วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

ใจหายเมื่อรู้ว่าลูกไปหยิบของคนอื่น



ภาพจากdektube.com
                                                                                   
 วันหนึ่งเมื่อเปิดกล่องดินสอของลูกพบว่ามีดินสอกดที่แปลกตาถึง ๓ แท่ง สอบถามได้ความว่า “เพื่อนให้ครับ” สามวันต่อมายางลบ ๔ ก้อน อยู่ในกระเป๋าลูก “เพื่อนเค้าฝากไว้ครับ” ยังไม่ทันตั้งหลักดี คุณครูของลูกเขียนจดหมายน้อยมาบอกว่า ขอพบผู้ปกครองเรื่องลูกไปหยิบของของคนอื่น

ถ้าสถานการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นกับคุณพ่อคุณแม่คงหนักใจไม่น้อยทีเดียวนะคะ เป็นไปได้ค่ะที่วันหนึ่งลูกที่แสนดีของเราอาจไปหยิบของของคนอื่นมาเป็นสมบัติของตัวเอง พฤติกรรมอย่างนี้เฉียดคำว่า “ขโมย” ถ้าเกิดซ้ำๆ ก็ไม่อาจเลี่ยงคำว่า “ขโมย” ออกไปจากใจได้ นึกแล้วใจหายน่าดูนะคะ

มีบ้านหนึ่งคุณพ่อคุณแม่เคยไม่เคยสังเกตแล้วพบพฤติกรรมนี้มาก่อน อยู่มาวันหนึ่งคุณครูแจ้งว่าลูกไปหยิบของของคนอื่นบ่อยครั้ง คุณพ่อฉุนเฉียวมาก หาว่าคุณครูใส่ความลูก “ผมเลี้ยงลูกมาอย่างดี ไม่เคยสอนให้ไปขโมยของคนอื่น อยากได้อะไรก็ให้ ไม่มีความจำเป็นต้องขโมย

เมื่อสอบถามแบบสอบสวนลูก ลูกปฏิเสธว่าไม่ได้เอาของเพื่อนมา เพราะรู้ดีว่าถ้าบอกความจริงไป คราวนี้เจ็บตัวแน่ ก็แก้ตัวพอให้พ้นตัวดีกว่า คราวนี้ไม่ได้ทำผิดแค่หยิบของคนอื่นเสียแล้วค่ะ ยังตามมาด้วยการพูดเท็จ

เรามาดูกันดีกว่านะคะว่า เหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมหยิบของของคนอื่นในเด็กนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร

เหตุที่ ๑ ขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิของการเป็นเจ้าของ

เหตุนี้มักเกิดขึ้นได้ในเด็กวัยอนุบาล วัยนี้เรายังไม่เรียกว่าเขาเป็นเด็กขี้ขโมย เพราะวัยนี้เด็กยังพัฒนาเรื่องของความคิดและจริยธรรมไม่เต็มที่ หลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องของความเป็นเจ้าของ อยากได้อะไรมาเป็นของตนก็หยิบมาเล่น มาเก็บไว้ ยิ่งถ้าลูกเป็นลูกคนเดียว ของเล่นทุกอย่างในบ้านเป็นของตน ดังนั้น ของเล่นที่คุณครูจัดไว้ให้ที่โรงเรียนก็อาจเข้าใจว่าเขาสามารถเป็นเจ้าของได้เช่นเดียวกัน ชอบใจอะไรก็หยิบกลับบ้านไป เรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยมากกับนักเรียนใหม่ในระยะเปิดเทอม

สำหรับลูกที่อายุเจ็ดขวบขึ้นไปเขาจะเข้าใจได้ดีขึ้นในเรื่องสิทธิการเป็นเจ้าของ แต่หากเกิดปัญหาขึ้น อาจเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ได้จริงจัง หรือทำให้ลูกเรียนรู้อย่างชัดเจนในเรื่องสิทธิของตนเองและสิทธิของผู้อื่น ลูกไม่มีสิทธิที่จะไปหยิบของของคนอื่นมาเป็นของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต และคนอื่นก็ไม่มีสิทธิมาหยิบของของลูกเช่นกัน ฝึกอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอ ลูกก็จะรู้จักสิทธิของตนและของคนอื่น และมีความหักห้ามใจแม้อยากได้สิ่งของนั้นก็ตามเพราะเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เป็นสิ่งที่ผิด

