้ลูกเล่น รู้ตัวอีกทีก็พบว่า เวลาของลูกหลังเลิกเรียนหมดไปกับกับการเล่นเกม จะเอาตัวลูกออกมาจากหน้าจอก็ยากขึ้นทุกที การออกไปเดินเล่นด้วยกัน ชวนกันเล่านิทานก็ห่างหายไป จนแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะกิจกรรมอื่นก็ไม่เร้าใจเท่ากับเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการเล่นที่ท้าทาย มีการแข่งขันและ ทำแต้มให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ลูกจดจ่อที่จะเอาชนะ จะทำแต้มให้มากยิ่งขึ้น ในที่สุดลูกก็จะแสดงอาการติดเกมมาให้เห็น ดังนี้ค่ะ
- ลูกใช้เวลาในการเล่นเกมมากกว่า 1 ชั่วโมงในวันปกติ และมากกว่า 3 ชั่วโมงในวันหยุด
- ลูกจดจ่อ คอยแต่จะเล่นเกม โมโหหงุดหงิดเมื่อถูกยุติการเล่นเกม
- ลูกก้าวร้าวขึ้น และมีคำเตือนมาจากคุณครูเรื่องทำร้ายเพื่อนและใช้คำรุนแรง
- ลูกชอบเอาชนะ แพ้ไม่เป็น หงุดหงิดง่าย
- ลูกมีการบ้านคั่งค้าง การเรียนตกต่ำ ขาดสมาธิในการทำงาน เหม่อลอย
- ลูกหลีกเลี่ยงที่จะกิจกรรมกับครอบครัว แต่จะหมกมุ่นอยู่กับเกมคอมพิวเตอร์ มีความสุขอยู่ได้คนเดียวนานๆ กับเกม โดยขาดการใส่ใจกับผู้อื่น
ลองสังเกตลูกดูนะคะ ลูกออกอาการติดเกมบ้างหรือยัง
ปัญหาการติดเกมของลูกที่ลุกลามนั้น มักเกิดจากการที่เราผู้ใหญ่
ไม่ได้จริงจังกับการฝึกวินัยในเรื่องเวลากับลูก
มีครอบครัวหนึ่งเป็นครอบครัวที่พ่อแม่เลิกกัน ลูกอยู่กับแม่ งานของแม่ทำให้ต้องกลับบ้านค่ำ ประกอบกับวันหยุดแม่ต้องเรียนปริญญาโทภาคพิเศษ ทำให้มีเวลากับลูกน้อย จึงใช้เกมเป็นเครื่องมือสร้างความสุข ทดแทนความเหงาให้กับลูก ปล่อยให้ลูกเล่นเกมโดยไม่กำหนดเวลาในการเล่นให้ชัดเจน ลูกก็เล่นเกมอย่างต่อเนื่องถึงเวลากินก็ไม่ค่อยยอมจะกิน ถึงเวลานอนก็ไม่ค่อยจะยอมนอน แม่ก็ปล่อยไปเรื่อย จนในที่สุดเวลาของการเล่นเกมก็ขยายออกไปเรื่อยจนกินเวลาของกิจวัตรประจำวันที่ลูกควรทำ คราวนี้การจัดการก็ยากเพราะลูกจะโวยวายทุกครั้งที่ถูกห้ามเล่นเกม ความหงุดหงิดและอารมณ์โกรธเกิดขึ้นทั้งกับแม่และลูก และทุกครั้งก็จบด้วยแม่ระอาที่จะบ่นว่าแล้วลูกก็เล่นเกมต่อ ผลจากการเล่นเกมส่งผลถึงการเรียน สุขภาพกาย และสุขภาพจิต เพราะลูกมีอาการเหม่อลอย คิดถึงแต่เรื่องเกม ในที่สุดลูกของบ้านนี้ต้องพบจิตแพทย์ช่วยเยียวยา
แม้ปัญหาของลูกเราอาจไม่รุนแรงเท่ากับครอบครัวที่ยกเป็นตัวอย่าง แต่เราก็ไม่ควรให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นกับลูกเรา เพียงเพราะเราไม่ได้เอาใจใส่กับการป้องกันปัญหาอย่างจริงจัง
ผลที่เกิดกับลูก
ผลร้ายข้อที่หนึ่ง คือ การเล่นเกมรบกวนเวลาคุณภาพ แทนที่ลูกจะได้ทำการบ้าน ทำงานที่ครูมอบหมาย ได้อ่านหนังสือ พูดคุยกับพ่อแม่ ได้ช่วยเหลืองานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เวลาที่จะได้ออกไปวิ่งเล่น ให้ร่างกายแข็งแรง สดชื่น ก็จับจ้องอยู่กับแสงสีหน้าจอคอมพิวเตอร์ เด็กที่ติดเกมจะนอนดึกกันมาก วันๆ จดจ่อคิดแต่จะเล่นเกม เกมจึงกระทบต่อความรับผิดชอบทั้งการเรียน และการงานในบ้าน กระทบต่อสุขภาพซึ่งเป็นวัยที่ลูกกำลังเติบโต และสร้างสุขนิสัยที่ดีที่จะติดตัวไปจนโต