การที่ลูกขาดความเข้าใจในเรื่องสิทธิของการเป็นเจ้าของ อาจเกิดขึ้นได้จากอีกเหตุหนึ่ง คือ ความไม่เป็นระเบียบในครอบครัว ใครจะหยิบของใครมาใช้ก็ไม่ต้องบอกกล่าวหรือขออนุญาตกัน เช่น รองเท้าใครอยู่ใกล้ ก็หยิบมาใส่ ไม่มีตำแหน่งที่ชัดเจนบนโต๊ะอาหารว่าเป็นที่นั่งของใคร อยากนั่งตรงไหน ที่ของใครก็ได้ ไม่ว่ากัน ทำให้เด็กเกิดความย่อหย่อนในเรื่องของการเคารพสิทธิของผู้อื่น แม้ว่าเราจะพูดคุยกับลูกแล้ว ก็อาจจะมีบ้างที่เด็กเกิดความอยากได้ของของคนอื่นเหลือเกิน จึงหยิบของนั้นมาเป็นของตน พ่อแม่ต้องแนะนำให้ลูกเอาไปคืน และดูแลให้ลูกได้คืนจริงๆ ให้ลูกเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าของเล่นนั้นพ่อแม่ของเด็กอื่นอาจจะบอกว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องเอามาคืน ก็อย่าถือว่าเป็นเรื่อง “ไม่เป็นไร” เพราะจะทำให้ลูกไม่ให้ความสำคัญของการหยิบของของคนอื่นมาเป็นของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือยกให้ด้วยความเต็มใจ

เหตุที่ ๒ คุ้นเคยกับการทำตามใจตนเอง ทำให้ไม่นึกถึงใจคนอื่น

เหตุนี้เกิดขึ้นจากเด็กที่ถูกตามใจจนเคยตัว อยากได้อะไรต้องได้ และต้องได้ทันที ทำให้ของเล่นหรืออะไรก็ตามที่อยากได้ก็จะคว้ามาเป็นของตน หรือไม่ก็รอคอยไม่เป็น เด็กเหล่านี้จึงหยิบฉวยของของคนอื่นโดยไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ไม่สนใจว่าใครเป็นเจ้าของ แย่งขิงที่จะเล่นของเล่นโดยไม่สนใจว่าใครเล่นอยู่หรือใครคอยอยู่ก่อน เด็กที่ถูกตามใจจะทำให้เขาเอาตัวเองเป็นใหญ่ พ่อแม่หลายคนส่งเสริมลูกให้เอาแต่ใจตัวเองโดยไม่รู้ตัว เช่น เมื่อเด็กอื่นเล่นอยู่ก่อน ลูกร้องอยากเล่นก็หาวิธีเรียกร้องแทนลูก เช่น “น้องอยากเล่นหนูโตกว่าให้น้องเล่นก่อนนะ” หรือ ทำไม่รู้ไม่ชี้พาลูกแทรกเข้าไปเล่นโดยไม่สนใจคิวที่รออยู่ สิ่งที่พ่อแม่ทำกำลังบอกลูกว่า ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องเอาให้ได้ตามอยาก โดยไม่ต้องสนใจความรู้สึกใคร ไม่ต้องสนใจความถูกต้อง อย่างนี้มีแนวโน้มสูงที่ลูกจะหยิบฉวยของคนอื่นมา ด้วยเหตุผลที่ตอบเต็มปากเต็มคำอย่างไม่ค่อยจะรู้สึกผิดว่า“ก็หนูอยากได้นี่” “ก็ตุ๊กตาแบบนี้หนูยังไม่มีนี่นา” เพราะหนูเคยชินกับการยึดตัวเองเป็นใหญ่