ผลร้ายข้อที่สอง คือ ลูกจะมีโลกส่วนตัว เรียกว่าเวลาทั้งหมดมีแต่ฉันกับเกม พูดด้วยยังไม่ค่อยอยากจะพูดด้วย ถามคำตอบคำ ไม่ค่อยยอมทำกิจกรรมกับครอบครัว เพราะเสียเวลาเล่นเกม เกมจึงกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เกมทำให้ลูกขาดทักษะทางสังคม ขาดความพยายามที่จะเข้าใจผู้อื่น ไม่สนใจต่อความรู้สึกของผู้คนรอบข้าง ซึ่งทั้งหมดนี้กระทบต่ออีคิวของลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิตและการประสบความสำเร็จในอนาคตของลูก
ผลร้ายข้อที่สาม คือ ลูกติดนิสัยต้องการเอาชนะ ก้าวร้าว ต้องการควบคุมคนอื่น เพราะเป้าหมายของทุกเกม คือ ชัยชนะ หลายๆ ชั่วโมงที่อยู่หน้าจอ ก็มุ่งที่จะเอาชนะเกมแต่ละขั้น ไต่เต้าไปเพื่อทำแต้มให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งเล่นเกมยิ่งต้องการการท้าทายมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น อย่างที่ทราบกันดีว่า เกมหลายๆ เกม สร้างนิสัยก้าวร้าว สร้างนิสัยไม่ดีให้กับลูก เผลอหน่อยเดียว ลูกเล่นเกมวางแผนโจรกรรม สังหารตำรวจ ยิ่งขโมยได้มากเท่าไหร่ก็ได้แต้มมากเท่านั้น จิตของลูกถูกฝึกให้มีแต่ความรุนแรง ก้าวร้าว เห็นการฆ่าการตาย จนคุ้นชินจากในจอ ความอ่อนโยนในจิตใจค่อยๆ หายไป อย่างนี้เป็นภัยคุกคามในใจลูกที่สะสมไว้ และยากที่จะมองเห็น อย่างนี้น่ากลัวนะคะ
แนวทางแก้ปัญหา
ก่อนอื่นเลย พ่อแม่ต้องเห็นว่าการเล่นเกมอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ จะได้ตั้งรับได้ถูก และเมื่อเห็นว่าเป็นปัญหาต้องจริงจังกับการแก้ปัญหา ถ้าทำสามข้อที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ได้ ปัญหาก็จะหมดไป
- สร้างข้อตกลงร่วมกัน และยืนยันให้เป็นไปตามข้อตกลง
เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ เพราะที่ทำกันไม่สำเร็จ ก็เพราะเรา..ผู้ใหญ่ต่างหากที่ไม่เอาจริง เมื่อพบว่าลูกต่อต้าน แสดงความหงุดหงิด หรือต่อรอง เรามักจะตัดปัญหา หรือโอนอ่อนผ่อนตามใจลูก อย่าลืมว่าลูกทดสอบเราอยู่ตลอดเวลาว่าเราเอาจริงแค่ไหน ถ้าเขาพบว่า ทุกครั้งเรายืนยันตามข้อตกลง ลูกก็จะเรียนรู้ว่า พ่อแม่นั้นพูดคำไหนคำนั้น การกำกับวินัยก็จะทำได้สำเร็จ
- ทำให้คอมพิวเตอร์เป็นของพ่อแม่ หรือเป็นของกลางที่ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของลูก
เมื่อคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ของลูก ดังนั้น การใช้คอมพิวเตอร์จึงเป็นลักษณะของการให้ยืมใช้และการแบ่งกันใช้ เป็นสิทธิของพ่อแม่ที่จะกำหนดเวลาให้กับลูก และมีสิทธิที่จะงดใช้ เช่น ในช่วงที่ลูกใกล้สอบ หรือในช่วงที่แม่มีงานยุ่งต้องใช้คอมพิวเตอร์ ลูกก็ต้องฝึกความอดทนอดกลั้น ที่จะไม่ตามใจตัวเอง
§ มีเวลาและกิจกรรมดีๆ ทำร่วมกับลูก
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากค่ะ เพราะถ้าเราไม่ให้ลูกเล่นเกม เราต้องตอบคำถามตัวเองสองข้อให้ได้ว่า แล้วลูกจะมีกิจกรรมอะไรทำ และเราจัดสรรเวลาของเรากับลูกอย่างไร ถ้าบ้านที่ไม่มีแม่บ้านช่วยต้องทำงานบ้านกันเอง การชวนลูกมาช่วยทำงานบ้านก็เป็นอีกวิธีหนึ่งของการใช้เวลาที่ดีด้วยกัน ช่วยงานกันไปคุยกันไป ได้ความสัมพันธ์ที่ดี เสร็จงานแล้วออกไปเดินเล่นกับลูก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น