การแก้ปัญหาจากเหตุนี้ก็คือ การสอนให้ลูกรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ให้เหตุผลประกอบอย่างสั้นๆ ตรงไปตรงมาว่าทำไมจึงทำได้ และทำไม่ได้ เช่น ลูกหยิบของของเพื่อนมาไม่ได้ เพราะไม่ใช่ของของลูก เอาของเพื่อนมา เพื่อนจะเสียใจ และไม่ใช่ว่าเราผู้ใหญ่จะต้องเป็นคนบอกเหตุผลทุกคราวไป ควรฝึกให้ลูกใช้ความคิดที่จะตอบคำถามได้ด้วยตนเองว่าเขาทำได้หรือไม่ได้ ด้วยเหตุผลไป การให้เหตุผลของลูกนั้นต้องเป็นเหตุผลในเชิงจริยธรรมด้วย คือเป็นเหตุผลที่คำถึงถึงประโยชน์และโทษต่อส่วนรวม หรือต่อผู้อื่นด้วย จะเป็นเหตุผลที่เป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องคิดถึงใจเขาใจเราด้วย การฝึกให้ลูกได้คิดได้ไตร่ตรอง จะช่วยให้ลูกได้เครื่องมือในการคิดที่ดีและคิดอย่างถูกต้องตามธรรมนองครองธรรมติดตัวลูกไว้ใช้ในการคัดสินใจและแก้ปัญหา

เหตุที่ ๓ ต้องการแสดงอำนาจเหนือคนอื่น

การหยิบของของผู้อื่น บางครั้งก็ไม่ได้ทำเพื่ออยากได้ของนั้นอย่างจริงจังก็มีค่ะ แต่สิ่งที่แสดงออกนั้นอาจเพื่อต้องการแสดงว่าตนมีอำนาจเหนือผู้อื่น ต้องการข่มคนอื่น การเอาของของผู้อื่นมาเป็นของตนอย่างนี้จึงไม่ได้ได้มาด้วยวิธีการขโมยแต่ได้มาด้วยการข่มขู่ บางครั้งแค่ทำให้น้องที่เล็กกว่าหรือเพื่อนที่อ่อนแอกว่าร้องไห้ ก็พอใจแล้ว ไม่ได้สนใจกับของที่ไปยึดมาสักเท่าใด ทิ้งขว้างไปก็มี หรือไม่ก็เอาของนั้นมาเยาะเย้ยว่าฉันเอาของที่นายรักมาได้ พฤติกรรมแบบนี้ต้องรีบแก้ไขกันแต่เนิ่นๆ นะคะ ไม่อย่างนั้นจะค่อยๆ สะสมกลายเป็นนิสัยที่เป็นอันธพาล คอยกลั่นแกล้งผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่ก็เป็นคนที่ช่วงชิงของรักของคนอื่น จากสิ่งของต่อไปอาจจะเป็นการช่วงชิงคนรักของคนอื่นก็อาจเป็นได้ในอนาคต

แนวทางการแก้ปัญหานี้ต้องกลับไปที่สาเหตุว่าทำไมลูกจึงต้องการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ เป็นไปได้หรือไม่ที่ลูกต้องการการยอมรับ เขารู้หรือไม่ว่าตนเองมีความสามารถอะไร ทำอะไรที่ดีได้บ้าง พ่อแม่ครูอาจารย์เห็นความดีของเขาหรือไม่ ถ้าเขามีความมั่นใจในตนเองเขาจะไม่เลือกวิธีที่หาปมเด่น หรือต้องการการยอมรับจากเพื่อนด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง การแก้ปัญหานี้จะต้องเริ่มที่เราต้องหาความดีเขาให้พบและชื่นชมเขาอยู่เสมอ และตามด้วยการให้ลูกได้วิเคราะห์สิ่งที่ตัวเองทำ และคิดว่าเขาควรปรับปรุงตนเองอย่างไร ให้กำลังใจลูกขณะที่เขาพยายามปรับปรุงตัวเอง และอย่าลืมชื่นชมเมื่อเขาทำได้สำเร็จ

อย่าลืมนะคะว่าสิ่งที่สำคัญ ต้องเชื่อว่า ลูกต้องการเป็นคนดีเสมอ และลูกพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น เขาทำได้หากได้รับการเอาใจใส่จากพ่อแม่ ดังนั้น เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ต้องใจเย็นที่จะพูดคุยกับลูก เข้าให้ถึงปัญหา และพยายามรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกให้เหนียวแน่น เพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกกล้าที่รับผิดและเปลี่ยนแปลงตัวเอง หากคุณใช้วิธีรุนแรงที่เกิดจากความโกรธผสมกับความผิดหวังในตัวลูก จะก่อปัญหาให้ใหญ่ขึ้น เพราะลูกจะหลบเลี่ยงที่จะพูดความจริง



เขียนบทความโดย อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น